ปิดช่องภัยไซเบอร์ โจทย์ใหญ่ทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล

กระแสดิจิทัลดิสรัปต์ทำให้องค์กรต่าง ๆ ตื่นตัวกับการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้โจรไซเบอร์เข้าถึงข้อมูลขององค์กรได้มากขึ้น “เยสเปอร์ แอนเดอร์เซน” ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริการ อินโฟบล็อกซ์ เปิดเผยว่า ด้วยการปรับตัวให้เท่าทันเทคโนโลยี ทำให้องค์กรธุรกิจให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อกับดีไวซ์ต่าง ๆ โดยเฉพาะการนำ IOT (internet of things) มาใช้

“ปี 2559 มีการใช้งานไฮบริดคลาวด์ในองค์กรขนาดใหญ่ถึง 71% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 13% แต่การถูกโจมตีด้วยมัลแวร์ก็เพิ่มขึ้น 36% ด้วยการเชื่อมต่อที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งหลายองค์กรมักจะลืมโฟกัสในเรื่องของ DNS (domain name system) ที่เป็นจุดศูนย์กลางในการเชื่อมต่อของระบบเน็ตเวิร์ก โดยแฮกเกอร์จะโจมตี DNS ด้วยการเรียกใช้งานจำนวนมาก เพื่อให้เซิร์ฟเวอร์ไม่ตอบสนอง ทำให้ไม่สามารถใช้งานเว็บไซต์ได้ รวมถึงเป็นช่องให้ส่งมัลแวร์เข้าไปในองค์กรธุรกิจได้”

ข้อมูลจาก The SANS 2017 Data Protection Survey ระบุว่า 58% ขององค์กรไม่เคยตรวจสอบระบบ DNS เลย มีเพียง 42% ที่ตรวจสอบ และในจำนวนนี้มีเพียง 19% เท่านั้นที่ตรวจสอบเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และมีเพียง 9% เท่านั้น ที่ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ 91% ของแฮกเกอร์ใช้ DNS เป็นช่องทางในการติดต่อรับส่งข้อมูลหลัก”

ดังนั้นอินโฟบล็อกซ์จึงเน้นให้ความรู้และทำตลาดด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้กับลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มภาครัฐ ภาคการเงิน

ขณะที่รายงานวิจัยของ “ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน” ที่ร่วมมือกับ “ไมโครซอฟท์” ยังพบว่า ภัยไซเบอร์ส่งผลต่อเศรษฐกิจประเทศไทยถึง 2.86 แสนล้านบาท หรือ 2.2% ของ GDP โดยพบว่า 3 ใน 5 องค์กรที่สำรวจไทย เคยได้รับผลกระทบจากภัยไซเบอร์ และมีถึง 47% ที่ยังขาดกระบวนการตรวจสอบหรือวิเคราะห์การคุกคามระบบอย่างเหมาะสม

“ณัฐชัย จารุศิลาวงศ์” consultant, mobility practice บริษัท ฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภัยไซเบอร์ก่อความเสียหายทั้งทางตรงและทางอ้อมและยังพบว่า มีองค์กรเพียง 26% ที่นึกถึงประเด็นด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์มาพิจารณาก่อนจะเริ่มปฏิรูปองค์กรรับดิจิทัล ทั้งที่เป็นกลุ่มที่เคยถูกโจมตีทางไซเบอร์มาแล้ว

“การขาดวิสัยทัศน์เชิงกลยุทธ์ เป็นสิ่งสำคัญ เพราะจากการสำรวจพบว่า มีแค่ 28% ที่เห็นว่า กลยุทธ์ด้านความปลอดภัยขององค์กรเป็นหัวใจสำคัญของการดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น จึงควรเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง”