IOT-ดาต้าอนาไลติกส์แข่งเดือด!! โอเปอเรเตอร์รุมตลาดองค์กรปั๊มรายได้

ตลาดลูกค้าองค์กรเนื้อหอม โอเปอเรเตอร์แห่ชิงเค้ก รับคอนซูเมอร์อิ่มตัว จับตา “IOT-ดาต้าอนาไลติกส์” สมรภูมิเดือด รุมชิงทั้งลูกค้า-นักพัฒนา “เอไอเอส” โชว์ยอดโต 15% ต่อปี เน้นจัดแพ็กลุยค้าปลีก อสังหาฯ โลจิสติกส์ ฟาก “ทรู” ตั้งเป้าโตถึง 30% รักษามาร์เก็ตแชร์เบอร์ 1 ขยับเจาะต่างจังหวัดมากขึ้น ด้าน “แคท” มั่นใจโครงข่าย LoRa ทั่วประเทศ บุก IOTภาครัฐ

นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดลูกค้าองค์กรธุรกิจแข่งขันค่อนข้างดุเดือดอยู่แล้ว แต่การแข่งขันเป็นเรื่องดี เพราะทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกใหม่ ๆ และตลาดถูกกระตุ้นให้โตยิ่งขึ้น ที่ผ่านมารายได้จากกลุ่มลูกค้าองค์กรของเอไอเอสโตราว 15% ต่อปี ปัจจุบันคิดเป็น 11% ของรายได้รวม แต่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เพราะเพิ่งเข้ามาในตลาดได้ไม่นาน

“ภาพรวมตลาดอาจโตไม่มาก แต่มีโอกาสโตได้มากกว่าตลาดคอนซูเมอร์ที่ค่อนข้างอิ่มตัว ด้วยมีบางบริการที่ดีมานด์โตก้าวกระโดดตามเทรนด์เทคโนโลยี อาทิ คลาวด์ เอไอเอสถือเป็นน้องใหม่ ที่พยายามเจาะตลาดนี้มากขึ้น อาศัยจุดแข็ง คือ โครงข่ายโทรคมนาคมที่ครอบคลุม ซึ่งในแง่ของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สำหรับลูกค้าองค์กรก็มีมาร์เก็ตแชร์กว่า 70% แต่อื่น ๆ ยังต้องสู้กัน”

ปัจจุบันเอไอเอสมีโครงข่ายสายสื่อสารสัญญาณ (EDS) กว่า 2 แสนกิโลเมตร มีดาต้าเซ็นเตอร์ 9 แห่งทั่วประเทศ มีระบบคลาวด์ขนาดใหญ่ ซึ่งเดิมออกแบบไว้รองรับลูกค้าโมบายกว่า 40 ล้านเลขหมาย แต่ได้ขยายเพิ่มสำหรับลูกค้าองค์กรด้วย

IOT ตลาดบลูโอเชี่ยน

“เน้นจัดแพ็กเกจและจัดสินค้าให้เป็นโซลูชั่นให้ตอบโจทย์ลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยเฉพาะด้าน IOT (อินเทอร์เน็ตออฟทิงส์) ที่เป็นเทคโนโลยีเด่นสุด ก็ให้ลูกค้าจัดแพ็กเลือกใช้กับมือถือ EDS ดาต้าเซ็นเตอร์ คลาวด์ รวมถึงมีเพย์เมนต์ให้เลือกทั้ง mPay และแรบบิทไลน์เพย์ โดย IOT ถือเป็นตลาดบลูโอเชี่ยน แม้ว่าโอเปอเรเตอร์รายอื่นก็เข้ามาด้วย แต่ตลาดใหญ่มากและเพิ่งเป็นช่วงเริ่มต้นที่ต้องให้ความรู้ตลาด กว่าจะไปถึงจุดที่ต้องแข่งกันแรง ๆ คงอีก 3-5 ปี”

ขณะที่กลุ่มค้าปลีก พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ โลจิสติกส์ เป็นเป้าหมายที่ให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีงบฯลงทุนไอทีสูง ขณะที่กลุ่มภาครัฐเป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ แต่ยังเน้นใช้บริการพื้นฐาน จึงร่วมมือกับพาร์ตเนอร์พัฒนาโซลูชั่นเฉพาะขึ้นมาทำตลาดด้วย ปัจจุบันลูกค้าภาครัฐคิดเป็น 20% ของฐานลูกค้าทั้งหมด

“ตอนนี้แข่งกันรุนแรง ถ้าเป็นการจัดซื้อแบบต้องประมูลแข่งกันไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชนก็ต้องใช้ราคาเข้าสู้ แต่ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่อยากได้แบบออลอินวัน หรืออยากเอาต์ซอร์ซงานส่วนนี้ทั้งหมด ซึ่งเรามีบริการพร้อมซัพพอร์ตทั้งหมด”

ทั้งยังได้ลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถ้ารวมถึงการทดลองสร้างบริการใหม่ ๆ เพื่อให้เกิดการใช้งานได้จริงก็จะเกิน 1% ของรายได้

ทรูไม่ตัดราคา-ลุยปั้นโซลูชั่น

นายพิชิต ธันโยดม หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านธุรกิจองค์กร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มูลค่าตลาดรวม ยังไม่มีผู้รวบรวมอย่างเป็นทางการ แต่ประเมินว่าโตกว่า 10% ต่อปี ด้วยแรงผลักดันของเทคโนโลยี ที่ทำให้องค์กรต้องปรับตัวที่มากกว่าแค่ประหยัดต้นทุน

