TZ APAC ปักธงบล็อกเชน สยายปีก Tezos บุกตลาดเอเชีย

เฟรเดอร์ริค ฟังก์

นับตั้งแต่การถือกำเนิดของเทคโนโลยีบล็อกเชน นำโดย Ethereum ปัจจุบันมีบล็อกเชนใหม่ ๆ หลายรูปแบบกำเนิดขึ้นมาแก้ปัญหาสิ่งที่ บล็อกเชนรุ่นพี่ทำไม่ได้ เช่น รองรับธุรกรรมจำนวนมาก มีความปลอดภัย และรวดเร็ว รวมถึงรองรับการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ อย่าง เออาร์, วีอาร์ เกม และเอ็นเอฟที เป็นต้น

กว่าที่แต่ละ “บล็อกเชน” จะเติบโต ต้องมีผู้ขับเคลื่อนผลักดันอยู่เบื้องหลัง เช่น Ethereum มี Ethereum Foundation

Tezos Blockchain ก็มี Tezos Foundation ปัจจุบัน “เทโซส” เป็นบล็อกเชนสมาร์ทคอนแทร็กต์ที่มีสกุลเงินดิจิทัล XTZ สำหรับใช้ทำธุรกรรมจัดอยู่อันดับ 41 ในตลาดคริปโตโลก

ประชาชาติธุรกิจ มีโอกาสพูดคุยกับ “เฟรเดอร์ริค ฟังก์” หัวหน้าหน่วยประยุกต์ใช้งาน TZ APAC ถึงการทำงานและภารกิจในการสร้างระบบนิเวศในเอเชีย-แปซิฟิก

จุดกำเนิด “Tezos”

จุดกำเนิดของ “เทโซส” ก่อตั้งโดยสองสามีภรรยา “อาเธอร์-แคเธอลีน แบรต์แมน” อดีตพนักงานมอร์แกนสแตนเลย์ สร้างบล็อกเชนสมาร์ทคอนแทร็กต์ที่ประหยัดพลังงาน ค่าธรรมเนียมต่ำ และมีคุณสมบัติหลากหลาย ที่ผู้ใช้แก้ไขด้วยตัวเอง จึงอัพเกรดได้โดยไม่ต้องแยกเครือข่าย และมีกลไกการควบคุมโปรโตคอลโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดผ่านการโหวต จึงมีนวัตกรรมแบบกระจายศูนย์ในการบำรุงรักษาเครือข่ายที่ช่วยส่งเสริมระบบนิเวศนักพัฒนาให้เปิดกว้าง

“เฟรเดอร์ริค ฟังก์” กล่าวถึงมุมมองในการปรับใช้บล็อกเชน และการดำเนินงานของ TZ APAC ว่า มีบทบาทส่งเสริมผู้ประกอบการ องค์กรต่าง ๆ และสร้าง TZ APAC EGG Web3 ที่ช่วยให้ผู้ก่อตั้งสตาร์ตอัพด้าน Web3 สร้างโซลูชั่นบล็อกเชนที่ใช้งานได้จริง

TZ APAC ทำหน้าที่ เป็นทั้ง “ผู้สร้าง” และ “ผู้ส่งเสริม” ให้เกิดครีเอเตอร์ เพื่อสนับสนุนระบบนิเวศของ “เทโซส” ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงองค์กรในเชิงยุทธศาสตร์ที่สนใจปรับใช้บล็อกเชน

“เรามีเครื่องมือ แพลตฟอร์ม เทคโนโลยี และทักษะสำหรับนักพัฒนา แบรนด์หรือองค์กร ที่ต้องการเข้าสู่ระบบนิเวศ Web3 มีทีมผู้เชี่ยวชาญเฉพาะที่เข้าใจบริบทที่แตกต่างกันในภูมิภาคเอเชีย”

บทบาท TZ APAC

การทำงานของ TZ APAC มี 2 ส่วน คือ 1.ให้ความรู้ โดยจัดเวิร์กช็อปให้กับนักพัฒนาโดยตรงเพื่อส่งเสริมการพัฒนาแอปพลิเคชั่นบนบล็อกเชน ซึ่งระยะเวลาในการทำเวิร์กช็อปจะแตกต่างกันตามลักษณะเฉพาะและประสบการณ์ในการเรียนรู้ของผู้ที่เข้าร่วม มีทั้งคอร์สระยะสั้น และการเรียนรู้ต่อเนื่อง

