
กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องความซับซ้อนในการเดินทาง เพราะนอกจากจะมีตรอกซอกซอยยิบย่อยแล้ว ยังมีพื้นที่ลับซ่อนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันบริการขนส่งสาธารณะไม่สามารถให้บริการได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ และยังต้องใช้ยานพาหนะขนาดเล็ก (Micromobility) เช่น มอเตอร์ไซค์ หรือรถตุ๊กตุ๊ก ในการเชื่อมต่อการเดินทางให้สมบูรณ์
นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นของสตาร์ตอัพกลุ่มหนึ่งที่พัฒนาโซลูชั่นออกมา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวจากความสนใจเรื่องรถและเมืองเป็นทุนเดิม นั่นคือ บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด หรือ “มูฟมี” (MuvMi) บริการเรียกรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ที่ปัจจุบันให้บริการใน 11 พื้นที่ทั่วกรุงเทพฯ เช่น จุฬาฯ-สามย่าน, อารีย์-ประดิพัทธ์ และสุขุมวิท เป็นต้น
“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “ศุภพงษ์ กิตติวัฒนศักดิ์” ผู้ร่วมก่อตั้ง และ Business Advisor บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่น “มูฟมี” หลากหลายแง่มุม ตั้งแต่จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งบริษัทไปจนถึงเป้าหมายที่ต้องการเป็นมากกว่า “แพลตฟอร์มเรียกรถ”

นั่นคือการเป็นผู้ให้บริการด้านการเดินทาง (Mobility Services Provider) ที่ช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ของคนในเมืองดีขึ้น ด้วยการเดินทางระยะสั้น (Microtransit) ที่จะเข้ามาเสริมระบบขนส่งมวลชนหลัก มีเป้าหมายอยากเห็นคนใช้บริการขนส่งมวลชนมากกว่าการใช้รถส่วนตัว ลดปัญหาการจราจร ลดมลพิษ ทำให้คนมีเวลามากขึ้น
สตาร์ตอัพของกลุ่มคุณพ่อ
“ศุภพงษ์” เล่าว่า 3 ผู้ก่อตั้งเป็นเพื่อนกันมาตั้งแต่ ม.ปลาย มีความสนใจเรื่องรถ และมองว่าการเดินทางในประเทศไทยยังไม่สะดวก ทำให้หลายคนต้องใช้รถส่วนตัว แม้รัฐบาลจะลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเดินทางมาแล้วหลายสิบปี
“ช่วงที่มาจับกลุ่มคุยกันยังเป็นช่วงที่ลูก ๆ ยังเล็กมาก มีความเป็นมนุษย์พ่อที่ไม่อยากให้ Next Generation ต้องเติบโตมาในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ เราแต่ละคนอยากใช้ความรู้ความสามารถที่มีมาทำสิ่งนี้ด้วยกัน บังเอิญว่าหนึ่งในผู้ก่อตั้งได้พบกับคุณเมธา เจียรดิฐ ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องการพัฒนาระบบ ขณะศึกษาระดับปริญญาเอกที่ต่างประเทศ จึงชักชวนให้มาทำด้วยกัน จึงถือเป็นสมการที่ลงตัว ผสมระหว่างคนที่จบวิศวกรรมยานยนต์ ระบบอัตโนมัติ และคนที่มีประสบการณ์ในการทำธุรกิจ”
ทั้งหมดเชื่อว่าน่าจะพัฒนาโซลูชั่นบางอย่างมาเติมเต็มช่องว่าง และแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางได้
ก้าวแรกของมูฟมี
บรรดาผู้ร่วมก่อตั้งเริ่มตั้งทีม และพูดคุยไอเดียกันตั้งแต่ปี 2559 กระทั่งได้ทุนก้อนแรกจาก NIA หรือสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) เพื่อสร้างโปรโตไทป์ของรถสามล้อไฟฟ้า และแอปพลิเคชั่น ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่แอปพลิเคชั่นเรียกรถต่าง ๆ ตบเท้าเข้าสู่ตลาดประเทศไทย จึงเชื่อว่าจะทำให้ผู้บริโภคมีความเข้าใจในเชิงคอนเซ็ปต์เกี่ยวกับเทคโนโลยีแล้ว
