Temu เป็นใคร มาจากไหน ผู้ประกอบการไทยควรรู้อะไรบ้าง ?

การเข้ามาให้บริการในไทยอย่างเงียบ ๆ ของผู้เล่นรายใหม่อย่าง “เทมู่” (Temu) แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซจากจีน สร้างความตื่นตัวในวงการธุรกิจไทยหลากหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการทะลักเข้ามาของสินค้าจีนราคาถูกที่จะทวีความรุนแรงขึ้นหรือไม่ ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวอย่างไร หรือแม้แต่การเข้ามาสู้ศึกในสังเวียนอีคอมเมิร์ซของ Temu ในไทย ที่มีผู้เล่นรายใหญ่ครองตลาดอยู่แล้ว จะส่งผลต่อภูมิทัศน์ของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในไทยหรือไม่

Temu เป็นใคร มาจากไหน

“ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” ที่ปรึกษา และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า Temu เป็นแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมีบริษัทแม่ คือ PDD Holdings (Pinduoduo) เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ในตลาดอีคอมเมิร์ซระดับโลก

ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา
ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา

“คนในวงการอีคอมเมิร์ซตื่นตัวกับการเข้ามาของ Temu เนื่องจาก Temu มีศักยภาพในการแข่งขันสูงทั้งในด้านราคา การจัดส่งที่รวดเร็ว และการบริการลูกค้า ทำให้ดึงดูดผู้ใช้งานจำนวนมากได้ในระยะเวลาสั้น ๆ”

สำหรับ Pinduoduo ก่อตั้งในปี 2558 และจดทะเบียนในตลาดหุ้น Nasdaq เมื่อปี 2561 ถือเป็นแพลตฟอร์มที่มีจุดเด่นในการรวมคำสั่งซื้อแบบ Group Buying หรือซื้อเป็นกลุ่มแล้วจะได้ราคาสินค้าถูกลงผ่านการดีลตรงกับโรงงาน ส่วน Temu เป็นแพลตฟอร์มที่เน้นทำตลาดในต่างประเทศ นอกจีน จดทะเบียนบริษัทที่หมู่เกาะเคย์แมน มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ และเริ่มเข้าไปให้บริการในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2565 ปัจจุบันให้บริการในเกือบ 50 ประเทศทั่วโลก

Temu บุกตลาดในประเทศต่าง ๆ ผ่านสโลแกน “Shop Like a Billionaire” หรือทุกคนสามารถช็อปปิ้งได้ประดุจเศรษฐี เพราะสินค้าราคาถูกมาก มีการทุ่มงบฯโฆษณาในช่องทางต่าง ๆ มูลค่ามหาศาล ก็ทำให้ทั้ง Temu และ Pinduoduo เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในจีน Pinduoduo เริ่มขยับชิงส่วนแบ่งจากเจ้าตลาดเดิมอย่าง “อาลีบาบา” (Alibaba) และ JD.com อีกทั้งช่วง พ.ค. 2567 ยังมีจังหวะที่มูลค่าในตลาดหลักทรัพย์ ขยับมาอยู่ที่ 2.08 แสนล้านเหรียญสหรัฐ แซงหน้าอาลีบาบาที่ 1.96 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

กลยุทธ์-จุดแข็งของ Temu

“ธนาวัฒน์” กล่าวต่อว่า จุดแข็งของ Temu อยู่ที่การนำเสนอสินค้าที่หลากหลาย ราคาเข้าถึงได้ และมีการจัดส่งอย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการจัดการโลจิสติกส์และการบริการลูกค้า ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้ได้รับประสบการณ์ช็อปปิ้งที่ราบรื่นและสะดวกสบาย โดยในปีที่ผ่านมา Temu เข้าสู่ตลาดอาเซียนผ่านการให้บริการในฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ไทยถือเป็นประเทศที่ 3

Advertisment

“วิธีการบุกตลาดของ Temu ในอาเซียน เน้นไปที่การทำการตลาดให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ใช้โปรโมชั่นที่น่าสนใจ และสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องของคุณภาพและบริการที่ดี โดยในฟิลิปปินส์และมาเลเซีย ใช้กลยุทธ์การจัดส่งที่รวดเร็ว การตั้งราคาที่แข่งขันได้ และทำการตลาดผ่านช่องทางออนไลน์อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สร้างฐานผู้ใช้ได้อย่างรวดเร็ว”

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ทดลองสั่งสินค้าบน Temu เมื่อวันที่ 30 ก.ค. 2567 พบว่า ภาพรวมของแพลตฟอร์มมีการปรับให้ใช้งานในไทยได้ง่าย สามารถล็อกอินได้จากหมายเลขโทรศัพท์ บัญชีกูเกิล (Google), เฟซบุ๊ก (Facebook), Apple ID และ X

Advertisment

ร้านค้าส่วนใหญ่บนแพลตฟอร์มเป็นผู้ประกอบการในจีน โดยสินค้าแสดงราคาเป็นสกุลเงินบาทเรียบร้อย มีการนำเสนอส่วนลดมากกว่า 90% มาพร้อมบริการส่งฟรี การันตีสินค้าส่งถึงมือประมาณ 1 สัปดาห์ สามารถรวมออร์เดอร์ข้ามร้านได้ และใช้ J&T Express เป็นผู้ให้บริการขนส่งสินค้า สามารถชำระเงินได้หลากหลาย
ช่องทาง เช่น พร้อมเพย์ ทรูมันนี่ (TrueMoney) บัตรเครดิต/บัตรเดบิต เป็นต้น

ทำไม Temu ต้องมา “ไทย”

