Next Chapter ลาซาด้า ต้องมากกว่าแพลตฟอร์ม ช็อปปิ้ง

วีระพงศ์ โก
สัมภาษณ์

ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างต่อเนื่อง และยิ่งโตขึ้นมากในช่วงโควิด แม้หลังโควิดคลี่คลายอาจลดลงบ้าง เพราะผู้คนหวนกลับไปใช้ชีวิตปกติ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า อีคอมเมิร์ซ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตของคนไทยในปัจจุบันไปแล้วเรียบร้อย ทั้งยังเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงลูกค้าของบรรดาสินค้า และบริการต่าง ๆ

ลาซาด้า (Lazada) ในฐานะหนึ่งในผู้เล่นหลักในธุรกิจอีคอมเมิร์ซเมืองไทย มีมุมมองอย่างไรต่อธุรกิจ การแข่งขัน และแผนงานที่วางไว้สำหรับปี 2566 นี้

“ประชาชาติธุรกิจ” ฉบับนี้มีคำตอบผ่านบทสัมภาษณ์ ดร.วีระพงศ์ โก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย

ความท้าทายปีกระต่าย

“ดร.วีระพงศ์” มองว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2566 ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย การท่องเที่ยวที่กลับมาฟื้นตัว รวมถึงการบริโภคที่ขยายตัวดีอย่างต่อเนื่อง ในส่วนของอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ แม้ไม่ได้เติบโตก้าวกระโดดเหมือนในช่วงที่โควิดระบาด แต่ลาซาด้ายังเติบโตต่อเนื่อง

โดยเฉพาะในช่วงแคมเปญ double digit (แคมเปญเลขคู่ส่งเสริมการขายรายเดือน) และช่วงเมกะแคมเปญ เนื่องจากผู้บริโภคคุ้นเคยกับพฤติกรรมการช็อปปิ้งออนไลน์

จากรายงานวิจัยล่าสุดที่ลาซาด้าจัดทำขึ้น พบว่าผู้บริโภคในไทยกว่า 43% ใช้แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสำหรับซื้อขายสินค้าออนไลน์ และยังใช้เป็นเครื่องมือค้นหาสินค้าที่ตนเองต้องการ และคนไทยกว่า 74% ยังซื้อสินค้าออนไลน์ต่อเนื่องอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เนื่องจากชื่นชอบความสะดวกสบาย ทำให้มีการใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อซื้อสินค้าเป็นประจำ

“แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย ธุรกิจ และการดำเนินชีวิตเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ลาซาด้าเตรียมพร้อมอยู่เสมอ เพื่อให้พาร์ตเนอร์ธุรกิจมีความพร้อมรับโอกาสใหม่ ๆ และสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างยืดหยุ่น เพราะการระบาดของโควิดเป็นสิ่งที่พิสูจน์แล้วว่า การปรับตัวเพื่อรับมือกับความไม่แน่นอน หรือสถานการณ์ที่มีความท้าทาย มีความสำคัญอย่างยิ่ง”

ในระดับมหภาค แม้จะมีปัจจัยภายนอกที่อยู่นอกเหนือการควบคุม แต่สิ่งที่ทำได้ และบริษัทให้ความสำคัญมาโดยตลอด คือการสร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซครบวงจร พร้อมระบบโครงสร้างพื้นฐานที่มีประสิทธิภาพ เพราะไม่เพียงแต่จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน แต่ยังช่วยสร้างคุณค่าให้กับอีโคซิสเต็ม รวมถึงเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมได้อีกด้วย

“โดยเฉพาะในช่วงเวลานี้ ที่อีคอมเมิร์ซ และเศรษฐกิจดิจิทัล สามารถต่อยอด และผลักดันการเติบโตของธุรกิจต่าง ๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ”

แผนการลงทุนและเป้าหมาย

สำหรับเป้าหมายหลักของลาซาด้า คือ สร้างแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีคุณภาพ โดยเน้นไปยังโครงสร้างพื้นฐาน 3 ด้าน ได้แก่

1.การนำเสนอบริการที่แตกต่างให้กับผู้บริโภค ตั้งแต่ประสบการณ์การซื้อสินค้าบนแพลตฟอร์ม สินค้าที่มีความหลากหลาย และครบ อย่างฟีเจอร์ LazLook และ LazBeauty การจัดส่งสินค้าที่รวดเร็ว ไปจนถึงการคืนสินค้าได้อย่างสะดวก

