หัวเว่ย ชวนภาครัฐลดช่องว่างดิจิทัล ดันไทยสู่ศูนย์กลางอาเซียน

หัวเว่ย ชวนภาครัฐลดช่องว่างดิจิทัล

หัวเว่ย ร่วมพันธมิตรภาครัฐถกประเด็นการศึกษาด้านดิจิทัล หลังพบโควิดทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ หรือ “ช่องว่างทางดิจิทัล” ส่งผลต่อการพัฒนาบุคลากร-โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

วันที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2565 บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จํากัด ร่วมกับสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) จัดงานเปิดตัวซีรี่ส์เสวนา Thailand Talent Talk เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนระหว่างพาร์ตเนอร์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ในการผลักดันการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในประเทศไทย จับมือนำเสนอแนวทางแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางทักษะดิจิทัล

นายเอดวิน เดียนเดอร์ หัวหน้าฝ่ายนวัตกรรม บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า การระบาดครั้งใหญ่ของโควิด-19 ทำให้เกิดการหยุดชะงักอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ในทางกลับกันยังเป็นการเน้นถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ความรู้ และทักษะด้านดิจิทัลมากกว่าที่เคย โดยการสัมมนา Thailand Talent Talk นี้ จะช่วยส่งเสริมการเจรจานโยบายระดับสูงและนโยบายพหุภาคีได้

การสัมมนาและแสวงหาพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่ง เป็นส่วนหนึ่งของการทำสมุดปกขาวในหัวข้อการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลของประเทศไทย (Thailand Digital Talent Development Whitepaper) ซึ่งเป็นการออกแบบที่ครอบคลุมทั้งด้านประสิทธิภาพและคุณภาพในการพัฒนาทักษะดิจิทัลในประเทศ

“ผมคิดว่าดิจิทัลทรานฟอร์เมชั่นเป็นการเดินทาง มันไม่ใช่โครงการที่มีจุดเริ่มต้นและจุดจบที่ชัดเจน มันเป็นการเดินทางที่ผ่านการพัฒนาความสามารถหลายด้าน ผมอยากจะเน้นย้ำเกี่ยวกับคุณค่าของการพัฒนาผู้มีความสามารถทางดิจิทัล โดยเฉพาะความสําคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านไอซีที ในฐานะรากฐานของเทคโนโลยีดิจิทัล

การสนับสนุนและให้บริการทักษะทางดิจิทัล คือกุญแจสําคัญในการดําเนินบริการต่าง ๆ เพราะประเทศไทยกําลังเปิดรับการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่างแข็งขัน และก้าวไปอย่างรวดเร็ว เพื่อจะได้เป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน

ความปรารถนาที่จะเป็นผู้นำในเอเชีย ทำให้ยุคนี้เป็นยุคของการเดินทางอย่างต่อเนื่องของไทย ที่กําลังเดินตามแผนของรัฐบาลไทยที่มีอยู่แล้ว ทั้งเศรษฐกิจ 4.0 ซึ่งเป็น Blue Print สำคัญ ตลอดจนแผนเศรษฐกิจดิจิทัล 5 ปี คลื่นลูกต่อไปของนวัตกรรม 5G ของเทคโนโลยีมือถือ Internet of Things บริการคลาวด์และ Ai และสิ่งที่คุณมีเหล่านี้จะสร้างรากฐานที่มั่นคงนี้สําหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศ ซึ่งการส่งเสริมทักษะดิจิทัลคือกุญแจสำคัญ”

หัวเว่ย ประเทศไทย มุ่งมั่นส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรด้านไอซีทีระดับมืออาชีพ เอสเอ็มอี สตาร์ตอัพ นักเรียน รวมถึงภาคสาธารณะ ผ่านการเรียนรู้กับโครงการ Huawei ASEAN Academy โดยก่อนหน้านี้ หัวเว่ยได้ส่งเสริมการพัฒนาบุคลากรที่มีทักษะดิจิทัลไปแล้วมากกว่า 52,000 ราย เพื่อรองรับนโยบาย ‘ไทยแลนด์ 4.0’ โดยที่โครงการ Seeds for the Future ซึ่งเปิดตัวในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551 ได้ฝึกอบรมนักเรียนนักศึกษาไปแล้วกว่า 230 คน และได้ขยายเป็นโครงการระดับภูมิภาค

ด้านนางสาวธันยพร กริชติทายาวุธ ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย (GCNT) กล่าวว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับเรื่องการฟื้นตัวของเศรษฐกิจดิจิทัล เห็นได้จากนโยบายและโครงการต่าง ๆ ส่งผลให้เราเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการลงทุนเพื่อเพิ่มและปรับทักษะให้แก่บุคลากรในประเทศ สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมไอซีที

“เราพยายามจะปฏิรูปการศึกษามา 20 ปี และยังไม่สำเร็จ แต่เทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบัน กำลังทำให้เรามีความก้าวหน้าในการปฏิรูปการศึกษา เรามีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจน 3 ด้าน สำหรับการส่งเสริมการศึกษา/ทักษะทางดิจิทัล อย่างแรกคือ บ่งชี้ลักษณะที่สำคัญเพื่อจะให้เกิดการเรียนรู้ตามยุทธศาสตร์ความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDGs Goals)

