
การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ได้ยึดโยงอยู่กับการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กร และการแสวงหาโอกาสใหม่ ๆ เท่านั้น หากยังต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืนด้วย “อะแมซอน เว็บ เซอร์วิส” หรือ AWS ผู้ให้บริการคลาวด์เดินหน้าภารกิจลดการปล่อยคาร์บอนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเลือกใช้ “พลังงานหมุนเวียน” แทนการใช้พลังงานหลัก รวมถึงการปลดปล่อยน้ำสะอาดสู่ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ โดยเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง The Climate Pledge รวบรวมองค์กรธุรกิจต่าง ๆ ที่มีเป้าหมายลดการปล่อยคาร์บอนเป็น “ศูนย์” ภายในปี 2583
ในงาน AWS Cloud Day Thailand “วัตสัน ถิรภัทรพงศ์” กรรมการผู้จัดการ AWS ประเทศไทย กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญเรื่องความยั่งยืน ที่ผ่านมา อะแมซอนฯเติบโตมาจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซจึงมีแผนมากมาย ไม่ว่าจะเป็นออกแบบกล่องใส่สินค้าให้พอดีเพื่อลดการใช้กระดาษ, เข้าไปลงทุนกับบริษัท Rivian ใช้รถบรรทุกไฟฟ้าในการส่งพัสดุ เป็นต้น ขณะที่ในประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือน กระจกน้อยกว่า 1% ของโลก แต่คุณภาพอากาศ และความไม่แน่นอนของสภาพอากาศที่ส่งผลต่อน้ำท่วม และภัยแล้ง ในฐานะประเทศเกษตรกรรมจึงได้รับผลกระทบโดยตรง รัฐบาลมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการทำธุรกิจลง 40% ภายในปี 2573 ซึ่ง AWS เข้มงวดกับเป้าหมายดังกล่าวเช่นกัน โดยกำหนดให้ภายในปี 2568 ดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งหมดต้องใช้พลังงานหมุนเวียน เร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่วางไว้ในปี 2573
เดินหน้าลงทุนตามแผน 15 ปี
และก่อนหน้านี้ AWS ได้ประกาศแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบคลาวด์ ด้วยการเปิดตัว AWS Region ในประเทศไทย ด้วยงบประมาณกว่า 5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือ1.9 แสนล้านบาทในระยะเวลา 15 ปี เพื่อช่วยให้ลูกค้าใช้งาน และจัดเก็บข้อมูลในประเทศไทยได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น ประกอบด้วย Availability Zone 3 แห่งที่วางโครงสร้างพื้นฐาน และที่ตั้งแยกกัน แต่มีระยะห่างเพียงพอที่จะลดความเสี่ยงหากเกิดเหตุการณ์ที่อาจกระทบต่อการใช้งานที่ต่อเนื่องของลูกค้า และใกล้พอที่จะให้เวลาแฝงต่ำสําหรับแอปพลิเคชั่นที่มีความพร้อมใช้งานสูง
โดยแต่ละแห่งมีแหล่งพลังงาน การระบายความร้อน และการรักษาความปลอดภัยแยกกัน และเชื่อมต่อผ่านเครือข่าย หากเกิดปัญหาที่หนึ่งก็จะมีแบ็กอัพและถ่ายโอนข้อมูลกันได้ ไม่กระทบโครงสร้างพื้นฐาน และการทำงานของระบบรวมถึงความรวดเร็วในการประมวลผลที่ให้บริการลูกค้า
การลงทุนของ AWS ในอาเซียน นอกจากไทยแล้วยังมีในอินโดนีเซียด้วย แม้ขนาดตลาดและประชากรจะมากกว่าไทย แต่ใช้เม็ดเงินในการลงทุนเท่ากัน โดยพิจารณาจากอัตราการใช้งานคลาวด์ และความตื่นตัวขององค์กรธุรกิจในไทยที่เติบโตดีมาก ทั้งได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ขณะที่ลูกค้าภาครัฐก็เป็นอีกกลุ่มที่ AWS ต้องการขยับเข้าไปหา
เทรนด์ AI เร่งการใช้พลังงาน
อย่างไรก็ตาม การมาถึงของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ Generative AI ด้วยโมเดลภาษาขนาดใหญ่ ทำให้เกิดความต้องการในการเทรนโมเดล Generative AI มากขึ้น นำมาซึ่งการใช้พลังงานมหาศาล ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับการเรียกใช้โมเดล จึงมีการออกแบบชิปประมวลผลใหม่ที่ใช้สำหรับบริการงานด้านแมชีนเลิร์นนิ่งโดยเฉพาะ
“เดิมทีเราออกแบบชิปที่ใช้ในดาต้าเซ็นเตอร์เราโดยเฉพาะคือ ชิป Gravition3 ซึ่งลดพลังงานลงได้ 60% ด้วยความต้องการเรียกใช้โมเดลเอไอและการทำแมชีนเลิร์นนิ่งจึงต้องออกแบบชิปตัวใหม่ชื่อ Inferentia ช่วยการประหยัดพลังงานมากขึ้น 54% และลดค่าใช้จ่ายลงได้ถึง 90% ชิปเหล่านี้ถูกปรับให้เหมาะสมสำหรับแอปพลิเคชั่น Generative AI ขนาดใหญ่ พร้อมโมเดลที่มีพารามิเตอร์หลายแสนล้านรายการ”
