ดีล Microsoft ซื้อเกมดัง Call of Duty สะดุด

Microsoft ซื้อเกมดัง Call of Duty
Photo by JEWEL SAMAD / AFP

หน่วยงานป้องกันการผูกขาดทางการค้าอังกฤษ เสนอให้ขายแฟรนไชส์เกมดัง Call of Duty ทิ้งก่อน Microsoft เข้าเทกโอเวอร์กิจการ Activision Blizzard หวั่นดีลกระทบตลาดเครื่องเล่นเกม ทำร้ายเกมเมอร์เป็นวงกว้าง

วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 หน่วยงานป้องการผูกขาดทางการค้าอังกฤษ (UK Competition & Markets Authority) ได้ กล่าวกับ Microsoft Corp. ในวันพุธที่ผ่านมาว่า จากข้อกังวลเกี่ยวกับการที่ Microsoft กำลังดำเนินการเข้าซื้อกิจการ Activision Blizzard จะทำให้เกิดการผูกขาดทางการแข่งขัน กระทบกับผู้เล่นเกมเป็นวงกว้าง ซึ่งความกังวลดังกล่าวจะหมดไปหาก Microsoft “ขาย” หรือ “ถอนทุน” จากแฟรนไชส์เกม Call of Duty

โดย Activision Blizzard ผู้ผลิตและจำหน่ายเกมเจ้าของแฟรนไชส์เกมดังมากมาย เช่น Call of Duty, World of WarCraft, StarCraft, Diablo เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ดีลยักษ์ระหว่าง Microsoft Corp และ Activision Blizzard มีมูลค่า 6.9 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ถูกขัดขวางโดย Sony ซึ่งได้ร้องเรียนหน่วยงานกำกับดูแลหลายประเทศว่าหาก Microsoft ซื้อบริษัทดังกล่าวไปแล้วมีการบังคับให้เกมดังวางขายได้เฉพาะเครื่องเล่นเกมหรือแพลตฟอร์มของตน (Xbox, PC Xbox pass) ย่อมกระทบต่อเครื่องเล่น Play Station รวมถึงกระทบกับผู้เล่นเกมที่ถูกบีบให้ใช้แพลตฟอร์มของ Microsoft เท่านั้น

Sony ยังเน้นย้ำว่า เกมที่จะกระทบมากคือ Call of Duty ซึ่งเป็นหนึ่งในเฟรนไชส์เกมที่มีผู้เล่นมากที่สุดในโลก และให้ผลกำไรมากที่สุดในโลกด้วย

ด้าน Microsoft ได้ตอบโต้ว่า จะมุ่งมั่นที่จะทำข้อตกลงมูลค่า 69,000 ล้านเหรียญสหรัฐให้สำเร็จ แต่การถอนเกม Call of Duty ซึ่งเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์เกมที่ให้ผลกำไรมากที่สุดในโลก จะทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของเศรษฐศาสตร์ในการทำธุรกรรมซื้อกิจการดังกล่าว

Call of Duty ขุมทรัพย์อุตสาหกรรมเกม

Call of Duty เป็นเกมแอ็กชั่น แนว First Person Shooting (เกมยิงมุมมองบุคคลที่หนึ่ง) ซึ่งมีฉากหลังเเละเรื่องราวเป็นสงครามครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ ด้วยระบบการจำลองอาวุธ การยิง และเอฟเฟ็กต์ตื่นตาทำให้เป็นเกมยอดนิยมมาต่อเนื่องหลายภาค

โดย เกมในซีรีส์ Call of Duty มีอายุ 20 ปี ออกเกมภาคใหม่ทุกปี ตลอดช่วงอายุของแฟรนไชส์ ​​Call of Duty ขายได้มากกว่า 425 ล้านก๊อบปี้ และทำรายได้มากกว่า 30,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

