นิวยอร์กสั่งแบน ChatGPT ในโรงเรียน

ChatGPT
คอลัมน์ : Tech Times
ผู้เขียน : มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ

พักหลังสถานศึกษาในอเมริกาฟิตจัดมาก ในเรื่องการควบคุมการใช้งานโซเชียลมีเดียและเทคโนโลยีในโรงเรียน

หลังจากที่โรงเรียนในเมืองซีแอตเติลเดินหน้าฟ้องบิ๊กเทค เจ้าของโซเชียลมีเดียโทษฐานทำให้เด็กเสียสุขภาพจิต จนเป็นข่าวฮือฮาไปแล้ว ล่าสุดอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่โรงเรียนไม่ปลื้มก็คือ ChatGPT แชตบอตอัจฉริยะที่เปิดตัวได้สองเดือนก็สร้างแรงสั่นสะเทือนไปทั่วทุกวงการ

ChatGPT ใช้ large language model ในการเลียนแบบการสนทนาของมนุษย์ พัฒนาขึ้นโดย OpenAI สตาร์ตอัพที่ได้รับทุนสนับสนุนหลักจากไมโครซอฟท์

นอกจาก ChatGPT จะสามารถโต้ตอบกับมนุษย์ได้อย่างคล่องแคล่วแล้ว มันยังสามารถช่วยข้อมูลต่าง ๆ รวมทั้งสามารถเขียนรายงานและบทความตามคำสั่งได้อย่างดีเยี่ยม โดยมีจุดเด่นเรื่องความสละสลวยและถูกหลักไวยากรณ์

ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ทำให้หลายบริษัทมองเห็นศักยภาพในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ เช่น Microsoft ที่เพิ่งประกาศเพิ่มเงินลงทุนใน OpenAI อีกหลายพันล้านเหรียญ จากเดิมที่เคยลงทุนไปแล้วพันล้านเหรียญในปี 2018

แต่ไม่ใช่ทุกคนจะมอง ChatGPT ในแง่ดี โดยเฉพาะเหล่าครูบาอาจารย์ที่ไม่อยากเห็นลูกศิษย์หันมาใช้ปัญญาประดิษฐ์แทนการใช้ปัญญาตัวเองในการเรียน

ยิ่งมีข่าวว่า ChatGPT สามารถทำข้อสอบยาก ๆ ในระดับมหาวิทยาลัยผ่านฉลุย (เช่น ข้อสอบเพื่อรับใบอนุญาตทางการแพทย์ของสหรัฐ หรือข้อสอบนักศึกษา MBA) ก็ยิ่งทำให้ความกลัวว่านักเรียนจะแอบใช้บอตทำรายงานพุ่งกระฉูด

ส่งผลให้รัฐนิวยอร์กตัดสินใจประกาศแบนการใช้ ChatGPT ในโรงเรียนของทุกแห่งที่อยู่ภายใต้การดูแลรัฐ ด้วยเกรงว่า ChatGPT จะส่งผลกระทบต่อการเรียน เพราะถึงแม้เครื่องมือนี้จะช่วยให้นักเรียนตอบคำถามได้รวดเร็ว แต่มันไม่ช่วยส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์ที่เป็นรากฐานที่สำคัญในการเรียนรู้ในระยะยาว

นอกจากนี้ สถานศึกษายังแสดงความกังวลต่อความถูกต้องของข้อมูลที่ได้จาก ChatGPT ด้วย เพราะถึงแม้คำตอบจะมีการเรียบเรียงมาอย่างดีและดูน่าเชื่อถือ แต่มีหลายครั้งที่จับได้ว่าเจ้าบอตตัวนี้แอบใช้วิธีจับแพะชนแกะ เอาข้อมูลนู่นนี่มาผสมกันมั่วไปหมด เพื่อเอาตัวรอดเวลาเจอโจทย์ที่ไม่ถนัด

เพื่อบรรเทาความกังวลในเรื่องนี้ OpenAI บอกว่ากำลังพัฒนาเครื่องมือที่สามารถตรวจสอบว่า ประโยคไหนหรือบทความใดมีการใช้บอตช่วยเขียนบ้าง แต่เนื่องจากเพิ่งพัฒนาได้ไม่นาน เครื่องมือที่ว่านี้ก็เลยอาจยังมีข้อผิดพลาดบ้าง และยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ไม่สามารถตรวจบทความที่มีน้อยกว่า 1,000 ตัวอักษร และต้องเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ก็มีอาจารย์หลายคนที่มองต่างมุมว่า แทนที่จะแบน ChatGPT โรงเรียนควรหาทางนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาการเรียนการสอนจะดีกว่า เช่น นำคำตอบที่ได้จาก ChatGPT ซึ่งมักจะเป็นคำตอบ “มาตรฐาน” มาเป็นโจทย์ให้นักเรียนหัดใช้ความคิดเพื่อสร้างคำตอบที่ไม่ซ้ำเดิม

ความพยายามปฏิเสธเทคโนโลยี ก็เหมือนการไม่ยอมรับความจริงว่าโลกได้เปลี่ยนไปแล้ว และต่อให้แบนการใช้งานในโรงเรียน เด็กก็ยังเข้าถึงบริการเหล่านี้ได้ที่บ้านอยู่ดี

เหมือนสมัยที่มี “กูเกิล” ใหม่ ๆ ก็เคยมีคนกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอน แต่ท้ายที่สุดก็ต้องยอมรับว่ากูเกิลช่วยเปิดโอกาสให้เด็กจำนวนมากเข้าถึงข้อมูลมหาศาลอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และวันนี้มันได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคนไปแล้ว ไม่ใช่แค่เด็กนักเรียน แต่รวมถึงผู้ใหญ่และตัวคุณครูเองด้วย

ดังนั้น การหัดใช้เทคโนโลยีในทางที่ถูก น่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่าการปิดกั้น เพราะไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ก็ตาม เราไม่สามารถหยุดยั้งการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้อยู่ดี