“SACICT” จิตอาสา พลังครูช่างสร้างหัตถศิลป์ชุมชน

ต้องยอมรับความจริงว่าวิสัยทัศน์ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ “SACICT” เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้และอนุรักษ์สืบสานคุณค่าศิลปหัตถกรรมไทย รวมทั้งต่อยอดเชิงพาณิชย์สู่สากลเพื่อให้ชุมชนกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืน

แต่หากในบทบาทที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเพื่อสังคม ในการทำให้ผู้คนของชุมชนต่าง ๆ ทั่วประเทศหันมาให้ความสำคัญต่องานอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมโบราณ เพื่อนำไปต่อยอดและสร้างอาชีพก็นับเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ “SACICT” ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง ยิ่งเฉพาะในช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เพราะทาง “SACICT” จัดกิจกรรม CSR ภายใต้โครงการ “SACICT จิตอาสา” เพื่อเฉลิมพระเกียรติ และถวายความจงรักภักดี น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร

มหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสืบสานพระราชปณิธานในการส่งเสริมงานศิลปหัตถกรรมของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงอันสอดคล้องกับภารกิจของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศในการอนุรักษ์ สืบสาน และต่อยอดงานศิลปหัตถกรรมไทย ภายใต้กลยุทธ์ “หัตถศิลป์ของชีวิตปัจจุบัน” หรือ “Today Life”s Crafts”

โดยเบื้องต้น “อัมพวัน พิชาลัย” ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับกิจกรรม SACICT จิตอาสามี 2 รูปแบบด้วยกัน คือ “SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ” กับ “SACICT จิตอาสา นำพาความสุข”

สำหรับกิจกรรมแรกเรามุ่งเน้นการสร้างอาชีพให้แก่ผู้ด้อยโอกาสในสังคมด้วยการเดินทางลงพื้นที่ของบุคลากร SACICT รวมถึงครูศิลป์ของแผ่นดิน, ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทศิลปหัตถกรรม เพื่อถ่ายทอดการทำงานศิลปหัตถกรรมแก่กลุ่มบุคคลที่มีความต้องการในการพัฒนาทักษะฝีมือ

“ทั้งนั้น เพื่อนำไปสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ พร้อมกับช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดียิ่งขึ้น เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนชายขอบ และกลุ่มประชาชนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สำหรับกิจกรรมครั้งนี้เราจัดทำทั้งหมด 8 ครั้ง ใน 4 ภูมิภาค ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2562 โดยเราเริ่มคิกออฟโครงการแรกด้วย SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพงานผ้าปักที่ จ.เชียงราย โดยมีสิริวัฑน์ เธียรปัญญา ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2554 เป็นครูจิตอาสาในการถ่ายทอดและแบ่งปันองค์ความรู้การทอผ้าปักมือกองหลวงให้แก่กลุ่มชนเผ่าอาข่าและลาหู่ ณ ชุมชนหนองขำ และป่าโปงแขม อ.แม่สรวย จ.เชียงราย”

“เพราะเรามองเห็นว่าครูสิริวัฑน์เป็นผู้ที่มีองค์ความรู้ในเรื่องของการทอผ้าปักมือกองหลวงจนมีชื่อเสียงในระดับประเทศ เราจึงอยากนำองค์ความรู้ของครูมาถ่ายทอดให้กับกลุ่มชาติพันธุ์ และคนชายขอบของที่นี่เพื่อสืบสาน ต่อยอด และพร้อมกับสร้างรายได้ให้กับพวกเขา หลังจากที่เสร็จภารกิจจากการทำนำ ทำไร่ ทำสวนเพื่อจะได้มีอาชีพเสริมอีกทางหนึ่ง”