ด้าน “กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ” นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย แสดงความเห็นกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ไทยเป็นประเทศที่อยู่ในแผนการขยายตลาดในต่างประเทศของ Temu อยู่แล้ว เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการเติบโตของอีคอมเมิร์ซอย่างรวดเร็ว แม้ขนาดตลาดอาจไม่ได้ใหญ่มาก แต่ก็มีปริมาณการใช้จ่ายแต่ละครั้ง (Basket Size) ค่อนข้างสูง

กุลธิรัตน์ ภควัชร์ไกรเลิศ

ก่อนหน้านี้ Temu ประสบความสำเร็จกับการบุกตลาดในเอเชีย-แปซิฟิกเป็นอย่างมาก เช่น ออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่การค้าขายผ่านอีคอมเมิร์ซไม่ได้ชูจุดเด่นเรื่องราคาถูก ทำให้ Temu ที่มีตัวเลือกสินค้าและราคาหลากหลายมากกว่า กลายเป็นแพลตฟอร์มที่มัดใจคนในประเทศได้

“ส่วนตัวมองว่า Temu เข้ามาทำตลาดในไทยเร็วกว่าที่คาดไว้เล็กน้อย แต่ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนถึงความพร้อมของแพลตฟอร์มได้ดี บริษัทในจีนจะมีไมนด์เซตว่าต้องเป็นที่ 1 ในตลาดประเทศของตนเองก่อน ถึงจะออกไปตีตลาดนอกประเทศได้ ซึ่ง Pinduoduo ออกไปทำตลาดในต่างประเทศในจังหวะที่มีทั้งระบบการจัดการหลังบ้านและระบบการจัดการคลังสินค้าที่ดี จึงทำให้สามารถให้บริการในประเทศต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คล้าย ๆ กับช่วงที่แพลตฟอร์มอื่น ๆ เช่น ลาซาด้า (Lazada) และช้อปปี้ (Shopee) เข้าไทยมาในจังหวะที่มีองค์ความรู้พร้อมแล้ว”

สอดคล้องกับข้อมูลรายงาน “Ecommerce in Southeast Asia 2024” ของ Momentum Works ผู้ให้บริการคำปรึกษาทางธุรกิจในสิงคโปร์ระบุว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยในปี 2566 อยู่ที่ 1.9 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตจากปีก่อน 34.1% มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของภูมิภาค รองจากอินโดนีเซีย โดยในปี 2566 Shopee ครองส่วนแบ่งตลาดอีคอมเมิร์ซในไทย 49% ตามมาด้วย Lazada 30% และ TikTok Shop 21%

ภาพการแข่งขันจะเปลี่ยนหรือไม่

“กุลธิรัตน์” มองว่า การแข่งขันในตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยดุเดือดมานานแล้ว การที่มีแพลตฟอร์มใหม่เข้ามาน่าจะเป็นการสร้างตัวเลือกให้กับผู้บริโภคมากขึ้น หรือถ้าจะกระทบกับการให้บริการของแพลตฟอร์มที่ทำตลาดอยู่แล้ว น่าจะแบ่งเทียร์ของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากมากไปน้อย เป็น 3 ลำดับ ดังนี้

ลำดับที่ 1 ได้แก่ แพลตฟอร์มที่เน้นขายแบบ Cross-Border เช่น Aliexpress และ Amazon หรือกลุ่มที่ต้องใช้บริการชิปปิ้งอย่าง Taobao

ลำดับที่ 2 ได้แก่ แพลตฟอร์มที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าที่มีความอ่อนไหวด้านราคา (Price Sensitive) และไม่ได้เจาะจงว่าต้องซื้อสินค้าจากแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง เช่น TikTok Shop

และ ลำดับที่ 3 ได้แก่ แพลตฟอร์มที่เน้นตลาดในประเทศ เช่น Shopee, Lazada และ LINE

“ลำดับที่ 1 มีโมเดลธุรกิจและตลาดที่คล้ายกับ Temu มาก คือส่งสินค้าตรงจากประเทศต้นทางมายังปลายทาง ทำให้มีโอกาสได้รับผลกระทบมากที่สุด อีกทั้ง Temu ยังใช้หลักจิตวิทยาในการเจาะกลุ่ม Price Sensitive เยอะมาก เช่น ราคาวันนี้อาจถูกกว่าวันพรุ่งนี้ ทำให้ลูกค้าต้องรีบตัดสินใจซื้อ และที่สำคัญ Temu ยังมีบริการรีฟันด์ได้สูงสุดถึง 90 วัน ขณะที่ Aliexpress ยังให้ประมาณ 15 วัน”

ผู้ประกอบการต้องปรับตัวอย่างไร

สำหรับผู้ประกอบการไทยที่กังวลว่าการเข้ามาให้บริการของ Temu จะทำให้สินค้าจากจีนเข้าไทยมากขึ้น “กุลธิรัตน์” กล่าวว่า ไม่อยากให้ผู้ประกอบการไทยตื่นตระหนกว่าจะกระทบกับการทำธุรกิจของตนเอง แต่อยากให้มองว่าเป็นจังหวะที่ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวเพื่อขายสินค้าในต่างประเทศผ่านการทำ Cross-Border e-Commerce ได้

“แม้ว่าตอนนี้การที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถนำสินค้าไปขายบน Temu ได้หรือไม่ จะยังไม่มีความชัดเจนออกมา แต่ทางสมาคมกำลังร่วมมือกับพาร์ตเนอร์รายต่าง ๆ เพื่อพัฒนาโครงการที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยจดทะเบียนบริษัทในฮ่องกงและจีนง่ายขึ้น ซึ่งน่าจะเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยสามารถค้าขายข้ามพรมแดนได้มากขึ้นด้วย”