AIS ชูวิสัยทัศน์ พาย 3 ชิ้น ปักธงสร้าง Ecosystem Economy

AIS

ในช่วงที่ผ่านมาเห็นได้ชัดว่าผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยพยายามปรับเปลี่ยนพัฒนาตนเองไปสู่การเป็น “บริษัทเทคโนโลยี” รองรับบริบทธุรกิจ การแข่งขัน และพฤติกรรมลูกค้าที่ไม่เหมือนเดิม

กรณี “ทรู-ดีแทค” ที่ควบรวมกันไปเมื่อเร็ว ๆ นี้ ก็หวังที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างแต้มต่อ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย เช่นกันกับ “เอไอเอส” ในช่วงปีครึ่งที่ผ่านมาได้ประกาศแผน 3 ปียกระดับบริษัทไปอีกสเต็ปจาก digital life service provider สู่ cognitive tech-co หรือบริษัทอัจฉริยะ

ล่าสุด “สมชัย เลิศสุทธิวงค์” แม่ทัพใหญ่ “เอไอเอส” ประกาศวิสัยทัศน์ปี 2023 ว่าจะมุ่งไปยังการสร้างการเติบโตให้กับเศรษฐกิจแบบร่วมกัน (ecosystem economy) ซึ่งเขาบอกว่าจะมากกว่า “Digital Economy” โดยผสานความร่วมมือข้ามอุตสาหกรรม เพื่อให้พันธมิตรตั้งแต่ระดับฐานรากไปจนถึงระดับบนมีโอกาสเติบโตไปพร้อมกัน

ยุทธศาสตร์พาย 3 ชิ้น

“สมชัย” กล่าวว่า การที่เอไอเอสจะช่วยให้บริษัทและพันธมิตรธุรกิจเติบโตไปด้วยกันได้ มีสิ่งที่ต้องเน้นย้ำ 3 ส่วน เปรียบได้กับพาย 3 ชิ้น คือ 1.digital intelligence infrastructure การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลอัจฉริยะจากโครงข่าย 5G และเน็ตบ้าน พร้อม 5G platform เพื่อภาคอุตสาหกรรม

สมชัย เลิศสุทธิวงค์

ถือเป็นงานหลักของเอไอเอส เพราะคุณภาพสัญญาณเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่จะมอบให้กับพาร์ตเนอร์ โดยเอไอเอสยังคงมีการลงทุนในปีนี้ที่ 27,000-30,000 ล้านบาท”

และมีความร่วมมือกับพันธมิตรอย่างบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT นำคลื่นความถี่ 700 MHz ของ NT มาพัฒนาอีก 10 MHz (downlink 5 MHz และ uplink 5 MHz) ทำให้มีคลื่น 700 MHz รวม40 MHz (downlink 20 MHz และ uplink 20 MHz) รองรับการใช้งานครอบคลุมพื้นที่มากขึ้นในทุกรูปแบบ

ปัจจุบันเครือข่าย 5G มีพื้นที่การให้บริการทั่วประเทศกว่า 87% เฉพาะใน EEC ครอบคลุมกว่า 92% ล่าสุดยกระดับการให้บริการบนเครือข่าย 5G millimeter wave ย่าน 26 GHz ซึ่งเป็นย่านความถี่สูงรายแรกรายเดียวในไทยผ่านสมาร์ทโฟน เช่นกันกับอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง AIS fibre ที่เข้าถึงกว่า 8.8 ล้านครัวเรือนครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 16% ล่าสุดสร้างมาตรฐานใหม่ด้วยสายไฟเบอร์ออปติกโปร่งใส เชื่อมโยงอุปกรณ์กระจายสัญญาณและสร้างโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับ gigabit ทุกห้องภายในบ้านบนโครงข่ายเดียวกัน เชื่อมต่อสัญญาณไวไฟแบบไร้รอยต่อ

ส่วนที่ 2 cross industry collaboration เมื่อคลื่นความถี่มีความมั่นคง รวดเร็ว และโครงข่ายครอบคลุม เป้าต่อไปคือความร่วมมือและการเชื่อมต่อธุรกิจข้ามอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่เป็นรากฐานของประเทศอย่างผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่จะเข้าสู่การสร้าง “ช่องทาง” การค้าขายผ่านระบบดิจิทัลที่มีเอไอเอสเป็นพี่เลี้ยง

“การช่วยเหลือพาร์ตเนอร์ระดับเอสเอ็มอีจำเป็นต้องดึงพาร์ตเนอร์ที่เป็นระดับบนของประเทศ อย่างเครือธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นกรุงไทย ที่ร่วมทำระบบเพย์พอยต์ หรือธนาคารกรุงเทพ ที่มาช่วยบริการทางการเงินอย่าง บัตรเดบิต Be1st Digital AIS POINTS พร้อมขยายการช็อปปิ้งออนไลน์ เพราะแค่วางสินค้าในร้านค้าหรือบนแพลตฟอร์มก็เสียมาร์จิ้นไป 40% หากเรามีแพลตฟอร์มและระบบจะช่วยลดการสูญเสียนี้ได้มาก”

ส่วนที่ 3 การสร้างคน (human capital & sustainability) ยกระดับขีดความสามารถของ digital talent และคนไทยผ่าน education platform อย่าง LearnDi รวมถึงส่งเสริมความรู้ทักษะดิจิทัลสร้างภูมิคุ้มกันภัยไซเบอร์

“ทั้งสามส่วนต้องทำไปพร้อม ๆ กัน เพื่อทำให้ทั้งอีโคซิสเต็มโตไปด้วยกัน เพราะปกติตลาดโทรคมนาคมโตเฉลี่ยปีละ 3-5% อยู่แล้ว จากความต้องการใช้งานที่เพิ่มขึ้น”