2.โครงสร้างพื้นฐานเพื่อการซื้อขายออนไลน์ที่ราบรื่น และปลอดภัย

3.การพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ขับเคลื่อนแพลตฟอร์ม

ซีอีโอลาซาด้าเชื่อว่า ทั้งหมดถือเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างอีโคซิสเต็มที่ยั่งยืน เพื่อเชื่อมโยงผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งนอกจากจะช่วยต่อยอดความแข็งแกร่งในฐานะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำแล้ว ยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยในวงกว้างในระยะยาวอีกด้วย

“เป้าหมายสำคัญของเรา ยังคงมุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลง และสร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านต่าง ๆ ทั้งการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อย การทำงานร่วมกับภาครัฐ พาร์ตเนอร์ธุรกิจ ผู้ขาย และแบรนด์ต่าง ๆ โดยไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับการเติมเต็มชีวิต และมอบประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับนักช็อปชาวไทย”

มุมมองเกี่ยวกับการแข่งขัน

ดร.วีระพงศ์กล่าวต่อว่า ลาซาด้าเน้นดำเนินธุรกิจบนแนวทางการเติบโตแบบยั่งยืนมาโดยตลอด จึงให้ความสำคัญกับการแข่งขันอย่างสร้างสรรค์ ผ่านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานใน 3 ด้านข้างต้น เพื่อต่อยอดความแข็งแกร่งในฐานะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

โดยมุ่งไปยังการมอบประสบการณ์ที่แตกต่างเพื่อเป็นมากกว่าแพลตฟอร์มช็อปปิ้ง มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อเติมเต็มชีวิตให้คนไทยทุกคน

สำหรับกลยุทธ์ในระยะยาวจะมุ่งไปยังการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี และโลจิสติกส์ รวมถึงการส่งเสริมผู้ประกอบการรายย่อยของไทยให้แข็งแกร่ง ด้วยเครื่องมือและโซลูชั่นที่พร้อมสนับสนุนการเติบโตให้ธุรกิจ

ตลอดจนส่งเสริมความรู้ด้านดิจิทัลในวงกว้าง ผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น มหาวิทยาลัยลาซาด้า (Lazada University) โครงการการศึกษาที่จัดขึ้นโดยเฉพาะเพื่อส่งเสริมศักยภาพผู้ขาย และเทศกาลการเรียนรู้ลาซาด้า (Lazada Learning Festival) ซึ่งเป็นเทศกาลการเรียนรู้เสมือนจริงที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ความรู้และสร้างการมีส่วนร่วมกับบุคคลทั่วไป

อัพสกิลคนอีคอมเมิร์ซ

อีกส่วนที่ลาซาด้าให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาบุคลากรที่มีความพร้อมสำหรับอนาคต ด้วยการมอบประสบการณ์การเรียนรู้แบบองค์รวมให้พนักงาน เพื่อยกระดับทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นสำหรับการเติบโตในอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

นอกจากนี้ ยังร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐในการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยต่อเนื่อง เช่น โครงการความร่วมมือระหว่างการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ภายใต้แคมเปญ “Best Deal เที่ยวไทย เพิ่มสิ่งที่ใช่ให้ชีวิต”

เชื่อมโยงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยสู่อีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นการสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวทั่วประเทศมีช่องทางการตลาดเพิ่มขึ้นผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน

“เรายังจัดอบรมความรู้เทคนิคการขายออนไลน์ พร้อมสิทธิพิเศษต่าง ๆ เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการเริ่มธุรกิจออนไลน์ได้ง่ายขึ้น เช่น มีโครงการความร่วมมือกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการภายใต้บางกอกแบรนด์ และผู้ประกอบการท้องถิ่นในกรุงเทพฯ กว่า 100 ราย พร้อมจัดแคมเปญ Bangkok Brand Online เพิ่มช่องทางการตลาด และจำหน่ายสินค้าบนลาซาด้า เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจในระยะยาว”

ไทยกับเป้าหมายฮับดิจิทัล

ดร.วีระพงศ์แสดงความเห็นเกี่ยวกับการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางดิจิทัลในอาเซียนด้วยว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ความร่วมมือจากหลากหลายอุตสาหกรรม รวมถึงการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ และเอกชน ทั้งด้านเทคโนโลยี องค์ความรู้ และการพัฒนาบุคลากร จะมีส่วนช่วยผลักดันการพัฒนาด้านดิจิทัลให้แข็งแกร่ง

ทั้งยังคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่าถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2573 โดยอีคอมเมิร์ซเป็นธุรกิจที่ขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญที่สุด

ดังนั้น การสร้างธุรกิจอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยให้แข็งแกร่งจึงมีความสำคัญมาก ซึ่งลาซาด้าในฐานะผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซได้มีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานหลักในประเทศไทยต่อเนื่อง รวมถึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรด้านดิจิทัลที่มีความสามารถ และความพร้อมสำหรับอนาคต