“ตลาดแข่งขันรุนแรง นโยบายของทรูฯไม่อยากตัดราคา ยกเว้นว่าคู่แข่งเริ่มก่อน ซึ่งที่ผ่านมาโอเปอเรเตอร์รายใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในตลาดก็ตัดราคาเยอะ เราก็ต้องรับมืออยู่บ้าง”

ขณะที่ทรูฯน่าจะมีมาร์เก็ตแชร์ราว 30% โดยมีรายได้จากกลุ่มองค์กรราว 12,000-13,000 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะโตราว 20-30% หลังจากได้ปรับทิศทางให้มุ่งพัฒนาโซลูชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้แบบเบ็ดเสร็จ เติมเต็มจุดเด่นด้านอินฟราสตรักเจอร์ที่มีอยู่ โดยจะบาลานซ์รายได้จากฝั่งอินฟราสตรักเจอร์และโซลูชั่นให้ได้ภายใน 2 ปี จากเดิมที่มาจากอินฟราสตรักเจอร์กว่า 50%

ดาต้าอนาไลติกส์แข่งเดือด

“การดิสรัปต์ของเทคโนโลยี เป็นแรงผลักดันมาก ขณะที่มีการตื่นตัวในการลงทุนมากขึ้น จากเดิมที่กระจุกอยู่ในเมืองใหญ่ แต่ปัจจุบันแม้แต่ร้านเล็กร้านน้อยในต่างจังหวัดก็ตื่นตัวกับเรื่องนี้ อย่างการมีไวไฟในร้านให้ลูกค้า และยังต้องการจะต่อยอดด้วยการเก็บข้อมูลลูกค้าเพื่อนำไปพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ ซึ่งถ้าเป็นค้าปลีก จะเน้นที่การเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล หรือดาต้าอนาไลติกส์ การพัฒนาเป็นออมนิแชนเนลเพื่อให้แข่งขันกันได้ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์”

โดยค้าปลีก โลจิสติกส์ ซีเคียวริตี้ เฮลท์แคร์ ถือเป็นกลุ่มสำคัญที่ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีดิสรัปชั่น และมีดีมานด์สูงที่ต้องการจะปรับตัว รวมถึงมีงบฯลงทุนสูง

ขณะที่พื้นที่ต่างจังหวัดก็ให้ความสำคัญมากขึ้น ทั้งยังมีแผนจะเพิ่มศูนย์บริการซัพพอร์ตลูกค้าให้สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจด้วย ทั้งส่วนของ “ทรูช้อป” 200 แห่งทั่วประเทศ และพาร์ตเนอร์ที่อยู่ในจังหวัดต่าง ๆ โดยปัจจุบันมีสัดส่วนลูกค้าเอกชน 80% ภาครัฐ 20%

“IOT เป็นตลาดที่พูดถึงเยอะ แต่ยังมีโซลูชั่นที่ธุรกิจจับต้องได้ไม่เยอะ รวมถึงอนาไลติกส์ที่เป็นกลุ่มที่ตลาดต้องการเพิ่มสูงมาก แต่บุคลากรค่อนข้างขาดแคลน ปีนี้ที่จะเห็นการแข่งขันดุเดือดน่าจะเป็นกลุ่มนี้ ทั้งในแง่ของลูกค้าและแง่ของการดึงคนที่จะเข้ามาเป็นทีมงาน ซึ่งทรูฯถือว่ามีความพร้อมตรงนี้ ด้วยโครงข่ายที่ครอบคลุม”

ส่วนงบฯลงทุนแต่ละปีสำหรับตลาดนี้อยู่ราวพันล้านบาท สำหรับสร้างอินฟราสตรักเจอร์ให้เข้าถึงลูกค้ามากที่สุด และการลงทุนพัฒนาแพลตฟอร์มโซลูชั่น

แคทชู LoRa IOT

ด้าน พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ได้ปรับทิศทางธุรกิจสู่ดิจิทัลโซลูชั่นมากขึ้น หลังจากที่โครงการ LoRa สำหรับ IOT ครอบคลุมทั่วประเทศแล้ว จากนี้จะเน้นสร้างเคสตัวอย่างให้เห็นประโยชน์จากการใช้งานจริง

“ปัจจุบันตลาดลูกค้าองค์กรแข่งขันกันมากขึ้น อย่าง IOT หลายเจ้าก็เข้ามาเล่นตลาดนี้ แคทเป็นรัฐวิสาหกิจ จึงต้องมีมุมมองของดาต้าภาครัฐ ซึ่งในต่างประเทศจะมีหน่วยงานที่ทำอนาไลติกส์ข้อมูลภาครัฐ เพื่อส่งต่อข้อมูลให้เอกชน เพราะข้อมูลที่มีทั้งหมดเป็นข้อมูลเชิงลึก มีข้อมูลที่จำเป็นต้องถูกคุ้มครองตามกฎหมาย จึงควรมีหน่วยงานภาครัฐเข้ามาวิเคราะห์ในส่วนนี้ เมื่อได้ข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์แล้วค่อยนำไปให้ภาครัฐไปใช้งาน”


ขณะที่ดิจิทัลโซลูชั่นอื่น ๆ อาทิ ไอทีซีเคียวริตี้ มีดีมานด์ในตลาดเยอะมาก แต่แคทยังมีรายได้ในส่วนนี้น้อย จึงยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก