กฎหมาย e-Payment ในปีนี้กับผลกระทบในปีหน้า

คอลัมน์ Pawoot.com

โดย ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

กฎหมายภาษีอีเพย์เมนต์ที่ผมเคยได้พูดถึงไปบ้างแล้ว มีผลบังคับใช้เมื่อ 21 มี.ค. ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าพื้นฐานกฎหมายตัวนี้เกิดจากภาครัฐต้องการหารายได้เข้ารัฐมากขึ้น และเริ่มเห็นว่าคนทำธุรกิจการค้าขายบนออนไลน์เพิ่มขึ้น แต่ไม่ค่อยได้เสียภาษีเท่าใดนัก จึงน่าจะมีวิธีดึงเม็ดเงินเข้าให้รัฐ

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ สรรพากรเองพยายามจะทำมานาน เพราะอีคอมเมิร์ซเกิดในไทยเกือบ 20 ปีแล้ว ที่สุดแล้วสรรพากรจึงออกกฎหมายนี้ เพื่อให้คนทำธุรกิจออนไลน์ที่มีรายได้ แม้จะเป็นบุคคลธรรมดาก็ต้องเสียภาษี เพราะธุรกิจออนไลน์บางครั้งไม่ได้จดทะเบียนบริษัท การติดตามเรื่องภาษีจึงค่อนข้างท้าทาย

ในต่างประเทศส่วนใหญ่คนที่ทำธุรกิจจะมีการรายงานเกี่ยวกับเรื่องนี้ตรง ๆ แต่คนเอเชียหลายคนมักไม่รู้ว่ารายได้เกิดขึ้นจากการค้าขายออนไลน์ หรือทำการค้าใดต้องนำมาคำนวณตอนสิ้นปี รัฐจึงพยายามจะกระตุ้นมาหลายปี แต่ไม่เป็นผล

ปีหน้าความโกลาหลมาแน่ ๆ

2 ปีที่ผ่านมา อีคอมเมิร์ซเริ่มเป็นช่องทางที่คนไทยนิยมมาก เราได้เห็นข่าวเด็กมหาวิทยาลัย ทำธุรกิจบนโลกออนไลน์มียอดขายปีหนึ่งถึง 10-20 ล้านบาท แต่ก็ไม่เคยได้เสียภาษีเลย

กฎหมายตัวนี้เริ่มคุยและประชาพิจารณ์ตั้งแต่ก่อนปีที่แล้ว แต่จะว่าไปกฎหมายนี้ก็ถูกเร่งมาเร็วไปหน่อย

ข้อกำหนดก็คือหากมีการฝากเงิน หรือโอนเงินเข้าเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือ 400 ครั้งต่อปี และมียอดรวมกันเกิน 2 ล้านบาทต่อปี ธนาคารหรือสถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการอีเพย์เมนต์ อีวอลเลต มีหน้าที่ต้องรายงานหรือส่งข้อมูลให้กับสรรพากรเพื่อเอาไปตรวจสอบ โดยจะอ้างอิงจาก 1 เลขที่บัตรประชาชนต่อ 1 ธนาคาร ดังนั้น ถึงแม้จะเป็นบัญชีที่เปิดคู่กับอีกบุคคลหนึ่งก็ต้องถูกนำมารวมด้วยเหมือนกัน

สำหรับผู้ให้บริการวอลเลตจากต่างประเทศนั้นตอนนี้ยังไม่ครอบคลุม โดยจะครอบคลุมกับผู้ที่ได้ขึ้นทะเบียนกับธนาคารแห่งประเทศไทยเท่านั้น จึงเป็นไปได้ว่าอาจจะมีบางกลุ่มหนีไปใช้บริการของผู้ให้บริการต่างประเทศ

การนับ transaction จะนับเฉพาะเงินเข้าเท่านั้น แต่ที่น่ากลัว คือ ถึงจะแค่ฝากเงินธนาคารและมีดอกเบี้ยเข้าก็ถูกนับด้วย หรือเปิดพอร์ตหุ้น 10 ตัว มีเงินปันผลเข้าก็นับเป็น 10 ครั้ง

ที่สำคัญ การสแกนคิวอาร์โค้ดเพื่อจ่ายเงินก็จะถูกนับจำนวนครั้งด้วย กลายเป็นนโยบายที่ย้อนแย้งกับความพยายามผลักดันให้สังคมไทยเข้าสู่ cashless society ปัญหาที่ตามมา คือ ตอนนี้บรรดาร้านค้าต่าง ๆ ที่เคยรับเงินโอนด้วยคิวอาร์โค้ด พร้อมเพย์ หรืออีแบงกิ้งก็ไม่อยากรับ หลายร้านเก็บป้ายคิวอาร์โค้ดแล้ว จะเกิดเหตุการณ์ที่ร้านค้าขอรับเป็นเงินสดดีกว่าเพราะปลอดภัยกว่า

คนบางกลุ่มจึงหันไปเปิดเป็นบริษัทให้มันถูกต้อง รับเงินเข้าบริษัทและเสียภาษีอย่างถูกต้อง หรือกลุ่มที่สองที่กลัวมากก็ไม่ใช้เลยทั้งคิวอาร์โค้ด หรือพร้อมเพย์ หรือบางคนก็จะใช้วิธีการเปิดบัญชีธนาคารไว้หลาย ๆ บัญชี ตอนนี้ไทยมี 20 ธนาคาร ถ้าเราเปิดบัญชีทุกธนาคารจะสามารถรับเงินได้ราว 40 ล้านบาทเลยทีเดียว บอกได้เลยครับว่า หลังจากนี้ออกมาจะมีปริมาณการเปิดบัญชีธนาคารในรายย่อยจะเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีช่องทางรับเงินที่หลากหลายมากขึ้น

สำหรับการค้าขายบนมาร์เก็ตเพลซที่มี transaction เข้ามาเดือนละครั้ง หรืออาทิตย์ละครั้ง ปีหนึ่งจะไม่ถึง 400 ครั้ง
แม้ว่ายอดเงินจะเกิน 2 ล้านบาท ก็ไม่เข้าข่ายถูกตรวจสอบ เพราะยอดออร์เดอร์จะถูกรวมเป็นเงินก้อนเดียว เป็นการลดปริมาณ transaction ลงได้เหมือนกัน หรือวิธีการเก็บเงินปลายทางหรือใช้บริการพวกเพย์เมนต์เกตเวย์ก็ช่วยลด transaction ได้ด้วยเหมือนกัน

มุมมองในแง่ของคนทำงานอีคอมเมิร์ซมองว่ารัฐออกกฎหมายนี้เร็วเกินไป เพราะไทยกำลังปรับเข้าสู่สังคมไร้เงินสด คนยังไม่ได้เริ่มใช้กันเท่าไหร่ ก็อาจทำให้คนเลิกใช้ หากรัฐรออีกสองปี ให้ใช้จนเป็นเรื่องปกติก่อน ออกกฎหมายมาถึงโอเค

จะตื่นตัวกันขนานใหญ่ในปีหน้า เมื่อมีคนโดนสรรพากรเรียก เพราะปีนี้เริ่มเก็บข้อมูลแล้ว และจะไปเริ่มบังคับใช้มีนาคมในปีหน้า ความโกลาหลจะเริ่มเกิดขึ้นอย่างแน่นอน