“เนื่องจาก SACICT มีครูศิลป์แห่งแผ่นดิน, ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทศิลปหัตถกรรมทั้งหมด 300 กว่าคน แต่ทุกคนก็ใช่ว่าจะมาเป็นครูจิตอาสาได้ทั้งหมด เพราะบางคนอายุมากแล้ว เราจึงต้องทำการหารือกับครู และทายาทในการดำเนินโครงการ โดยส่วนที่เหลืออีก 7 ครั้งประกอบด้วย ครูพิระ ประเสริฐก้านตรง ครูช่างศิลปหัตถกรรมงานผ้าย้อมคราม จ.สกลนคร, ครูเรืองยศ หนานพิวงศ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมงานจักสานกก จ.นครพนม, ครูภารดี วงศ์ศรีจันทร์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมงานผ้าด้านมือ จ.สุพรรณบุรี”

นอกจากนั้น ยังมีครูสุดใจ เจริญสุข ครูช่างศิลปหัตถกรรมงานปั้นตุ๊กตาจิ๋ว, ครูสมศรี ปรีชาอุดมการณ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมงานผ้าชาวเขา จ.เชียงใหม่, ครูพัชรินทร์ บินเจ๊ะมิง ครูช่างศิลปหัตถกรรมงานจักสานกระจูด จ.นราธิวาส และครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ครูช่างศิลปหัตถกรรมงานผ้าปะลางิง จ.ยะลา

“อัมพวัน” กล่าวต่อว่า นอกจากนั้น เรายังมี SACICT จิตอาสา นำพาความสุขอีก 2 ครั้งด้วยกัน โดยครั้งแรกเรามีครูปอลิน หยุ่นตระกูล ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมงานตัดกระดาษ จ.พิษณุโลก มาเป็นครูจิตอาสาให้กับกลุ่มผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และครูทวีทรัพย์ นามขจรโรจน์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรมงานของเล่นโบราณจะมาเป็นครูจิตอาสาให้กับกลุ่มผู้ป่วย ณ โรงพยาบาลทหารผ่านศึก กรุงเทพมหานคร

“รวมทั้งหมด 10 กิจกรรม 10 พื้นที่ และ 10 ครูช่างศิลปหัตถกรรม และทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เนื่องจากเป็นเลขมหามงคลของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่สำคัญตารางงานที่เราจัดกิจกรรมจะไปสิ้นสุดในเดือนกรกฎาคม อันเป็นเดือนพระราชสมภพของในหลวงรัชกาลที่ 10 อีกด้วย สำคัญไปกว่านั้น เนื่องจากพระปฐมบรมราชโองการของในหลวงรัชกาลที่ 10 ที่ทรงมีพระราชปณิธานที่จะสืบสาน รักษา และต่อยอดหลักการทรงงานของในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 9 ที่ตรัสว่าเราจะสืบสาน รักษา และต่อยอด และครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งอาณาราษฎรตลอดไป จึงทำให้เรามีความตั้งใจอย่างมากที่จะทำให้โครงการนี้สัมฤทธิผลอย่างสมบูรณ์”

“เพราะ SACICT มีองค์ความรู้ในองค์กรค่อนข้างเยอะ ทั้งในส่วนของตัวบุคคลและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เราจึงพยายามถอดองค์ความรู้เหล่านี้ออกมาเพื่อนำมาแบ่งปันให้กับชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและด้อยโอกาส มีอาชีพ มีรายได้เสริม อันไปสอดคล้องกับพระราชปณิธานของสมเด็จพระราชินีในรัชกาลที่ 9 ที่ทรงอยากสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ ด้วยการใช้หัตถกรรมเป็นอาชีพเสริมให้กับแต่ละครอบครัวมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น”

“ดังนั้น กิจกรรมเพื่อสังคมภายใต้กรอบการดำเนินงานของ SACICT จึงช่วยให้เกิดการสร้างวัฏจักรของงานศิลปหัตถกรรมที่ยั่งยืน ทั้งยังช่วยตอกย้ำให้สังคมไทยเห็นคุณค่าทางจิตใจของงานศิลปหัตถกรรม เพราะสามารถช่วยลดปัญหาสังคม และบำบัดเยียวยาในการสร้างความสุขให้กับผู้คนยุคปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการสืบสานภูมิปัญญาดั้งเดิมจากบรรพบุรุษไม่ให้สูญหาย จนทำให้เกิดการพัฒนางานหัตถศิลป์ครอบคลุมในหลายมิติ”

