Dead Internet และอีเวนต์ที่ ชาว TikTok ตีปี๊บ บุกยึด YouTube Shorts

อ่านปรากฏการณ์อีเวนต์ประหลาดในโลกอินเทอร์เน็ต เมื่อชาว TikTok ประกาศล่าอาณานิคม YouTube Shorts ดีเดย์ 25 มี.ค. 2568 เขาทำไปทำไม ? มีแนวคิดอะไรขับเคลื่อนเบื้องหลัง 

แคมเปญดังกล่าวแม้จะดูไม่ได้จริงจัง แต่ก็สะท้อนให้เห็นแนวคิด และวัฒนธรรมทางอินเทอร์เน็ตที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลัง ไม่ว่าจะเป็นแนวคิดเกี่ยวกับการแพร่กระจายข้อมูลด้วยปัญญาประดิษฐ์ แบบ Generative AI ตลอดจนแรงตอบสนองของการแบน TikTok ในสหรัฐอเมริกา

อีเวนต์ดังกล่าวคาดว่าเริ่มเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน โดย TikToker หลายราย อย่างเช่น @privden2 ได้เริ่มเผยแพร่แคมเปญ YouTube Shorts Colonization ระดมผู้ใช้ TikTok ให้เข้าไปยึดครองช่องคอมเมนต์ และเนื้อหาในแพลตฟอร์ม YouTube โดยอ้างว่าแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นอย่าง YouTube Shorts เต็มไปด้วยวิดีโอที่น่ากลัวและเป็นวิดีโอในรูปแบบทฤษฎีสมคบคิดที่ชื่อว่า “อินเทอร์เน็ตที่ตายแล้ว” (Dead Internet) ซึ่งแม้จะดูเป็นการประกาศแบบขำขัน แต่ก็มีการตอบสนองเป็นวงกว้างในชุมชน TikToker อเมริกัน 

แคมเปญนี้จะเริ่มในวันที่ 25 มี.ค. 2568 ซี่งมีการระบุแนวทางการบุก YouTube ว่าจะพยายามรวมตัวกันเพื่อรีพอร์ตคอมเมนต์ที่เข้าข่ายสร้างจากเอไอ หรือเข้าโพสต์คำหรืออิโมจิที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “brain rot” หรือภาวะสมองเน่าจากการไถฟีดดูคอนเทนต์ที่ไม่เกิดประโยชน์อะไรบนช่องคอมเมนต์ YouTube Shorts 

อีกหลายส่วนรณรงให้ครีเอเตอร์บน TikTok หันมายึดครอง YouTube เป็นแพลตฟอร์มหลัก เพราะกลุ่มนี้เชื่อว่า YouTube Shorts นั้น เต็มไปด้วยวิดีโอที่แย่มาก แม้ YouTube Shorts จะมีลักษณะวิดีโอสั้นเหมือน TikTok แต่ไม่ได้มีวัฒนธรรมที่เหมือนกัน เนื่องจาก TikTok มักจะเป็นผู้นำโดยการแนะนำมีมและเทรนด์ใหม่ ๆ ให้กับอินเทอร์เน็ตในวงกว้าง ขณะที่วัฒนธรรมของ YouTube เต็มไปด้วน “อินเทอร์เน็ตที่ตายแล้ว” 

จึงรวมตัวกันต่อสู้กับสิ่งที่พวกเขาเชื่อว่าเป็นฝูงสแปมและบอตที่สร้างโดย AI และปรับปรุงเนื้อหาบน YouTube โดยรวม

ADVERTISMENT

ปรากฏการณ์ดังกล่าวยังเกิดในช่วงเวลาเดียวกับเส้นตายที่รัฐบาลกลางสหรัฐ สั่งให้ Byte dance บริษัทแม่ของ TikTok ในสหรัฐ ที่มีผู้ใช้ราว 170 ล้านคน ให้ขายกิจการให้กับเจ้าของสัญชาติสหรัฐ ซึ่งมีการขยายเวลาจากช่วงเดือน ม.ค. 2568 ที่ผ่านมา เป็นวันที่ 5 เม.ย. ที่จะถึงนี้

