ช้อปปี้-ลาซาด้า ประกาศขึ้นค่าธรรมเนียมการขายรอบใหม่

Shopee-Lazada

ยักษ์แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ “ช้อปปี้-ลาซาด้า” กอดคอปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการขายรอบใหม่ ต.ค. กูรูอีคอมเมิร์ซ “ภาวุธ” ชี้เป็นการปรับครั้งที่ 2 ในรอบปีนี้ ขยับเพิ่มเบ็ดเสร็จ 150% ชี้กระทบพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ พร้อมฝากการบ้านภาครัฐช่วยดูแล

วันที่ 19 กันยายน 2566 ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า Shopee (ช้อปปี้) และ Lazada (ลาซาด้า) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่เตรียมปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการขายรอบใหม่ โดย Lazada แจ้งว่าจะปรับขึ้นในวันที่ 1 ต.ค. ขณะที่ Shopee จะเริ่มในวันที่ 15 ต.ค. 2566

รายงานข่าวจาก Lazada เปิดเผยว่า จะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสินค้าใน LazMall กลุ่มสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะปรับขึ้นจาก 4% เป็น 5%, สินค้าอุปโภคบริโภค, สินค้าแฟชั่น และสินค้าทั่วไป ปรับขึ้นจาก 6% เป็น 7% มีผล 1 ต.ค.นี้

ADVERTISMENT

Shopee เพิ่มค่าธรรมเนียมการให้บริการประเภทค่าธรรมเนียมการขายสำหรับผู้ขายประเภท Nonmall โดยจะคิดค่าธรรมเนียมในอัตราที่แตกต่างกันตามหมวดหมู่สินค้า เพิ่มเติมจากค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บอยู่ในปัจจุบัน โดยจะเริ่มเรียกเก็บตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2566 เป็นต้นไป

ทั้งค่าธรรมเนียมการขายจะมีการคำนวณและเก็บแยกจากค่าธรรมเนียมธุรกรรม โดย Shopee จะเก็บค่าธรรมเนียมธุรกรรมที่อัตรา 3% สำหรับธุรกรรมปกติ (ไม่มีการผ่อนชำระ)

ค่าธรรมเนียมการขายจะมีการคำนวณและเก็บแยกจากค่าธรรมเนียมบริการ ในกรณีที่ท่านเข้าร่วมโปรแกรมส่งเสริมการขายต่าง ๆ ของ Shopee

ADVERTISMENT

นายภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท TARAD.com ได้ โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า Lazada และ Shopee เพิ่งขึ้นราคาค่าธรรมเนียมไปในวันที่ 1 เมษายน 2566 ที่ผ่านมา โดยขึ้นราคาพร้อมกันทั้ง 2 เว็บไซต์ โดยขึ้นราคา +50%-100% เลยทีเดียว

ADVERTISMENT

“ออกตัวก่อนนะครับว่าผมเป็นแฟน Shopee ซื้อเป็นประจำ แต่เนื่องจากตัวเองเป็นคนที่ติดตามวงการอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยมาอย่างยาวนาน และผมคาดการณ์ไว้ตั้งแต่ปีก่อนว่าตอนนี้ธุรกิจ e-Marketplace ของประเทศไทยจะถูกผูกขาดโดย Shopee และ Lazada และจะมีการขึ้นราคาค่าบริการอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่เหลือผู้เล่นอยู่เพียงแค่ 2 เจ้าเท่านั้น”

Lazada และ Shopee เพิ่งขึ้นราคาค่าธรรมเนียมไปในวันที่ 1 เมษายน 2566 ที่ผ่านมานี่เอง โดยขึ้นราคาพร้อมกันทั้ง 2 เว็บไซต์ โดยขึ้นราคา +50%-100% เลยทีเดียว

แต่ที่โหดกว่านั้น Shopee ประกาศขึ้นราคาค่าธรรมเนียมอีกครั้งในวันที่ 15 ตุลาคม 2566 นั่นหมายถึงผ่านไปเพียงแค่ 7 เดือนเอง ช้อปปี้ก็ประกาศขึ้นราคาอีกครั้ง โดยเมื่อเทียบจากครั้งแรกจนถึงครั้งนี้ราคาเพิ่มขึ้นไปถึง +150% เลยทีเดียว

ซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของผมก่อนหน้านี้ว่า Shopee จะเริ่มกลับมาบุกตลาดและใช้เม็ดเงินการลงทุนอีกครั้ง หลังจากที่ลดค่าใช้จ่ายเพื่อทำกำไรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่การกลับมาครั้งนี้ของช้อปปี้จะเป็นการเพิ่มรายได้ไปพร้อม ๆ กัน จากการเพิ่มค่าบริการและค่าธรรมเนียม (ที่เห็นตอนนี้ Lazada ยังไม่ขึ้นตาม แต่คาดว่าอาจจะขึ้นตามเร็ว ๆ นี้)