ขณะที่ “สิริวัฑน์ เธียรปัญญา” ครูช่างศิลปหัตถกรรมผ้าปักมือกองหลวงปี 2554 กล่าวเสริมว่า จริง ๆ ผมทำงานเกี่ยวกับงานทอผ้ามากว่า 17 ปี แต่มาเป็นครูช่างให้กับ SACICT เพียง 8 ปี และสำหรับครั้งนี้ผมมาเป็นครูจิตอาสาให้กับชาวเขาเผ่าอาข่าและลาหู่ ซึ่งถือว่าภูมิใจมาก ๆ เพราะแต่ละชนเผ่าเขาจะมีวิธีการปักผ้าไม่เหมือนกัน อย่างพวกอาข่าเขาจะมีความสามารถในการปักเป็นเส้นเล็ก ๆ เนื่องจากเขามีความเชี่ยวชาญเป็นทุนเดิมในเรื่องงานปักอยู่แล้ว

“แต่พวกลาหู่เขาจะถนัดงานด้นผ้า และเอาผ้ามาปัก แต่เขาก็ปักเพียงนิดเดียว และจะนำพวกโลหะมาประดับแซม ดังนั้น พวกลาหู่จะไม่ชำนาญเกี่ยวกับงานปักผ้าเท่าไหร่ เพราะเขานำวัฒนธรรมของคนอื่นมาใส่ในวัฒนธรรมของตัวเองเพื่อให้เกิดความสวยงาม แต่กระนั้นถ้ามองโดยรวมงานผ้าปักของลาหู่จะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แต่ทั้งนั้นไม่ว่าจะเป็นพวกอาข่าหรือลาหู่เราสามารถสอนเขาได้ เพราะเขามีทักษะในการใช้เข้มเย็บผ้า พอเรามาแนะนำเขาให้ทดลองผ้าปักมือกองหลวงเขาก็สามารถทำได้”

“เพราะเอกลักษณ์ของผ้าปักมือกองหลวงเริ่มจากการที่ผมเขียนลวดลายลงไปบนผืนผ้า และลวดลายต่าง ๆ ล้วนเกิดจากแรงบันดาลใจที่ผมไปพบไปเห็นลวดลายทองในโบสถ์และลายปูนปั้นจากวัดวาอารามต่าง ๆ ในภาคเหนือ จากนั้นผมจะนำมาต่อยอดในจินตนาการเพื่อสร้างลวดลายใหม่ขึ้นมา โดยผมจะให้ผ้า ด้าย เข็มกับพวกเขาฟรี ๆ เพื่อทำการปักผ้ากองหลวง”

“ผ่านมาผมมีคนทอผ้าปักมือกองหลวงให้ผมเกือบทั่วประเทศแล้ว ยกเว้นทางปักษ์ใต้ แต่ล่าสุดทางจังหวัดกระบี่กำลังทดลองนำผ้าปักมือกองหลวงมาผนวกกับผ้าปาเต๊ะเพื่อร่างลวดลายใหม่ แต่สำหรับเชียงรายผมมีคนทอผ้าให้ผมอยู่ 4-5 ราย เฉพาะที่อำเภอแม่สรวยก็มีอยู่ 3 กลุ่ม คือ กลุ่มเวียงป่าเป้า ส่วนอำเภอพาน มี 10 หมู่บ้าน และอำเภอแม่จัน 2-3 หมู่บ้าน”