“วัตสัน” กล่าวด้วยว่า แม้ธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์จะต้องใช้ทั้งพลังงานไฟฟ้า และน้ำจำนวนมาก แต่บริษัทสามารถบริหารจัดการต้นทุนพลังงานได้หลายวิธี เช่น ใช้ชิปเซตที่พัฒนาขึ้นเอง จึงลดการใช้พลังงานของดาต้าเซ็นเตอร์ลง 92% รวมถึงการนำเครื่องสำรองไฟ หรือ UPS ออกไป ทำให้จัดการการสูญเสียกระแสไฟจากการสลับแหล่งจ่ายไฟ และเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งจ่ายไฟที่เซิร์ฟเวอร์ ลดการสูญเสียพลังงานทิ้งไปได้ราว 35%
“การ optimazed ต้นทุนต้องมองให้รอบด้าน เรื่องความพร้อมด้านพลังงานเป็นปัจจัยหนึ่ง ถ้าเทียบไทยกับประเทศอื่นในอาเซียน เช่น สิงคโปร์ ไทยมีความพร้อมเรื่องซัพพลายของพลังงาน ไม่ค่อยมีปัญหาไฟตก ไฟกระชาก”
เพิ่มหน่วยธุรกิจใหม่รับเทรนด์
“วัตสัน” กล่าวด้วยว่า เดิมเสาหลัก 5 อย่างของบริการคลาวด์ คือ operational excellence, security, reliability, performance efficiency และ cost optimization ที่เป็นเรื่องของความเร็ว ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย เป็นสิ่งที่บริษัทต้องทำอยู่แล้ว ล่าสุดได้เพิ่มเสาใหม่ คือ sustainability optimized เข้าไป เพราะลูกค้าต้องการให้ออกแบบแอปพลิเคชั่นที่ไม่ได้เน้นแค่ “ความเร็ว” แต่มองถึงการใช้พลังงานด้วยว่าใช้เท่าไหร่ และอย่างไร
“หลายอย่างเปลี่ยนไป เมื่อก่อน ถ้าเราอยากพัฒนาแอปขึ้นมา ก็อยากทำให้มันทำงานได้จบเร็วที่สุด ต่อมาด้วยเงื่อนไขของความยั่งยืน ลูกค้าต้องคิดเรื่องการลดพลังงาน หรือการลดการปลดปล่อยคาร์บอน เราจึงเพิ่ม AWS well-architected framework สถาปัตยกรรมใหม่ออกมาเพื่อช่วยคิดและทำรายงานออกมาเลยว่า บนการทำแอปพลิเคชั่นแบบเดียวกันหากลดความรวดเร็วลงจะช่วยประหยัดพลังงานเท่าไหร่ ลดคาร์บอนเท่าไหร่ พอลูกค้าเห็นรายงาน เขาอาจนำไปวางแผนต่อได้”
เช่น จะลดความรวดเร็วในการทำงานได้เท่าไหร่ เพื่อแลกกับสถิติการลดใช้พลังงาน ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะหลายองค์กรพูดเรื่องความยั่งยืน โดยเฉพาะองค์กรที่ต้องใช้งานซอฟต์แวร์ หรือนักพัฒนาระบบที่ไม่สามารถทำให้ความยั่งยืนเป็นรูปธรรมได้ แต่หากมีเฟรมเวิร์ก มีสถาปัตยกรรมเกี่ยวกับการ optimized ความยั่งยืนจะช่วยให้องค์กรนำไปพัฒนา เพื่อติดตามคาร์บอนฟุตพรินต์ได้ ถือเป็นหนึ่งหน่วยธุรกิจใหม่ตามเทรนด์ของโลก
กลยุทธ์ด้านความยั่งยืน
“วัตสัน” กล่าวด้วยว่า กลยุทธ์ด้านความยั่งยืนของธุรกิจคลาวด์ มีทั้ง “ในตัวคลาวด์” เอง ที่มีการบริหารจัดการเพื่อลดการใช้พลังงาน ลดการปลดปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ ถัดมาคือ “บนคลาวด์” ที่ให้บริการลูกค้าก็สามารถช่วยธุรกิจต่าง ๆ โดย S&P Global Intelligence พบว่าการย้ายปริมาณงานในองค์กรไปยังบริการของ AWS สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของปริมาณงานได้เกือบ 80% และสูงสุดถึง 96%
สุดท้ายคือ “ผ่านคลาวด์” ที่มีการสร้างเฟรมเวิร์ก และเพิ่มเสาหลักด้านความยั่งยืน เพื่อช่วยให้นักพัฒนาจากภายนอกหรือลูกค้าสามารถพัฒนาระบบและสร้างโซลูชั่นด้านความยั่งยืนได้ ตั้งแต่การติดตามคาร์บอน การอนุรักษ์พลังงาน ไปจนถึงการลดของเสีย โดยใช้บริการของ AWS ในการรับข้อมูล วิเคราะห์ และจัดการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืน
นอกจากนี้ ตามข้อมูลจาก Accenture พบว่า ในปัจจุบันลูกค้าเริ่มให้ความสำคัญกับ “ความลงตัวระหว่างเทคโนโลยีดิจิทัลและความยั่งยืน” มากขึ้นเรื่อย ๆ โดยบริษัทที่พัฒนาสองอย่างนี้ควบคู่กันไป (twin transformers) มีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าบริษัทอื่น ๆ 2.5 เท่า
“วัตสัน” ทิ้งท้ายว่า ภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันอาจทำให้ธุรกิจต้องเลือกว่าจะจัดลำดับความสำคัญอย่างไร ระหว่างความรวดเร็วในการให้บริการเพื่อให้ธุรกิจไปรอด แต่เมื่อเวลาผ่านไป หากต้องทำธุรกิจกับลูกค้าที่อยู่ใต้เงื่อนไขด้านความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกไปยุโรป หรือประเทศใดที่เข้มงวดเรื่องนี้ ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องหันมาใช้โซลูชั่นด้านความยั่งยืน เพื่อใช้อ้างอิงให้เป็นไปตามกรอบกติกาของโลก