สนช. 133 เสียง เห็นชอบร่างกฎหมายไซเบอร์ซีเคียวริตี้

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 28 ก.พ. 2562 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในชุดกฎหมายดิจิทัล  ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) เป็นผู้เสนอ  มีผลให้ร่าง พ.ร.บ. นี้พร้อมบังคับใช้เมื่อประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาทันที

โดย สมาชิก สนช. ที่เข้าประชุมทั้งหมด 149 คน ลงมติเห็นชอบกับร่างกฎหมายนี้ 133 คน ไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย และมีสมาชิก 16 คนงดออกเสียง

สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎหมายนี้ หากประกาศใช้จะมีการตั้ง “กมช.” คณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ  แต่ในการดำเนินงานจะมี“กกม.” คณะกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งมีรัฐมนตรีดีอี เป็นประธาน มีกรรมการโดยตำแหน่ง อาทิ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ผู้ว่าการ ธปท. เลขาธิการ กลต. เลขาธิการ กสทช. กำหนดแนวทางปฏิบัติของหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (CII) และประสานการเผชิญเหตุ

ทั้งจะมีการแบ่งภัยคุกคามทางไซเบอร์เป็น 3 ระดับ คือ   ไม่ร้ายแรง ร้ายแรง และ วิกฤต  โดยระดับ “ร้ายแรง” อาจมอบอำนาจให้รัฐมนตรีดีอี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ปฏิบัติการได้ตามระเบียบ  และหากเป็นระดับ “วิกฤต” ให้เป็นหน้าที่ของสภาความมั่นคงฯ

ขณะเดียวกันจะประกาศรายชื่อหน่วยงานที่มีภารกิจหรือบริการใน 8 ด้าน เป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ ได้แก่ ความมั่นคงของรัฐ บริการภาครัฐที่สำคัญ  การเงินการธนาคาร ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและโทรคมนาคม การขนส่งและโลจิสติกส์  พลังงานและสาธารณูปโภค สาธารณสุข และด้านอื่นๆ ตามที่บอร์ดกำหนดเพิ่มเติม  ซึ่งมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานความมั่นคงปลอดภัยที่กำหนด