“นวัตกร” ไม่ใช่แกะดำ โจทย์ใหญ่นโยบายสาธารณะ

การขาดแคลนบุคลากรในวงการเทคโนโลยี โดยเฉพาะไอซีทีและดิจิทัล เป็นปัญหาเรื้อรังมานาน แม้ปัจจุบันจะมีหลักสูตรปริญญาตรีด้านคอมพิวเตอร์กว่า 500 หลักสูตรใน 170 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ แต่ละปีมีผู้จบการศึกษากว่า 20,000 คน แต่ข้อมูลจากงานวิจัยโครงการศึกษาการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-curve) และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ระบุว่า ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหา “ปริมาณ” คนดิจิทัลไม่พอ ในปี 2560 มีผู้จบปริญญาตรีสาขาคอมพิวเตอร์ว่างงานราว 7,000 คน

แต่ภาคธุรกิจมีปัญหา แสดงว่า บุคลากรมีปัญหาด้านคุณภาพ มีทักษะที่ไม่ตรงกับความต้องการของธุรกิจสถาบันการศึกษาด้านอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบออโตเมชั่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนและซ่อมบํารุงอากาศยาน 1 ใน new S-curve ยังมีไม่มาก ขณะที่การผลักดันประเทศไทยสู่ยุค 4.0 หลายฝ่ายได้ชี้ถึงข้อควรระวังว่ายิ่งทำให้ไทยกลายเป็นประเทศ “ผู้บริโภค” เทคโนโลยีรายใหญ่มากขึ้น เพราะไม่มีการส่งเสริมให้เกิด “นักพัฒนา-นวัตกร” ผู้สร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่

“ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” ประธาน TDRI ได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาในการสร้างนักพัฒนา บนเวที “Creating Innovators : สร้างคนรุ่นใหม่ให้เป็นนวัตกรเปลี่ยนโลก” จัดโดย TK Park สสส. และสำนักพิมพ์ Bookscape ระบุว่า 2-3 ปีมานี้ ประเทศไทยสนใจการส่งเสริมการพัฒนา “นวัตกร” ที่จะสร้างนวัตกรรมใหม่ขึ้นมา “disrupt” สิ่งเก่าเป็นหลัก

แต่หนึ่งในปัญหาที่พบในระบบ “มหาวิทยาลัย” แหล่งบ่มเพาะนวัตกรรมยังมีเรื่องโบราณล้าสมัยฉุดรั้งไม่ใช่เฉพาะในไทย อาทิ การกำหนดตัวชี้วัดผลงาน (KPI) ของอาจารย์ในมหาวิทยาลัยว่า ต้องมีผลงานวิชาการ ต้องทำวิจัย แต่อาจารย์หรือคนที่ช่วยเป็นพี่เลี้ยงให้เด็กที่เป็นนวัตกรเป็น “แกะดำ” ในหมู่นักวิชาการทั่วไป

การเป็น “นวัตกร” ไม่จำเป็นต้องสร้างเฉพาะสิ่งใหม่ที่ “disrupt” สิ่งเก่าอาจเป็นเพียงคนที่ทำของใหม่แบบปรับปรุงของเดิมให้ค่อย ๆ ดีขึ้นไม่จำเป็นต้องหวือหวาแต่ทำได้ทุกที่และทุกวัน “นวัตกร” แบบนี้ทุกคนน่าจะเป็นได้ และควรส่งเสริม”นักนวัตกรรมเป็นคนที่ได้ทั้งพรและคำสาป เพราะคนที่เป็นนวัตกรที่ประสบความสำเร็จในชีวิตจะมีความสุขมาก อิ่มเอมและตื่นเต้นจากการได้

ทำสิ่งใหม่ ได้เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่ด้วยความเป็นคนที่แตกต่าง ก็จะมีคนในสังคมที่ไม่เข้าใจเยอะ โดยเฉพาะในสังคมแบบไทย ๆ กระทั่งต้องมีความสามารถเฉพาะตัวหรือทักษะที่คล้าย ๆ กับสามารถ “แอบทำ” ให้เป็น”ในหนังสือ Creating Innovators : คู่มือสร้างนักนวัตกรรมเปลี่ยนโลก โทนี วากเนอร์ นักการศึกษา ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการคนแรกของ Harvard Innovation Lab ยกตัวอย่างว่าพ่อแม่ของนวัตกรหลายคนมักปล่อยให้ลูกมีอิสระ แต่ถึงจุดหนึ่งพอไปเจอความจริงในโรงเรียนจะเกิดแรงกดดันถ้าปล่อยไปแบบโรงเรียน ลูกก็ไม่มีความสุข แต่ถ้าปล่อยให้ลูกเป็นอิสระครูก็ไม่พอใจ เกิดปัญหาการเข้าสังคม เป็นความทุกข์ของนักนวัตกรรม

ดังนั้นนวัตกรต้องมีปัญญาเอาตัวรอดในสังคมถ้าเป็นเด็กอาจต้องทำทีละเล็กทีละน้อยแล้วลองดูว่าแบบไหนปลอดภัย ทั้งเป็นโจทย์ผู้ใหญ่ในบ้านเมืองต้องขบคิดในเชิงนโยบายสาธารณะว่าจะทำอย่างไรให้โรงเรียนของไทยปลอดภัยสำหรับการทำสิ่งแผลง ๆ เพื่อให้เด็ก ๆ สร้างนวัตกรรมได้ตลอดเวลา