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมากลุ่มผู้สร้างและผู้ใช้ TikTok จึงเผชิญความไม่แน่นอนจากคำสั่งของรัฐบาลทำให้มีการโยกย้ายแพลตฟอร์มไปบ้างแล้ว จนเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกอย่างขำขันว่า “ความแห้งแล้งทางมีม” เพราะความสดใหม่ในมีมตลกขบขันในชุมชนผู้ใช้ TikTok ลดน้อยถอยลง ซึ่งนี่อาจเป็นหนึ่งในการปิ๊งไอเดียสร้างแรงกระเพื่อมในโลกอินเทอร์เน็ตด้วยมีมล่าอาณานิคม YouTube Shorts ที่หวังสร้างความเคลื่อนไหวทางมีมให้แพร่หลายไม่แห้งแล้งขึ้น 

ADVERTISMENT

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าความเคลื่อนไหวนี้ จะเป็นการเคลื่อนไหวทางการมีม เพื่อลดทอนความเบื่อหน่ายของชุมชน TikTok หรือจะเป็นความเคลื่อนไหวจริงที่เป็นการโยกย้ายแพลตฟอร์มไปยัง YouTube ก็ตาม สิ่งที่ปรากฏชัดคือทฤษฎีสมคบคิดเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตที่เกิดในเว็บบอร์ดยุคปี 2000 ยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ต นั่นคือ ทฤษฎี Dead Internet 

Dead Internet คืออะไร 

Dead Internet Theory เป็นทฤษฎีสมคบคิดในยุคโซเชียลมีเดียแบบ “เว็บบอร์ด” โดยเฉพาะบนเว็บบอร์ด ตระกูล chan ซี่งเป็นจุดกำเนิดของวัฒนธรรมมีม รวมถึงมารยาท กฎเกณฑ์ และวัฒนธรรมอินเทอร์เน็ตยุคใหม่มากมาย 

ทฤษฎี Dead Internet มองว่า กิจกรรมบนอินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เกิดจาก AI และจึงถือว่าเป็นสิ่งที่ “ตาย” ซึ่งกิจกรรมทั้งหลาย มีการควบคุมด้วยบอต เนื้อหาที่สร้างขึ้นโดยอัตโนมัติ โดยอัลกอริทึมเพื่อควบคุมประชากรและลดกิจกรรมของมนุษย์จริง ๆ ผู้สนับสนุนทฤษฎีเชื่อว่าบอตโซเชียลเหล่านี้ถูกสร้างขึ้นโดยเจตนาเพื่อช่วยจัดการอัลกอริทึม และเพิ่มผลการค้นหา เพื่อตอบสนองด้านการตลาดและจัดการกับผู้บริโภค

ผู้เสนอทฤษฎีนี้บางคนกล่าวหาว่าหน่วยงานของรัฐใช้บอตเพื่อจัดการกับการรับรู้ของสาธารณชน และใช้ในด้านการเมืองทั้งภายใน ภายนอกประเทศ 

แนวคิดดังกล่าว คาดว่าเริ่มต้นในช่วงทศวรรษที่ 2000 แนวคิดบนเว็บบอดร์ดจำนวนมาก อย่าง Macintosh Cafe, Wizardchan หรือแม้กระทั่งเว็บบอร์ดที่คุ้นหูคนไทยอย่าง 4chan ซึ่งเรียกได้ว่าเต็มไปด้วยอารมณ์ขัน ตลก เหยียดเพศ เชื้อชาติ ภาษา อายุ ตลอดจนความหวาดระเเวงที่หาสาระไม่ได้นัก 

ทฤษฎีอินเทอร์เน็ตตายแล้ว เป็นเพราะมีบอต และ AI ขับเคลื่อนในยุคนั้นจึงถูกมองว่าเป็นความเพ้อพก ของสมาชิกเว็บบอร์ดเหงา ๆ ที่หาเรื่องคุย

ทว่า การเติบโตแบบก้าวกระโดดของ Generative AI ในปัจจุบัน ได้เปลี่ยนมุมมองของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีต่อทฤษฎีนี้ ไปในทางคล้อยตามมากขึ้น แนวคิดที่ว่า Gen AI กำลังถูกนำมาใช้เพื่อสร้างความคิดเห็นและเนื้อหาอย่างกว้างขวาง ทำให้ไทม์ไลน์ของโซเชียลมีเดียที่เป็นชุมชนหนึ่งของมนุษย์อ่อนแอลง 

ผู้ใช้ TikTok หลายราย จึงวางแผนที่จะนำเนื้อหาและความคิดเห็นใหม่ ๆ ที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์มาเผยแพร่บนแพลตฟอร์ม YouTube ในวันที่ 25 มีนาคม 2568 นี้