อาจจะเป็นเพราะ Shopee เป็นเบอร์ 1 แล้วมี Market Share ด้านการค้าออนไลน์ของประเทศไทยไปแล้ว ประกอบกับตัวเองต้องการเพิ่มการเติบโตและสร้างผลกำไรไปพร้อม ๆ กัน จึงมีกลยุทธ์ในการเพิ่มราคาค่าบริการอย่างรวดเร็ว

“คำถามคือธุรกิจ e-Market Place ของไทยที่ครอบคลุมผู้ใช้บริการคนไทยมากกว่า 40 ล้านคน ที่มีผู้ให้บริการเหลือเพียงแค่ 2 ราย หรือจะเรียกว่าผูกขาดไปแล้ว วันหนึ่งอยู่ ๆ นึกจะเพิ่มราคาค่าบริการก็ประกาศเพิ่มได้เลย และที่ค่อนข้างจะน่าเกลียดคือประกาศเพิ่มราคาติดต่อกันภายใน 7 เดือน ดูเหมือนจะเป็นการซ้ำเติมกับพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ โดยที่ไม่มีใครเข้าไปควบคุม”

คำถามคือหน่วยงานรัฐหน่วยงานไหนที่จะเข้าไปพูดคุยเจรจากับ Shopee ในครั้งนี้จะเป็นกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ หรือสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า ใครจะเป็นคนที่เข้าไปคุยกับ Shopee ?

และว่าเรื่องการควบคุมธุรกิจที่แทบจะผูกขาดอย่างธุรกิจ e-Marketplace ที่ให้บริการโดยบริษัทต่างชาติ 100% น่าจะมีการพูดคุยแล้วประกาศให้ชัดเจนว่าบริการลักษณะนี้ถือเป็นบริการที่ถูกควบคุมโดยภาครัฐ

นายภาวุธกล่าวด้วยว่า ขอพูดในมุมมองหนึ่งที่ทั้ง Shopee และ Lazada ก่อนที่เขาจะมาถึงได้ ณ วันนี้ เขาเองก็ลงทุนไปเป็นหมื่นหมื่นล้าน (Shopee เปิดมา 8 ปี 7 เดือน ขาดทุนสะสมรวม -17,766 ล้านบาท แต่ปี 2565 กำไร 2,380 บาท, Lazada เปิดให้บริการมา 11 ปี 6 เดือน ขาดทุนสะสม -15,980 ล้านบาท ปี 2565 กำไร 413 ล้านบาท)

ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ
ภาวุธ พงษ์วิทยภาณุ ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท TARAD.com

สูตรการปรับขึ้นค่าธรรมเนียม Shopee (ช้อปปี้)

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากข้อมูลในศูนย์การเรียนรู้ผู้ขายของ Shopee ระบุว่า ในการขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม Shopee ผู้ขายต้องชำระค่าธรรมเนียมสำหรับบริการต่าง ๆ ตามอัตราที่ Shopee กำหนด ได้แก่ ค่าธรรมเนียมการขาย, ค่าธรรมเนียมบริการ และค่าธรรมเนียมธุรกรรม รายละเอียดดังนี้

ค่าธรรมเนียมการขาย

ค่าธรรมเนียมที่ผู้ขายต้องชำระเมื่อขายสินค้าได้ โดยอัตราค่าธรรมเนียมการขายและภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) จะคำนวณจากราคาสินค้าหลังจากหักลบมูลค่าส่วนลดหรือโปรโมชั่นที่สร้างโดยผู้ขาย เช่น โค้ดส่วนลด หรือโปรโมชั่นส่วนลด เรียบร้อยแล้ว และหักออกจากยอดรายรับโดยอัตโนมัติ

ตัวอย่างคำสั่งซื้อ (อัตราสำหรับร้านค้าทั่วไป)

ราคาปกติของสินค้า 110 บาท
โปรโมชั่นโดยผู้ขาย
โปรโมชั่นส่วนลด -10 บาทจากราคาปกติ
โค้ดส่วนลดร้านค้า -20 บาทจากราคาปกติ

โปรโมชั่นโดย Shopee
โค้ดส่วนลดของ Shopee -5 บาทจากราคาปกติ
ใช้ Coins จ่าย -1 บาท (100 Coins)
โปรโมชั่นค่าจัดส่ง
โค้ดส่งฟรี -24 บาท
VAT = 7%