Bloomberg ได้อ้างรายงานของ Washington Post ว่ารายได้จากเกมดังกล่าว เป็นแหล่งที่มาของรายได้ที่มั่นคงและได้รับความนิยมที่ยาวนานจากผู้เล่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่สุดของบริษัท Activision Blizzard และยังเป็นแหล่งดึงดูดรายได้ที่ดีของ Microsoft จากการเป็นเจ้าของหน่วยเกมที่ให้บริการสตูดิโอหลายสิบแห่ง และบริการสมัครสมาชิก Game Pass และเครื่องเล่นเกม Xbox ซึ่งได้รับประโยชน์จากการที่เกมเมอร์ชื่นชอบเกมดังกล่าวและสมัครสมาชิก Xbox Game Pass เพื่อเล่นในเครื่อง PC รวมถึงการซื้อเพื่อเล่นในเครื่อง  Xbox

ภาคล่าสุดของซีรีส์ Call of Duty คือ Modern Warfare II เปิดตัวในเดือนตุลาคมที่แล้ว มียอดขายทะลุ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐภายใน 10 วัน และกลายเป็นเกมที่ขายดีที่สุดในปี 2022 ตามรายงานของ NPD Group บริษัทวิจัยอุตสาหกรรม

ในขณะที่ยอดขายวิดีโอเกมทั่วทั้งอุตสาหกรรมชะลอตัวลงในปี 2022 Modern Warfare II ทำให้ผลประกอบการในไตรมาสที่ 4/2022 ของ Activision ดีขึ้น ส่งผลให้ยอดการเติบโตรายได้บริษัทเพิ่มขึ้น 43% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นมากที่สุดในเก้าไตรมาส

ดีลยักษ์จะทำให้ราคาสูงขึ้น บริการแย่ลง ในเครื่องเกมคอนโซล

ในรายงานของ UK Competition & Markets Authority (CMA) พบข้อกังวลเกี่ยวกับศักยภาพของดีล Microsoft-Activision Blizzard ที่จะเป็นอันตรายต่อการแข่งขันในตลาดเกมคอนโซลระหว่าง Xbox และ PlayStation ของ Sony Group Corp. หาก Call of Duty กลายเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะสำหรับระบบนิเวศของ Xbox ซึ่งรวมถึงแอป Xbox บนคอมพิวเตอร์ด้วย มันจะบั่นทอนความน่าสนใจของ PlayStation ที่ผู้บริโภคมีอย่างมาก

“ในการสำรวจผู้ใช้งานเครื่องเล่น PlayStation ที่เล่น Call of Duty ของ CMA พบว่า 24% ของผู้เล่นจะเปลี่ยนเครื่องเล่นเกมคอนโซล หากเกม Call of Duty กลายเป็น Xbox Exclusive ซึ่งถือว่าการลดการแข่งขันระหว่าง Microsoft และ Sony อาจส่งผลให้เกมเมอร์ทุกคนได้ประสบกับราคาค่าบริการที่ที่สูงขึ้น คุณภาพที่ต่ำลง และบริการที่แย่ลงในคอนโซลเกมเมื่อเวลาผ่านไป” CMA ระบุใน แถลงการณ์

CMA เสนอการแก้ไข “โครงสร้างดีล” หลายอย่างที่สามารถช่วยให้ข้อตกลงผ่านไปได้ แต่ไม่มีวิธีใดที่น่าจะถูกใจ Microsoft

การแก้ไขโครงสร้างของดีล รวมถึงการเสนอให้ Activision Blizzard ขายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Call of Duty ไปเสียก่อน เนื่องจาก Activision Blizzard ดำเนินธุรกิจแยกเป็น สตูดิโอหลัก 3 แห่ง ที่ทำงานเกี่ยวกับแฟรนไชส์ Call of Duty รวมถึงบริษัทในเครือจำนวนหนึ่งที่ให้การสนับสนุนเกมนี้

การแก้ไขโครงสร้างที่เป็นไปได้อื่น ๆ ได้แก่ การแยก Activision ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งของ Activision Blizzard Inc. ซึ่งมีรายได้จากการดำเนินงานคิดเป็น 1 ใน 3 ของบริษัท และ Blizzard ซึ่งเป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่เป็นผู้สร้างที่อยู่เบื้องหลัง World of Warcraft และ Diablo (Activision รวมเข้ากับ Blizzard ในปี 2551 ในข้อตกลงกับ Vivendi SA ซึ่งเป็นเจ้าของ Blizzard)