“บางคนเป็นนักพัฒนาที่มีประสบการณ์อยู่แล้ว อาจแค่มีคำถามเกี่ยวกับการใช้ภาษาที่ถูกต้อง จึงต้องการการศึกษาเชิงปฏิบัติการเล็กน้อย เพื่อบอกว่าจะใช้ Python บนเทโซสได้อย่างไร แต่บางคนที่ไม่ได้เป็นนักพัฒนาก็อาจจะต้องการเรียนรู้วิธีสร้างเอ็นเอฟที บนเทโซส เป็นต้น”

2. จัด Hackathon ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมปรับปรุง และพัฒนาระบบนิเวศ (Test Asia) มีเป้าหมายในการผลักดันให้นักพัฒนา และผู้คนเห็นว่าเทคโนโลยีนี้เป็นอย่างไร ส่งเสริมให้เข้ามาในระบบนิเวศ และสนับสนุนให้สร้างนวัตกรรม และแก้ปัญหาต่าง ๆ บนเเพลตฟอร์ม

สร้างสตาร์ตอัพ-คอมมิวนิตี้

“เฟรเดอร์ริค” กล่าวด้วยว่า การทำให้เกิดวัฒนธรรมสตาร์ตอัพ และการบ่มเพาะความรู้ของ TZ APAC คือการจัดมาสเตอร์คลาสบนระบบนิเวศ และหนึ่งในหัวข้อที่มักใช้คือ วิธีสร้างสตาร์ตอัพ หรือบริษัทที่ขับเคลื่อนด้วยภารกิจ

“แฮกกาทอนก่อนหน้านี้ ในเอเชียมีนักพัฒนากว่า 11,000 ราย มาลงทะเบียนซึ่งเป็นจํานวนที่น่าอัศจรรย์ เรากําลังมองหาเงินทุน พยายามทำให้แน่ใจว่าเราได้เปิดระบบนิเวศให้กว้าง และทำให้มันเติบโตอย่างต่อเนื่องในภูมิภาคอื่น ๆ ได้ด้วย เราจึงไม่หยุดที่จํานวน แต่พยายามให้ความรู้ให้มากที่สุด และสร้างคอมมิวนิตี้นักพัฒนาขึ้นมา”

สำหรับในประเทศไทย และประเทศอื่น ๆ การเป็นพันธมิตรกับเทโซสจะทำให้ได้รับการแบ่งปันทรัพยากรต่าง ๆ ความเป็นพันธมิตร และเงินทุนที่จะนำไปสู่การเริ่มต้นสร้างบริษัทสตาร์ตอัพต่อไป

“เราไม่ต้องการบอกพวกเขาว่าเขาต้องทําอะไร แต่บอกว่าถ้าคุณต้องการอะไร เราพร้อมที่จะให้การสนับสนุนในฐานะพันธมิตร ตั้งแต่วันแรกที่คุณเข้ามาเรียนรู้ ไปจนถึงการมีโปรแกรมการบ่มเพาะที่เรารวบรวมทรัพยากรต่าง ๆ ทั้งความรู้ เทคนิค และเครือข่าย เพื่อให้แน่ใจว่าพวกเขาจะมีโอกาสที่ดีที่สุดในการเป็นสตาร์ตอัพรายต่อไป”

เป้าหมายที่ไม่ใช่รายได้

ผู้บริหาร TZ APAC บอกว่า ไม่ได้เน้นตัวเลขรายได้ แต่มุ่งไปที่การสร้างการเติบโตของอีโคซิสเต็มบนบล็อกเชน

“ตัววัดผลจะเน้นที่การทำ utilization of blockchain หรือการทำให้บล็อกเชนเกิดประโยชน์ใช้สอยมากที่สุด ซึ่งต้องพิจารณา 2 ส่วน คือ 1.จำนวนผู้ใช้รายวันหรือกระเป๋าเงินที่แอ็กทีฟเพิ่มขึ้น และ 2.จำนวนของปฏิสัมพันธ์ของกระเป๋าเงินผู้ใช้งานกับการเรียกใช้สมาร์ทคอนแทร็กต์ที่เติบโตขึ้น”

“เทโซส เป็นบล็อกเชนระดับโลกอยู่แล้ว และเป็นแบรนด์ที่สนับสนุนทีมฟุตบอลเเมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เราเป็นโอเพ่นซอร์ซที่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามที่สนใจพัฒนาโปรเจ็กต์มาสร้างบนเทโซส ทำให้เกิดสตาร์ตอัพ บางครั้งสตาร์ตอัพอาจจะหารายได้โดยเข้าไประดมทุน หรือสร้างธุรกิจเพื่อหาโอกาสเติบโตในขาขึ้นของตลาดคริปโตรอบหน้าก็ได้”