“จากนั้นเราก็เริ่มนำแอปไปทดลองในตลาดที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวก่อน ตอนนั้นชื่อว่า Tuk Tuk Hop ไปสวมกับการให้บริการรถตุ๊กตุ๊กปกติ ทำอยู่ประมาณ 2 ปี ได้เรียนรู้ว่าต้องทำอะไรบ้าง หรือจัดการหลังบ้านอย่างไร จนรถ EV ของเราเองผลิตเสร็จจึงเริ่มให้บริการในชื่อ มูฟมี ในปี 2561”
“จุฬาฯ” แซนด์บอกซ์แรก
โดยเริ่มทดสอบการใช้งานในพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งกำลังผลักดันด้านการพัฒนาต้นแบบเมืองอัจฉริยะ (Smart City)
“เราเองที่เป็นศิษย์เก่าจุฬาฯ และมหาวิทยาลัยเห็นตรงกันว่ามีปัญหาเรื่องการเดินทางที่ต้องแก้ไข แม้ในจุฬาฯ จะมี ‘รถป๊อป’ (CU Pop Bus) รับส่งฟรีในมหาวิทยาลัยอยู่แล้ว แต่ก็ยังต้องการตัวเลือกที่ตอบโจทย์มากกว่า จุฬาฯ เป็นพื้นที่ที่ท้าทายมาก เพราะต้องให้บริการแข่งกับของฟรี และทำให้ทุกคนเข้าใจคอนเซ็ปต์ของ Ride Sharing หรือการแชร์รถร่วมกันไปพร้อม ๆ กัน เพื่อทำให้ค่าโดยสารถูกที่สุด ทุกคนสามารถเข้าถึงบริการได้”
อันจะนำไปสู่เป้าหมายใหญ่ที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดจำนวนรถบนท้องถนน เมื่อทุกคนรู้สึกว่าการแชร์รถกับคนอื่นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในช่วงแรกของการให้บริการในจุฬาฯ ต้องรองรับความต้องการของผู้ใช้หลักพันคน แต่ “มูฟมี” มีรถให้บริการแค่ 2 คันเท่านั้น เพราะต้องผลิตรถเองทุกขั้นตอน จึงใช้เวลาในการผลิตนานมาก กระทั่งมาเจอพาร์ตเนอร์ (ไทยรุ่ง) ถึงเริ่มสเกล และมีรถให้บริการมากขึ้น
ความแตกต่างของแต่ละพื้นที่
“ศุภพงษ์” เล่าต่อว่า หลังจากเป็นที่รู้จักในฝั่งจุฬาฯ แล้ว “มูฟมี” ก็เริ่มวางแผนขยายการให้บริการไปยังพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีแคแร็กเตอร์ต่างกัน เช่น แถบซอยอารีย์ซึ่งเป็นพื้นที่แห่งที่สองที่ขยายไปให้บริการ ถือเป็นย่านที่เรียกว่า “Second ทองหล่อ” คือมีร้านอาหาร คาเฟ่ใหม่ ๆ มาเปิดเยอะ เริ่มเห็นการเติบโตของธุรกิจ แต่ปัญหาคือ “ไม่มีที่จอดรถ ถนนไม่พอใช้” รวมถึงมีบ้านของผู้เฒ่าผู้แก่ที่อาศัยในพื้นที่มากว่า 40-50 ปีอยู่ด้วย จากนั้นจึงขยายไปให้บริการแถบอโศก
“ตอนขยับไปแถวอโศก ช่วงแรก ๆ กังวลมาก เพราะเป็นพื้นที่ที่การจราจรหนาแน่น แต่บังเอิญว่าเราไปเริ่มในช่วงโควิด-19 ระบาดพอดี เป็นช่วงที่ถนนในอโศกโล่งมาก จากจุดนั้นทำให้เราโตที่สุขุมวิทมากขึ้นเรื่อย ๆ มีทั้งคนในพื้นที่ และชาวต่างชาติใช้บริการ หลังจากมูฟมีให้บริการมาแล้วหลายปี เราเริ่มเข้าไปแทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งของคอมมิวนิตี้ในย่านนั้น ๆ เช่น นิสิตจุฬาฯ และกลุ่มแม่บ้านแถวอารีย์ เป็นต้น”
เมื่อดู “ดาต้า” จากการใช้งานยังสะท้อนถึงความสัมพันธ์ของชีวิตและเมือง ทำให้เห็นว่าในช่วงวันทำงานจะเห็นว่าเขาใช้ชีวิตในย่านนี้ แต่ในวันหยุดจะไปใช้ชีวิตอีกย่านหนึ่ง
“ที่ผ่านมามูฟมีใช้งบฯกับการโปรโมตหรือทำการตลาดน้อยมาก แต่เราสามารถโตได้จากการบอกต่อแบบปากต่อปาก อย่างกลุ่มนิสิตก็มีการบอกต่อข้ามคณะ หรือย่านอื่น ๆ ก็มีการบอกต่อในชุมชน และตั้งแต่เริ่มให้บริการมาเรายอดดาวโหลดเกิน 7.5 แสนครั้ง และมียอดผู้ใช้รายเดือนเกิน 7 หมื่นคน (ข้อมูล ณ ก.ค. 2567)”