การคำนวณดังตารางนี้


หมายเหตุ

  • ผู้ซื้อสามารถใช้โค้ดส่งฟรีเมื่อซื้อสินค้าจากร้านค้าที่เข้าร่วมโปรแกรมส่งฟรีพิเศษ โดยผู้ขายจะต้องชำระค่าธรรมเนียมบริการเมื่อเข้าร่วม

ค่าธรรมเนียมบริการ

ค่าธรรมเนียมบริการคืออัตราค่าใช้จ่ายที่ผู้ขายจำเป็นต้องชำระสำหรับบริการจาก Shopee เมื่อเข้าร่วมโปรแกรมส่วนลดร้านโค้ดคุ้ม และส่งฟรีร้านโค้ดคุ้ม

ค่าธรรมเนียมบริการจะคำนวณอัตราเปอร์เซ็นต์จากราคาสินค้าที่ขายได้เมื่อผู้ซื้อสั่งซื้อ โดยมีการคิดอัตราที่แตกต่างกันไปตามหมวดหมู่สินค้าและโปรแกรมที่เข้าร่วม

ค่าธรรมเนียมบริการจะถูกหักจากยอดเงินที่ต้องได้รับสำหรับคำสั่งซื้อเมื่อผู้ขายจัดการคำสั่งซื้อสำเร็จ

หมายเหตุ

  • ร้านค้าทางการจำเป็นต้องชำระค่าธรรมเนียมตามอัตราสำหรับร้านค้าทางการ
  • อัตราค่าธรรมเนียมบริการจะคำนวณจากหมวดหมู่สินค้าและหมวดหมู่ย่อยที่แสดงบน Seller Centre ซึ่งอาจแตกต่างจากชื่อหมวดหมู่ที่ผู้ซื้อเห็นบนแอปพลิเคชั่น Shopee
  • อัตราค่าธรรมเนียมการบริการและค่าธรรมเนียมสูงสุดจะคำนวณจากราคาสินค้าแต่ละชิ้น

ค่าธรรมเนียมธุรกรรม

ค่าธรรมเนียมธุรกรรมคือค่าใช้จ่ายที่ผู้ขายต้องชำระสำหรับการทำธุรกรรมให้กับผู้ให้บริการการชำระเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ บน Shopee

อัตราค่าธรรมเนียมธุรกรรมจะอยู่ที่ 3% ของราคาคำสั่งซื้อซึ่งรวมถึงค่าจัดส่งชำระโดยผู้ซื้อ หลังจากหักลบกับการใช้โค้ดส่วนลดจาก Shopee หรือ Shopee Coins หากชำระเงินแบบปกติ (ไม่มีการผ่อนชำระ)

ธุรกรรมที่ชำระผ่านช่องทาง SPayLater จะมีค่าธรรมเนียม 3% และช่องทาง Special SPayLater มีค่าธรรมเนียม 3-6% โดยจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาที่ผู้ซื้อเลือกชำระเงิน นอกจากนี้ ผู้ขายจะต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นอัตรา 7% เพิ่มเติมจากอัตราค่าธรรมเนียมธุรกรรม

ตัวอย่าง การคำนวณค่าธรรมเนียมธุรกรรมเมื่อผู้ซื้อชำระเงินสำหรับคำสั่งซื้อ 100 บาท
ยอดคำสั่งซื้อ : 100 บาท
ค่าธรรมเนียมธุรกรรม : 100 x 3% = 3 บาท
VAT (7%) : 3 x 7% = 0.21 บาท
ค่าธรรมเนียมธุรกรรม + VAT : 3 + 0.21 = 3.21 บาท

ค่าธรรมเนียมธุรกรรมจะถูกหักจากยอดเงินที่ผู้ซื้อชำระสำหรับคำสั่งซื้อก่อนจะเข้าสู่ Seller Balance ของท่าน โดยท่านจะสามารถตรวจสอบรายละเอียดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ระบบหักจากรายรับของท่านได้จากหน้า My Tax Invoices

หมายเหตุ

  • ผู้ขายทุกท่านจำเป็นต้องชำระค่าธรรมเนียมธุรกรรมสำหรับทุกคำสั่งซื้อ โดยคำนวณแยกกับค่าธรรมเนียมบริการที่อาจต้องชำระเพิ่มเติม หากเข้าร่วมโปรแกรมส่งเสริมการขาย
  • การตรวจสอบรายการหักค่าธรรมเนียมจากหน้า My Tax Invoices
  • ท่านจะสามารถตรวจสอบรายการค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ได้จากใบกำกับภาษีสำหรับคำสั่งซื้อของร้านค้า
  • ดาวน์โหลดและตรวจสอบรายการในใบกำกับภาษีของท่าน โดยเข้าสู่หน้ารายรับของฉัน ภายใน Seller Centre แล้วเลือกที่ My Tax Invoices