เคลียร์ชัดๆทำไม 7 ช่องทีวีดิจิทัล ‘ไม่ไปต่อ’ เงินเยียวยาล่อใจหวังล้างขาดทุน

ขาดทุนยับ-เงินเยียวยายั่วใจ “7 ทีวีดิจิทัล” ตบเท้า “คืนช่อง”

หลังผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลได้ “ยาวิเศษ” อย่างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2562 เรื่องมาตรการแก้ไขปัญหาการประกอบกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ที่เปิดทางให้ช่องทีวีดิจิทัล “คืนใบอนุญาต” ให้บริการได้ แถมยังได้ “เงินเยียวยา” บรรเทาอาการ “อกหัก” เมื่ออุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล ไม่เป็นอย่างที่คาด โดยเปิดให้ยื่นหนังสือแสดงความจำนงกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) ภายใน 10 พ.ค. 2562

เมื่อครบกำหนดเส้นตายปิดประตูรับหนังสือแจ้งความจำนง “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า  มีผู้ขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจทัล ทั้งหมด 7 ช่อง ได้แก่  1.ไบร์ททีวี 20  2.วอยซ์ทีวี21  3.MCOT family 4.ช่อง 13 Family 5.ช่อง 28 “3SD”  6.ช่องสปริงนิวส์ 19 และ 7.สปริง26 ของกลุ่มเนชั่นฯ

ส.ค. นี้ 7 ช่อง “จอดำ”

“โดยบอร์ด กสทช. จะอนุมัติให้ผู้ที่ยื่นความจำนงคืนใบอนุญาตได้ทุกราย แต่ต้องเปิดให้บริการต่อไปก่อนจนกว่าจะถึงวันที่บอร์ดกำหนดให้ยุติบริการ ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ที่ราวเดือน ส.ค. นี้”

ส่วนเงินเยียวยาที่แต่ละช่องจะได้ ขึ้นอยู่กับเอกสารทางเงินที่ทุกรายจะต้องยื่นเข้ามาภายใน 60 วัน

สูตรคำนวณเงินชดเชยกรณีคืนใบอนุญาต คือ วงเงินที่ผู้ประกอบการทีวิดิจิทัล ได้ชำระมาแล้ว คูณด้วยระยะเวลาใบอนุญาตที่เหลือ (10 ปี) หารด้วยระยะเวลาใบอนุญาตทั้งหมด (15 ปี) แล้วนำมาหักลบกับสิทธิ์ประโยชน์ตามคำสั่ง คสช. ฉบับก่อนนี้ ที่ได้รับการอุดหนุนค่าเช่าโครงข่ายทีวีดิจิทัล (Mux) ค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม เพื่อใช้เผยแพร่ภาพเป็นการทั่วไป (มัสต์แครี่)

“ขอยกตัวอย่างสูตรคำนวณเงินเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ กรณีทีวีดิจิทัลช่องหนึ่งชำระค่าประมูลใบอนุญาต มาแล้ว 400 ล้านบาท คูณด้วย 10 ปี และหารด้วย 15 ปี เบื้องต้นจะได้เงินคืน 267 ล้านบาท แต่จะต้องนำค่าเช่า Mux, ค่ามัสต์แคร์รี่และกำไร มาหักลบออกก่อน จึงจะเหลือเป็นเงินสุทธิที่ กสทช.จะจ่ายคืนให้กับช่องที่คืนใบอนุญาต”

ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

 

รายงานข่าวแจ้งว่า อัตราค่าเช่า MUX และช่องสัญญาณดาวเทียม ที่แต่ละช่องจ่ายไม่เท่ากัน ซึ่ง กสทช. จะจ่ายให้ตามยอดเงินที่ระบุในใบเสร็จ ฉะนั้น สิทธิประโยชน์ที่เคยได้ ถ้าคิดถึงเดือน ส.ค. 2562 ที่คาดว่าจะช่องที่ขอคืนจะ “จอดำ” ได้  ช่อง HD ต้องหักจากผลลัพธ์ในสูตรคำนวณ ราว 171.2 ล้านบาทต่อช่อง ส่วนช่อง SD จะอยู่ที่ราว 60.4 ล้านบาทต่อช่อง