“บ้านปู-ไทยรุ่ง” พาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่ง
สำหรับการผลิตและออกแบบรถสามล้อไฟฟ้า ดำเนินการโดย บริษัท บิซ เน็กซ์ มอเตอร์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกระหว่างเครือไทยรุ่งกรุ๊ป ผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติไทย และบริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้ เทค จำกัด
“ไทยรุ่ง เป็นผู้ผลิตรถให้เรา ช่วยให้เราสามารถสเกลการให้บริการจากรถ 7 ที่นั่ง ที่ออกแบบและพัฒนาเองได้อย่างรวดเร็ว ต้องบอกว่าเราเป็นส่วนเล็ก ๆ ในการผลิตของเขามาก แต่ด้วยแนวคิดของมูฟมี และความต้องการของไทยรุ่งที่จะเข้าสู่ตลาดรถ EV ตรงกัน จึงทำให้เราเป็นพาร์ตเนอร์กัน”
ปัจจุบันมูฟมีมีรถให้บริการ 500-600 คัน โดยจะมีการจัดสรรตามช่วงเวลาและความต้องการของแต่ละพื้นที่ เช่น ช่วงพีกไทม์ของย่านจุฬาฯ ก็อาจจะมีรถให้บริการถึง 100 คัน เป็นต้น
ไม่ใช่เท่านั้น บริษัท บ้านปู เน็กซ์ จำกัด ผู้ให้บริการ “โซลูชั่นพลังงานฉลาด” (Smart Energy Solutions) ในเครือบ้านปู ยังเข้ามาเป็นผู้ลงทุนติดตั้งที่ชาร์จไฟฟ้าในทุกพื้นที่ที่ “มูฟมี” ไปเปิดให้บริการ
“บ้านปูเห็นด้วยกับแนวทางของมูฟมี และมองว่าการเดินทางในเมืองมีปัญหาจริง ๆ จึงตัดสินใจลงทุนกับเราตั้งแต่รอบ Seed เราถือเป็นตัวอย่างของยานพาหนะอัจฉริยะที่ใช้ Smart Energy ของเขาในการให้บริการ เป็น Synergy ที่ส่งเสริมกันในการพัฒนายานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานสะอาด ซึ่งเงินลงทุนของบ้านปูถือเป็นสัดส่วนที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มนักลงทุน สัดส่วนประมาณ 40%”
ความท้าทาย-เป้าหมาย
“ศุภพงษ์” บอกว่า แม้ “มูฟมี” จะเริ่มเป็นที่รู้จัก และมีลูกค้าขาประจำจำนวนไม่น้อย จนอาจกล่าวได้ว่า “เดินมาถูกทาง และสามารถตอบความต้องการของผู้ใช้ได้” แต่สิ่งที่บริษัทยึดมั่นยังคงเดิม คือทำอะไรต้องตอบโจทย์ผู้ใช้ และรับฟังคอมเมนต์เยอะ ๆ แล้วนำมาปรับปรุง
“สเกลของเราอาจจะสู้ผู้ให้บริการยักษ์ใหญ่จากต่างชาติที่มีรายได้หลักหมื่นล้านต่อปีไม่ได้ และเราคงไม่ได้ไปแข่งขันกับเขา แต่เรารู้ว่าเราทำอะไรได้ดี มีความต้องการอยู่ตรงไหน เราสามารถทำให้เมืองโตได้จากบริการของเรา และเชื่อว่าเมืองจะเปลี่ยนไปตามการเข้าถึงของคน เช่น จุฬาฯ ต้องการให้อุทยาน 100 ปีเป็นที่รู้จัก บริการของเราก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้คนรู้จักผ่านการพาคนไปที่นั่น”
วันนี้เราเห็นตนเองชัดว่าคือ Mobility Solution ที่มีทั้งรถ แอปพลิเคชั่น และระบบเทรน “คนขับ” โดยรายได้เกือบทั้งหมดมาจากบริการรับส่งแบบ B2C แต่ก็จะขยับไปให้บริการแบบ B2B กับภาคธุรกิจด้วย เช่น เป็นรถรับส่งของออฟฟิศ และขนส่งสินค้าให้ร้านอาหาร เป็นต้น
“และเราเชื่อว่าสิ่งที่เรามียังสามารถสร้างประโยชน์ในพื้นที่อื่น ๆ นอกจากประเทศไทยได้อีก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือประเทศกำลังพัฒนาที่มีปัญหาคล้ายคลึงกัน คือคนเยอะ เมืองขยายตัว และการเดินทางหนาแน่น”