อย่างที่สองคือ เพื่อแบ่งปันและเรียนรู้ ว่าทำอย่างไรการดำเนินนโยบายและนวัตกรรมด้านการศึกษาจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากการฟื้นตัวจากโควิดและการทรานส์ฟอร์เมชั่น อย่างสุดท้ายคือ จัดลำดับความสำคัญของการปฏิบัติการทางการศึกษาให้ชัดเจน เพื่อเตรียมรีสกิลและอัพสกิลพนักงานให้มีความพร้อมในการกลับมาทำงานหลังจากภาวะโรคระบาด โดยต้องเป็นความพร้อมในเศรษฐกิจดิจิทัลที่ไทยเรามุ่งเน้น”

นางสาวอิลาเรีย ฟาเวอโร หัวหน้าฝ่ายการพัฒนาและการมีส่วนร่วมของเยาวชน องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดใหญ่ ทำให้เกิดช่องทางการเชื่อมต่อผู้คนด้วยอินเทอร์เน็ตในรูปแบบใหม่ ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและเยาวชนเวลากว่า 9-10 ชม.ต่อวัน ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีทั้งข้อดีคือเข้าถึงข้อมูลได้อย่างรวดเร็วหลากหลาย ในขณะที่ข้อเสียคือข้อมูลที่ไม่ดี การถูกหลอกลวง กลั่นแกล้ง โดยเฉพาะการคุกคามทางเพศเกิดขึ้นมากในกลุ่มเด็กและเยาวชน

ในขณะเดียวกัน เมื่อเราพูดถึงการเชื่อมต่อที่ดีขึ้น เด็กและเยาวชนทุกคนไม่สามารถเข้าถึงอุปกรณ์ หรือสัญญาณที่ดีได้เสมอกัน เป็นความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นมาก และช่องว่างระหว่างการเชื่อต่อที่ดีนี้ยิ่งห่างออกไปเรื่อย ๆ เนื่องจากความจำเป็นที่ต้องใช้อินเทอร์เน็ตจากภาวะโรคระบาด

“เราจำเป็นต้องหาแนวทางที่สร้างสรรค์ เพื่อส่งเสริมทักษะดิจิทัลสำหรับเด็กและเยาวชน ผ่านการจัดการศึกษาทั้งในและนอกระบบ เราจะต้องลงทุนให้มากในเรื่องนี้เพื่ออนาคตของทั้งเด็กไทยและประเทศไทย และการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัลนั้น จะต้องเริ่มจากการสร้างการเข้าถึงความสามารถในการจ่ายได้ ความรู้รอบ และความปลอดภัยด้านดิจิทัล หากปราศจากการเข้าถึงอุปกรณ์และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ราคาไม่แพงและไว้ใจได้ เด็ก ๆ ก็จะไม่สามารถมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ออนไลน์ได้

นอกจากนี้ หากปราศจากความรู้และความสามารถด้านดิจิทัลที่เหมาะสม คุณครู เด็ก ๆ และเยาวชนทั้งหลาย ตลอดจนครอบครัวต่าง ๆ ก็จะไม่สามารถใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยได้อย่างเต็มศักยภาพ เพื่อสร้างให้เกิดการมีส่วนร่วมและการเรียนรู้ของนักเรียน”

ด้านศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า กระบวนการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลให้เกิดขึ้นเร็ว เนื่องจากบริษัทและองค์กรทั้งหลายต่างก็ต้องการแรงงานที่มีทักษะ เพื่อรองรับกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล

ช่องว่างหรือความเหลื่อมล้ำด้านทักษะดิจิทัลได้กลายเป็นปัญหาสำคัญในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งรวมถึงประเทศไทย มีการคาดการณ์จากนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลจะคิดเป็นสัดส่วนถึง 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย (GDP) ภายในปี พ.ศ. 2573 นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติยังได้ระบุว่า ประเทศไทยจำเป็นต้องมีบุคลากรด้านดิจิทัลมากกว่า 1 ล้านคนภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งไทยอาจจะประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรในด้านดังกล่าวถึง 400,000 คนได้

นางสาวธัญมาศ ลิมอักษร นักวิเทศสัมพันธ์ ชำนาญการพิเศษ สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (สคช.) กล่าวว่า “การระบาดครั้งใหญ่เป็นตัวเร่งทั้งความต้องการทักษะดิจิทัลและความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล และเพื่อเป็นการสร้างทักษะสำหรับอนาคตดิจิทัลที่รวดเร็ว สคช. มุ่งมั่นที่จะพัฒนาความรู้ด้านดิจิทัล ตลอดจนพัฒนาทักษะของผู้เชี่ยวชาญด้านไอซีที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสาขาใหม่ ๆ เช่น วิทยาศาสตร์ข้อมูล อีคอมเมิร์ซ และอีเลิร์นนิง โดยการเป็นองค์กรที่สามารถออกใบรับรองได้”

“สคช. ยังได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ สนับสนุนการพัฒนาทักษะความรู้ด้านอีคอมเมิร์ซให้แก่กลุ่มคนชายขอบ และยังได้ทำงานร่วมกับองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน (International Organization for Migration) ในการจัดอบรมทักษะด้านอีคอมเมิร์ซให้แก่แรงงานต่างด้าว นอกจากนี้ ความร่วมมือระหว่างองค์การยูนิเซฟและ สคช. ในการสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต และมุ่งให้เกิดการใช้อีโคซิสเต็มด้าน E-Workforce เพื่อปูทางที่หลากหลาย และโอกาสที่เพิ่มขึ้นสำหรับคนหนุ่มสาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ด้อยโอกาส ในการฝึกทักษะที่เกี่ยวข้อง”