ควักเยียวยา 3 พันล้าน

ขณะที่รายงานข่าวแจ้งว่า เบื้องต้นเงินค่าเยียวยาที่ กสทช.ต้องจ่ายให้กับ 7 ช่องทีวีดิจิทัลที่ตัดสินใจคืนใบอนุญาตรวมแล้วจะอยู่ที่ราว 3,000 ล้านบาท

 “แต่ตัวเลขจะยังไม่นิ่งจนกว่าบอร์ดจะกำหนดวันให้จอดำ เพราะตราบที่มีการออกอากาศ ก็จะยังได้รับเงินสนับสนุนค่าเช่าช่องสัญญาณดาวเทียม (Must Carry) ซึ่ง กสทช. จะอุดหนุนให้ 100% ตามคำสั่ง คสช. ก่อนหน้านี้ ที่ระบุให้อุดหนุนจนถึง ธ.ค. 2562 รวมถึงค่าโครงข่ายภาคพื้นดิน (Mux) จะครบกำหนดอุดหนุน มิ.ย. 2563”

ยอดเงินประมูลช่องทีวีดิจิทัล ที่ กสทช. จัดขึ้นเมื่อปลายปี 2556 ทั้ง 24 ช่องบริการธุรกิจ รวมอยู่ที่ 50,862 ล้านบาท ซึ่ง ณ สิ้น เม.ย. 2562 ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลจ่ายเงินประมูลมาแล้ว 34,310.2 ล้านบาท

เมื่อหักกับ “ค่างวด 5 – 6” ที่คำสั่ง คสช. เอื้อเฟื้อให้ผู้ประกอบการไม่ต้องจ่ายอีก 13,622.4 ล้านบาท และมีส่วนที่ 19 ช่องทีวีดิจิทัลที่เคยยื่น “ขอผ่อน+พักหนี้” จะต้องจ่ายเพิ่มให้ครบอีก 3,215.2 ล้านบาท(ภายใน 120 วัน) รวมถึงที่ “กสทช.” ต้องจ่ายคืน 3 ช่องที่จ่ายมาล่วงหน้าแล้ว 986.6 ล้านบาท

เบ็ดเสร็จการประมูลช่องทีวีดิจิทัลเมื่อปลายปี 2556 จะมีรายรับ 34,310.2 ล้านบาท โดยยังไม่ได้หักเงินเยียวยาใดๆ  น้อยกว่าวงเงินที่ผู้ประกอบการประมูลไว้ 16,551.8 ล้านบาท

7 ช่องทีวีดิจิทัลที่ขอคืนใบอนุญาต

ช่อง 3 ระบุ เม็ดเงินโฆษณาทีวีต่างจากตอนประมูลมาก

นายฉัตรชัย เทียมทอง เลขานุการคณะกรรมการ บมจ. บีอีซี เวิลด์ ระบุถึงเหตุผลในการ “คืนใบอนุญาต” ช่องทีวีดิจิทัล 2 ช่อง ของบริษัทย่อย คือ บริษัท บีอีซี-มัลติมีเดีย ได้แก่ ช่อง 28 SD และ ช่อง 13 Famliy  เนื่องจากคณะกรรมการบริษัทฯ พิจารณาแล้วว่า อุตสาหกรรมโฆษณาทางทีวี เปลี่ยนแปลงไปจากตอนที่ตัดสินใจเข้าร่วมประมูลอย่างมาก พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปตามเทคโนโลยีทำให้มูลค่าโฆษณาทางทีวีไม่โตตามที่ประเมิน ประกอบกับมีภาระต้นทุนสูงมาก  จึงลดจำนวนการถือครองใบอนุญาตให้เหมาะสมกับสภาพการแข่งขัน

ขณะที่ผลประกอบการ ณ สิ้นปี 2561 ของ บมจ. บีอีซี เวิลด์  มีรายได้รวมของกลุ่ม BEC อยู่ที่ 10,375.7 ล้านบาทลดลง 6%  และขาดทุนสุทธิ 330.2 ล้านบาท ถือเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบ 48 ปีตั้งแต่ทำธุรกิจมา

“สปริงนิวส์” คาดได้เงินคืนกว่า 730 ล้านบาท

นายอารักษ์ ราษฎร์บริหาร  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น ระบุเหตุผลในการคืนใบอนุญาต ช่อง “สปริงนิวส์ 19” เนื่องจาก 5  ปีที่ผ่านมาผลประกอบการขาดทุนมาต่อเนื่อง โดยในปี 2557 ขาดทุน 111.30 ล้านบาท ปี 2558 ขาดทุน 34.59 ล้านบาท  ปี 2559 ขาดทุน 211.45 ล้านบาท ปี 2560 ขาดทุน 19.28 ล้านบาท และปี 2561 ขาดทุน 16.26

