Microsoft จ่ออัพเดต Bing-Edge เขย่าขวัญ Google Chrome

ซ้าย: พิชัย ซุนดาร์ ซีอีโอกูเกิ้ล (Kimihiro Hoshino KIMIHIRO HOSHINO / AFP) ขวา: ยูซุฟ เมห์ธิ รองประธานไมโครซอฟท์ คอร์ป. ฝ่ายModern Life, Search, and Devices (Jason Redmond / AFP)

Microsoft ประกาศเพิ่มเอไอ ChatGPT ในการอัพเดตใหญ่ Edge และ Bing สะเทือน Google เร่งแผนใช้เอไอสู้

วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2566 ไมโครซอฟท์ หรือ Microsoft ออกประกาศเมื่อวันอังคารที่ผ่านมาถึงการทดสอบและนำ ChatGPT ไปใส่ใน Bing (เสิร์ชเอ็นจิ้นของบริษัท) พร้อมกับการทดสอบในเว็บบราวเซอร์ Microsoft Edge ซึ่งถือเป็นการเร่งการใช้งานปัญญาประดิษฐ์กับการใช้งานทั่วไปที่กระทบกับ Google ทั้งในส่วนของ Chrome Browser และ Search Engine ของ Google ซึ่งเป็นที่นิยมของคนทั่วโลก

Microsoft ประกาศว่า Bing กำลังได้รับการอัพเดตครั้งใหญ่ โดยใช้เทคโนโลยีจาก ChatGPT ผสมกับให้ผู้ใช้งานสามารถแชตกับ Bing เพื่อรับคำตอบที่ละเอียดยิ่งขึ้นสำหรับคำค้นหา และตัวอย่างของ Bing ใหม่เปิดตัวแล้ววานนี้

ตัวอย่างการใช้งาน เช่น ผู้ใช้สามารถขอให้ Bing วางแผนการเดินทาง เช่น ถามว่าการเดินทางนั้นมีค่าใช้จ่ายเท่าไร

ไม่เพียงเท่านั้น จากการลงทุนนับหมื่นล้านเหรียญสหรัฐของ Microsoft ในปัญญาประดิษฐ์และการสนับสนุน OpenAI ผู้พัฒนา ChatGPT โดยตรง ยังทำให้ Microsoft มีความพร้อมที่จะนำโมเดลปัญญาประดิษฐ์รูปแบบอื่น ๆ มาผสมผสานกับผลิตภัณฑ์ดั้งเดิมของตน

ขณะที่ Google ก็ไม่ยอมแพ้ ได้ทำแผนเร่งด่วน เพื่อนำเสนอแชตบอตเอไอเพื่อแข่งขัน ตลอดระยะเวลาที่ ChatGPT เปิดตัวให้ทดลอง ล่าสุดได้ประกาศว่าจะเปิดตัวเอไอแชตบอต ชื่อ Bard ในรูปแบบเดียวกับ ChatGPT หรือการใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่ ซึ่ง Google มีฐานข้อมูลมหาศาลและได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์พื้นฐานมาต่อเนื่อง เช่น โปรเจ็กต์ LaMDA

อีกทั้ง Google ยังทุ่มเงินลงทุนกว่า 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในบริษัท Anthropic ผู้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่แยกตัวมาจากทีมวิจัยของ OpenAI ผู้พัฒนาโมเดล GPT2-3 เทคโนโลยีพื้นฐานของ ChatGPT ด้วย

กล่าวได้ว่า กระแสการใช้งาน ChatGPT ที่ทำลายสถิติการใช้งานเทคโนโลยีทั้งหมดในอดีต เป็นตัวเร่งสำคัญในสงครามเทคโนโลยียุคใหม่ บีบบังคับให้บิ๊กเทคต่างเร่งนำเสนอเอไอ ในรูปแบบคล้ายกันเพื่อรักษาฐานผู้ใช้งานและไม่ตกขบวน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าตลาดอย่าง Google หรือ แม้กระทั่งฝั่งจีนอย่าง Baidu

การเร่งนำเสนอเอไอแชตบอตกันต่อเนื่องนี้ ได้ก่อปัญหาใหม่คือเรื่อง “จริยธรรม” ทั้งในเรื่องของ “ความถูกต้องของข้อมูล” และ “อคติ” ทั้งทางชาติพันธุ์ เพศ รวมถึงข้อมูลเปราะบาง เช่น การเสนอวิธีการฆ่าตัวตายให้กับผู้ใช้ที่เปราะบางทางอารมณ์ คือสิ่งที่หลายฝ่ายกังวลด้วยฐานข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตมีจำนวนมากไม่ได้แยกแยะข้อมูลที่เป็นภัยหรือถูกต้อง เอไอทำหน้าที่เพียงรวบรวมข้อมูลมานำเสนอให้เพื่อให้ผู้ใช้ได้รับคำตอบที่เจาะจง

โดย Google ได้พัฒนาเอไอที่ใช้โมเดลภาษาขนาดใหญ่มานานแล้ว เช่น ALBERT, RoBERTa หรือ LaMDA ซึ่งยังคงมีปัญหาเรื่องจริยธรรมและอคติทางข้อมูล ดังนั้น Google จึงมีการหาทางแก้ไขหลายด้าน อย่างเช่น การลงทุนใน Anthropic ที่เคยเป็นผู้พัฒนา GPT2-3 อาจเป็นการแก้ไข pain point นี้ เพราะโมเดลภาษาดังกล่าวทำให้ ChatGPT สามารถแยกแยะคำถามที่เปราะบางและมีอคติได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่หลายฝ่ายต้องเตือนกันต่อเนื่อง คือ โมเดลภาษา เป็นการสร้างคำตอบโดยรวบรวมและสรุปข้อมูลทั้งผิดและถูกบนโลกอินเทอร์เน็ต ดังนั้นผู้ใช้งานควรต้องระมัดระวังด้วยวิจารณญาณอย่างสูง