ดันบล็อกเชน Mass Adoption

สำหรับการผลักดันให้บล็อกเชนมีการใช้แพร่หลาย (mass adoption) จะเกิดเมื่อผู้คนได้เรียนรู้อย่างกว้างขวาง ซึ่งคงไม่สามารถบอกได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่จากการได้เรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในรอบหลายปีที่ผ่านมา และเริ่มได้เห็นแล้วว่า การใช้งานในเชิงพาณิชย์ของผู้ประกอบการรายใหญ่กำลังเริ่มต้นขึ้น

“ภาระหน้าที่ของเรา คือทำให้มั่นใจว่า เมื่อมีการใช้งานอย่างกว้างขวาง จะต้องมีการใช้งานแบบไร้รอยต่อ เราเริ่มเห็นการเติบโตของเอ็นเอฟที ดิจิทัลอาร์ต บนระบบนิเวศ มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับพาร์ตเนอร์ผู้สร้างสรรค์ผลงานแล้ว ถามว่าการปรับใช้บล็อกเชนในภาคธุรกิจจะใช้เวลากี่ปี ยากที่จะคาดการณ์ แต่เทคโนโลยีปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เมื่อสตาร์ตอัพเติบโตก็จะโตอย่างรวดเร็ว”

อาเซียนแกร่งสุดเว็บ 3

“เฟรเดอร์ริค” กล่าวถึงประเด็นที่ร้อนแรงของการพัฒนาเทคโนโลยี คือ เว็บ 3 ที่ขณะนี้อยู่ในช่วงของการพัฒนา เมื่อพิจารณาร่วมกับสภาพตลาดคริปโตเคอร์เรนซี และเอ็นเอฟทีที่ตกต่ำลง เขามองว่าช่วงเวลานี้เป็นช่วงที่ดีที่สุดที่จะสร้างนวัตกรรม เว็บ 3 เพราะทุกคนตอนนี้กำลังคาดหวังกับการมาของคลื่นหรือเว็บถัดไป

“เพราะจากการที่ตลาดตกต่ำเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมจะรอคอยคลื่นลูกต่อไป ตอนนี้โครงการที่ดีจะต้องได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินการต่อไปได้ เราอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม เราสามารถให้บริการโซลูชั่น สําหรับสภาวะตลาดขาลงตอนนี้ไม่สําคัญเลย เพราะพวกเราทุกคนเป็นผู้สร้างระบบนิเวศ เรามองจากมุมมองแบบองค์รวม และเราจะทำให้ทุกคนมั่นใจว่าเราจะยังคงสร้างมันอย่างสม่ำเสมอ”

“เฟรเดอร์ริค” กล่าวอีกด้วยว่า ได้เห็นการเติบโตของพื้นที่เอ็นเอฟทีและเว็บ 3 ซึ่งเป็นสิ่งที่ดี เพราะเทโซส มีคอมมิวนิตี้ของศิลปินผู้สร้างที่ใหญ่มาก ซึ่งจะนำไปสู่การพบปะและสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ ทั้งเอ็นเอฟทีไฟ (NFT-Fi) เกมไฟ (Game-Fi) และคอมมิวนิตี้อื่น ๆ เขาจึงคิดว่าคอมมิวนิตี้ของเว็บ 3 จะกลายเป็นประเด็นที่ใหญ่มาก

ในความแตกต่างหลากหลายของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ประเทศในอาเซียนมีความเเข็งแกร่งในเรื่องเว็บ 3 เป็นที่สุด อย่างประเทศไทยมีความโดดเด่นในด้านชุมชน DeFi (ระบบการเงินกระจายศูนย์-decentralized finance) ที่แข็งแกร่ง ส่วนในสิงคโปร์แม้จะไม่มีความโดดเด่นด้าน DeFi เลย แต่ก็มีชุมชนเว็บ 3 ที่เข้มแข็งสุด


“สิ่งที่เราจะทำ on top บนความแข็งแกร่งเหล่านี้ คือการทำให้มั่นใจว่าเราได้ปลูกฝังทักษะและความสามารถเพื่อให้เหล่าผู้สร้างและนักพัฒนาได้ช่วยกันขับเคลื่อนพื้นที่ตรงนี้ อย่างในไทยที่เราเริ่มเห็นหลายกลุ่มเคลื่อนย้ายมาสู่เอ็นเอฟที และการเติบโตอย่างเเข็งแกร่งด้าน DeFi เราต้องมองหาวิธีการที่พวกเขาจะเชื่อมต่อความร่วมมือไปยังพื้นที่อื่น ๆ ให้กว้างขวางขึ้น”