และคาดว่าภายใน 3 ปีจะมีซิมหรือเลขหมายโต จากกว่า 100 กว่าล้านซิม (รวมเอไอเอส, ทรู และดีแทค) เป็นกว่า 800 ล้านซิมจากการเติบโตของอุปกรณ์ไอโอทีต่าง ๆ

“แต่ถ้าเราโตคนเดียว ย่อมไม่เกิดผลดีกับประเทศ เพราะโทรคมนาคมโตสูงกว่าจีดีพีและกระจุกตัวไปไม่ถึงเอสเอ็มอี”

พลิกแข่งราคาสู่ Cross Industry

ด้าน “ปรัธนา ลีลพนัง” หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าทั่วไป เอไอเอส กล่าวถึงการแข่งขันด้านราคาในปัจจุบันว่า เพดานราคาค่าบริการสูงสุดปัจจุบันขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้งาน และความต้องการ ไม่ใช่ว่ามีการแข่งขันน้อยจะขึ้นราคาตามกันไป หากลูกค้ามีความต้องการเพิ่ม ราคาก็จะขยับเพิ่มอย่างการมาถึงของเทคโนโลยีเออาร์/วีอาร์ ที่ขับเคลื่อนการบริโภค หรือกรณีอินเทอร์เน็ตบ้านที่เห็นชัดว่าต้องการความเร็วสูงขึ้นราคาก็จะเพิ่มขึ้น

“การแข่งขันราคาเป็นเรื่องปกติในทุกอุตสาหกรรม ที่การขายสินค้าต้องนำเสนอราคาที่มีความน่าสนใจ แต่ไม่ได้มีมิติเดียว เช่น การใช้บริการอินเทอร์เน็ตทุกวันนี้ลูกค้าไม่ได้ใช้แค่อินเทอร์เน็ตจึงเป็นโอกาสในการสร้างมูลค่า และบริการร่วมกันกับพันธมิตร แม้แต่แบงก์ก็พยายามหาโอกาสที่จะเข้าถึงลูกค้า เข้าถึงข้อมูลเพื่อทำประโยชน์ด้านดอกเบี้ย หรือการผ่อนชำระต่าง ๆ เป็นการ cross industry ซึ่งก็คือการเพิ่มช่องทางและโอกาสให้ผู้ใช้งาน หรือพาร์ตเนอร์สร้างบริการและมูลค่าที่เพิ่มขึ้น”

โดยเอไอเอส ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ข้ามอุตสาหกรรมตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงระดับโลก ซึ่งในปีนี้นอกจากยังร่วมกับร้านค้าถุงเงิน ร้านธงฟ้า ร้านค้ารายย่อย โชห่วยสตรีตฟู้ดกว่า 1.8 ล้านร้านค้าทั่วประเทศ และผู้ให้บริการธุรกิจค้าปลีกชั้นนำของไทย เช่น เครือเซ็นทรัล และร้านค้าแบรนด์ดังกว่า 20,000 ร้านค้า ขับเคลื่อนและสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก ด้วยการให้ลูกค้านำ AIS Points มาแลกรับสิทธิพิเศษ ทั้ง กิน เที่ยว ช็อปปิ้ง และขยายการช็อปปิ้งออนไลน์ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล แล้วยังร่วมกับพาร์ตเนอร์ระดับโลกต่างๆ เช่นกับ “ซัมซุง” มีให้ใช้เน็ตบ้านพร้อมสมาร์ททีวี และนำเสนอบริการทางการเงินร่วมกับ UOB ให้ลูกค้าเข้าถึงการใช้งานสมาร์ทโฟน 5G ได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

ผนึกพันธมิตรเติบโตไปด้วยกัน

“สมชัย” กล่าวว่า ปัจจุบันรายได้ของเอไอเอสยังคงมาจาก 4 เสาหลัก คือ ธุรกิจมือถือ, บรอดแบรนด์, ธุรกิจลูกค้าองค์กร และบริการดิจิทัล โดยรายได้กว่า 85% ยังมาจากธุรกิจมือถือ ส่วนที่เหลือรวมกันยังไม่ถึง 15% แต่ภายใน 3 ปีข้างหน้า คาดว่ารายได้จากมือถือจะต้องน้อยกว่า 75% ขณะที่บรอดแบรนด์ และลูกค้าองค์กรจะเข้ามากินส่วนแบ่งแทน 30%

“ผมตัดเรื่องดิจิทัลเซอร์วิสออกไปก่อน เพราะเรายังมองภาพไม่ชัดว่าจะรุ่งหรือร่วง ถ้ารุ่งก็จะสร้างรายได้มหาศาลเลย ซึ่งขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของผู้บริโภคด้วย”

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา ในแง่การดำเนินงาน เอไอเอสสามารถสร้างการเติบโตในมิติต่างๆ ทั้งรายได้, กำไรและจำนวนลูกค้า เรียกได้ว่าสวนทางสถานการณ์การแข่งขัน


และเชื่อด้วยว่าในปีนี้จะยังคงเติบโต และก้าวข้ามความท้าทายต่าง ๆ ไปได้ แม้ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมทางการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนไป ด้วยวิสัยทัศน์ Cognitive Tech-Co ที่มองการเติบโตของทุกภาคส่วนรวมกันทั้งอีโคซิสเต็มส์และการลงทุนอย่างต่อเนื่องมากที่สุดในอุตสาหกรรม ผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจแบบร่วมกันเพื่อส่งมอบประสบการณ์ดิจิทัล รวมถึงสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภค จากการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ โดยใช้จุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาสร้างการเติบโตร่วมกันให้กับลูกค้า คนไทย และประเทศไทย