ไม่ใช่แค่ Crypto “บิทคับ” ปักธงตลาดหลักทรัพย์ 2.0

ท่ามกลางกระแสการตื่นตัวกับสกุลเงินดิจิทัล “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับ แคปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง จำกัด “Bitkub” หนุ่มวัย 28 ดีกรีปริญญาโทเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัย Oxford หนึ่งในผู้บุกเบิกวงการบิตคอยน์ในไทย

Q : ทำไมถึงเลือกทำธุรกิจนี้ในไทย

ผมบินกลับมาเมืองไทยตั้งแต่ 5-6 ปีที่แล้วหลังเรียนจบ เปิดบริษัทแรกคือ บิทคอยน์วอลเล็ต เพื่อให้คนซื้อขายบิตคอยน์ ก็สร้างวงการมาเรื่อย ๆ ก็ถือเป็นเรื่องยาก แต่ผมไม่ได้ต้องการเป็นแค่สตาร์ตอัพที่ขายเสื้อยืดออนไลน์ ที่ผ่านมาไทยเป็นแค่ผู้ใช้ ผู้ซื้อเทคโนโลยี แต่ไม่ได้เป็นผู้พัฒนา มันต้องมีคนที่ลุกขึ้นมาสร้างนวัตกรรมให้คนไทยได้ใช้เราเป็นบริษัทแรกที่จะเชื่อมคนไปสู่เกาะใหม่ที่ทุกคนสามารถแลกเปลี่ยนทรัพย์สินดิจิทัลได้ทั้งหมด โดยที่ไม่สามารถโกงได้ และทำให้เกิดธุรกิจใหม่ขึ้นอีกมาก ฉะนั้น โมเดลธุรกิจนี้เวิร์กได้ทันที ซึ่งทีมเราก็ทำงานร่วมกับ ก.ล.ต.มา 2 ปีแล้ว ยิ่งต้นปี 2562 ภาครัฐจะมีการออกไลเซนส์รับรอง ยิ่งจะทำให้เติบโต

Q : สถานการณ์ธุรกิจตอนนี้

บริษัทเราโตเร็วมาก ในการระดมทุน seed round เราทำเงินได้สูงสุด กำลังเข้าสู่การระดมทุนซีรีส์ A และมีหลายธุรกิจที่กำลังลุยอยู่ คือเป็นตลาดกลางซื้อขายแลกเปลี่ยน ตอนนี้รองรับได้ 11 สกุลเงินดิจิทัล สิ้นปีน่าจะได้ถึง 25 สกุลเงิน และกำลังจะเปิดทำ ICO CO (initial coin offering : ขายเหรียญดิจิทัลระดมทุน) ให้กับบริษัทที่ต้องการจะทำ คือเป็นอันเดอร์ไรซ์ ICO

Q : ราคาบิตคอยน์ลงแรงมาก

ใช่ แต่ในไทยปริมาณการเทรดเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะของบิทคับ มีลูกค้าย้ายมาเยอะ ด้วยบริการและโปรดักต์ที่ดีกว่า ตอนนี้มูลค่ารวมเป็นเบอร์ 2 ในตลาด หลังจากเปิดมาแค่ 8 เดือน ยอดเทรดแต่ละวันราว 50 ล้านบาท

Q : อนาคตบล็อกเชนในไทย

คนมองยังมองว่า บล็อกเชน คือ cryptocurrency เท่านั้น แต่จริง ๆ ทำได้มากกว่านั้น คือสามารถใช้พิสูจน์-ระบุตัวตนของทรัพย์สินทุกอย่าง รวมถึงเอกสารสิทธิ ใบอนุญาต เอกสารที่ไม่ต้องการให้มีการทำสำเนาหรือปลอมแปลงได้ ให้คนซื้อขายแลกเปลี่ยนได้สะดวก ไม่ต้องใช้ตัวกลาง ทำให้กระบวนการทำงานเร็วขึ้น แม่นยำขึ้น อีก 2-3 ปีน่าจะเริ่มเห็นโปรดักต์ชัดขึ้น

Q : อุปสรรคในไทย

คนที่เสียโอกาสที่เคยทำรายได้มหาศาลกำลังถูกดิสรัปต์ ทำให้เกิดการต่อต้าน เข้าไปล็อบบี้กับภาครัฐ ซึ่งก็เป็นในหลายประเทศ ที่ผ่านมามีการรวมกลุ่มไปทำความเข้าใจกับภาครัฐตลอด ซึ่ง ก.ล.ต.ก็เปิดกว้างรับฟัง

Q : สิ่งที่ภาครัฐควรทำ

สร้างความตระหนักและให้การศึกษาเรื่องบล็อกเชนที่ถูกต้อง สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการพัฒนา อย่าออกกฎที่ฆ่าอินโนเวชั่น อย่างภาษี คือ เข้าใจว่ากรมสรรพากรมีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษี แต่ในมุมของการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมใหม่ เขาเข้าใจได้ไม่ดีเลย

cryptocurrency เป้าคือลดต้นทุนในการโอนเงิน แต่ไทยพยายามจะเพิ่มภาษี 15% ต้นทุนก็เพิ่ม คนก็หันกลับไปใช้ช่องทางเดิม ๆ เท่ากับไม่ได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมบล็อกเชนเข้ามาเปลี่ยนโลก เปลี่ยนไมนด์เซต จากที่ชินกับ centralized จะทำให้เกิด decentralized ตัดตัวกลางออก ฉะนั้น การกำกับดูแลของภาครัฐก็ต้องเปลี่ยน

Q : ปี”62 รัฐปลดล็อก ตลาดเดือด

ใช่ ตอนนี้ก็มีต่างชาติเตรียมเข้ามาลงทุนในไทย ก็ต้องรอว่า ก.ล.ต.จะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาได้แค่ไหน ซึ่งจริง ๆ ก็ควรจะจำกัด เพราะนี่คือการก้าวไปสู่การเป็นตลาดหลักทรัพย์ฯ ยุค 2.0 ถ้าให้ต่างชาติเข้ามาเปิดตลาดหลักทรัพย์ในไทยได้ เงินจะไหลออกนอกประเทศ ยิ่งอนาคตใบหุ้นต่าง ๆ จะทำ digitize ทุกอย่างที่มีมูลค่าได้ทั้งหมด ต่อไปบริษัทที่อยากจะทำ IPO แต่มูลค่าบริษัทไม่ถึงก็ทำ ICO ใช้เราเป็นตลาดทางเลือกได้ บิทคับเองก็มีแผนทำ ICO เร็ว ๆ นี้

Q : ตั้งเป้าจะเป็นยูนิคอร์น

เป้าหมายคือเป็นเบอร์ 1 ในตลาด ส่วนจะเป็น IPO นำเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือรอเป็นยูนิคอร์นก่อนก็แล้วแต่จังหวะและโอกาส