ขณะที่การ “คืนช่อง” จะทำให้ได้รับเงินจาก กสทช. 730.10 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินเยียวยาจากการคืนช่อง 510.5 ล้านบาท และเงินประมูลงวดที่ 5 ซึ่งบริษัทจ่ายไปแล้ว 219.60 ล้านบาท

ทั้งยังจะทำให้บริษัทมีความคล่องตัวในการเป็นผู้ให้บริการคอนเทนต์ผ่านสื่อดิจิทัลและนิวมีเดียในยุคที่ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งยังจะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ให้กับทีวีช่องอื่นๆ ได้ด้วย

คืน “SPRING 26” เป็นช่องทางบรรเทาความผิดพลาด

นายสมชาย มีเสน  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป หรือ NMG ระบุเหตุผลในการคืนใบอนุญาตช่อง “SPRING 26” (NOW 26 เดิม) ว่า บอร์ดบริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่าจะเป็นช่องทางบรรเทาความเสียหายที่เกิดจากนโยบายที่ผิดพลาดของอดีตผู้บริหาร และการได้เงินชดเชยจะช่วยแก้ไขปัญหาทางการเงิน ลดภาระหนี้ของบริษัท ทำให้มีสภาพคล่องดีขึ้น รวมถึงจะทำให้มุ่งเน้นกับธุรกิจหลักที่มีความเชี่ยวชาญอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ คอนเทนต์ข่าวสารสาระ  โดยที่ผ่านมาได้ขาดทุนสะสมต่อเนื่องกว่า 2,405 ล้านบาท

Voice TV สิ้นปี 60 ขาดทุน 354 ล้าน

นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร วอยซ์ทีวี

นายเมฆินทร์ เพ็ชรพลาย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทวอยซ์ทีวี จำกัด ระบุว่า  หลังคืนช่องทีวีดิจิทัล วอยซ์ทีวี ยังคงดำเนินงานต่อ แต่ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีสู่ทีวีดาวเทียม และแพลตฟอร์มสู่สื่อออนไลน์ ทั้งในเว็บไซต์ ยูทูบ เฟซบุ๊กเพจ ไลน์ อินสตาแกรมและ ทวิตเตอร์  โดยย้ำว่า วอยซ์ทีวีได้ออกอากาศครั้งแรกผ่านระบบดาวเทียม เมื่อ 29 มิ.ย. 2552 ก่อนจะเริ่มออกอากาศช่องทีวีดิจิทัล เมื่อ 1 เม.ย. 2557

ขณะที่ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุผลประกอบการของบริษัท วอยซ์ ทีวี จำกัด ณ สิ้นปี 2560 ขาดทุนสุทธิ 354 ล้านบาท

ไบรท์ทีวี หวังเคลียร์ขาดทุนสะสม

ด้าน นายสมชาย รังษีธนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สถานีโทรทัศน์ไบรท์ทีวี เปิดเผยเมื่อครั้งเข้าร่วมประชุมชี้แจงเงื่อนไขการคืนใบอนุญาตของ กสทช. เมื่อ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เท่าที่ประเมินไบรท์ทีวี จะได้รับเงินชดเชยราว 400 ล้านบาท ขณะที่ปัจจุบันบริษัทขาดทุนสะสม 700 ล้านบาท หลังคืนใบอนุญาตก็จะปรับสู่แพลตฟอร์มออนไลน์

ขณะที่ข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุผลประกอบการของบริษัท ไบรท์ทีวี  จำกัด ณ สิ้นปี 2560  ขาดทุนสุทธิ 134 ล้านบาท

อสมท แจงคืนช่องได้เงินเยียวยา-ไม่ต้องจ่ายงวดที่เหลือ

ขณะที่ บมจ. อสมท ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่า การคืนช่อง 14 MCOT Family  นอกจากจะทำให้ บมจ. อสมท ได้รับเงินค่าชดเชยแล้ว ยังไม่ต้องชาระค่าใบอนุญาตงวดที่ 5 และงวดที่ 6 ด้วย