ฉะนั้น เมื่อถามต่อว่าทำไมผ้าปักมือกองหลวงถึงได้รับความนิยมจากลูกค้าทั่วประเทศ “สิริวัฑน์” บอกว่า เพราะผ้าปักมือกองหลวงมีเอกลักษณ์ในตัวเอง ทั้งนั้น เพราะเราผสมผสานงานปักกับงานทอเข้าด้วยกันจนทำให้เกิดอัตลักษณ์ใหม่ ทั้งยังเป็นนวัตกรรมทางด้านการทอผ้าอีกด้วย

“ที่สำคัญผมออกแบบลวดลายปักผ้าด้วยมือของผมเองทุกผืน และทุกผืนจะมีความแตกต่างกันทางด้านสีและลวดลาย สำคัญไปกว่านั้นผ้าปักมือกองหลวงเป็นผ้าทอมือทั้งฝ้ายและไหม รวมถึงเส้นใยธรรมชาติที่มาจากเส้นใยกัญชงแบบดั้งเดิม, ผ้าถุงของไทลื้อ, ผ้าถุงของลาวครั่ง, ผ้าถุงมัดหมี่ของสุรินทร์ และผ้ามัดหมี่ของอีสาน ซึ่งผมนำมาปักโดยใช้เทคนิคการปักแบบลายลูกโซ่ที่มีความละเอียดประณีต จนทำให้ผู้พบเห็นรู้สึกชื่นชอบและตื่นตาตื่นใจ”

“ส่วนระยะเวลาการปักผ้าปักมือกองหลวงขึ้นอยู่กับความชำนาญของช่างแต่ละคน บางคนเดือนหนึ่งได้ผืนเดียว ขณะที่บางคนได้สองผืน แต่ถัวเฉลี่ยแล้วถ้าปักในระดับทั่วไป 1 เดือนเขาปักได้ 1 ผืนอย่างแน่นอน ซึ่งพวกเขาจะมีรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำนา ทำไร่ ทำสวน อันเป็นพระราชปณิธานของสมเด็จพระราชินีในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรหรือชาวบ้านในชุมชนมีอาชีพเสริมหลังจากงานหลักของตัวเอง ซึ่งผมเองก็น้อมนำหลักการทรงงานของพระองค์มาปรับใช้”

“ซึ่งเหมือนกับที่ผมเข้ามาเป็นครูจิตอาสาที่ชุมชนหนองขำและป่าโปงแขม ผมบอกพวกเขาไปว่าทุกสิ้นเดือนผมจะเข้ามาดูพวกเขาอีกครั้ง เพื่อติดตามงาน และดูว่าใครมีฝีมือในการปักผ้าปักมือกองหลวงบ้าง เพื่อทำการส่งเสริมให้พวกเขามีอาชีพเสริมต่อไปอย่างยั่งยืน และให้พวกเขาสามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวต่อไปได้ เพื่อจะได้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น”

อันไปสอดคล้องกับ “อาเจอะ บอยะ” ชาวเขาเผ่าอาข่าที่เข้าร่วมโครงการ SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ ที่กล่าวสั้น ๆ ว่าปกติก็ทอผ้าและปักผ้าอยู่ก่อนแล้ว จึงค่อนข้างมีความชำนาญในการใช้เข็มและด้าย และรู้สึกว่าผ้าปักมือกองหลวงไม่ยาก แม้จะเป็นการปักผ้าลายลูกโซ่ เพราะครูช่างวาดลวดลายมาให้ พร้อมกับกำหนดสีมาให้เรียบร้อยแล้ว

“จึงคิดว่าน่าจะนำไปประกอบอาชีพเสริมหลังจากทำนา ทำไร่ ทำสวน และคิดว่าเดือนหนึ่งน่าจะได้ผ้าปักมือกองหลวงสัก 1 ผืน และถ้าชำนาญมากขึ้นอาจได้ถึง 2 ผืนก็ได้ (หัวเราะ)”

อันเป็นเสียงหัวเราะอย่างมีความสุขของเธอ หลังจากที่เข้าร่วมโครงการ SACICT จิตอาสา พัฒนาอาชีพ ในโครงการแรกที่จังหวัดเชียงราย