“คืนช่อง” ไม่ลดดีกรีแข่งดุ ผ่ากลยุทธ์ Workpoint ชิงแชร์

ท่ามกลางสมรภูมิที่มี 7 ช่องทีวีดิจิทัลยกธงขาว แต่ “เวิร์คพอยท์” ยังคงยืนยันและโชว์ผลประกอบการที่แซงหน้าหนึ่งในเจ้าตลาดเดิมที่ทำธุรกิจมาหลายทศวรรษ หนึ่งในหัวเรือใหญ่คือ “ชลากรณ์ ปัญญาโฉม” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานดิจิทัลทีวี บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) “ประชาชาติธุรกิจ” พาเปิดแนวคิดฝ่ากระแสดิสรัปต์

Q : ไปต่อแถมลุยออนไลน์มากขึ้น 

การคืนช่องไม่ได้ทำให้การแข่งขันลดลง เม็ดเงินกระจายไปในทุกที่ และแข่งกันทั่วโลก และยุคนี้เราไม่รู้เลยว่า เดี๋ยวอะไรจะเกิดขึ้น และความยากคือ แล้วเราต้องรับมือกับมันอย่างไร แม้แต่แพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ระดับโลกเอง ก็ไม่รู้หรอก สิ่งที่ผมพยายามทำมาตลอด ซึ่งเบสิกมากคือ “ตั้งคำถาม ทำทดลอง แล้วนำไปใช้” ความยากคือ เราจะกล้า ?

เวิร์คพอยท์เดิมเป็นแค่ผู้ผลิต แล้วก็มีช่อง วันนี้เรามีพาร์ตเนอร์มากมาย และเป็นพาร์ตเนอร์ที่คนบอกว่าเขาจะมาทำให้เราตาย อย่างเน็ตฟลิกซ์ วิว ฯลฯ

แต่เดือนหน้าเน็ตฟลิกซ์จะทำสิ่งที่คนคิดไม่ถึง คือนำคอนเทนต์ออริจินอลมาฉายบนช่องเวิร์คพอยท์ มาใช้ช่องทางที่คนบอกว่ากำลังจะตาย เพราะคนดูในช่องทางของเขายังน้อย สเกลยังไม่ได้ ซึ่งเขาก็คุยกับผมว่า เป็นการทดลองแบบหนึ่งอย่างเฟซบุ๊กในไตรมาสหน้า ก็มาจ้างเวิร์คพอยท์ด้วยเงินก้อนใหญ่เพื่อมาทำอะไรสักอย่างบนแพลตฟอร์มวิดีโอ ซึ่งก็ยังไม่รู้หรอกว่าจะเวิร์กหรือไม่

ทุกวันนี้ ดิสรัปชั่นเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และไอเดียไม่ใช่เรื่องยากแล้ว แต่ที่สำคัญคือ เรามักคิดไอเดียออกแต่ไม่ค่อยลงมือทำ

Q : รายได้ช่องทางออนไลน์เยอะ

ถ้าเทียบกับพาร์ตเนอร์ของเรายังถือว่าน้อยมาก เพราะอย่างยักษ์ใหญ่คือเขาแค่ใส่คอนเทนต์แล้วมี AI ช่วยวิเคราะห์ แต่ของเรายังต้องมีฝ่ายขายไปอธิบายลูกค้า โชว์ดาต้าหลังบ้านให้เห็นว่ามีคนดูเท่าไร ขณะที่ลูกค้าและเอเยนซี่ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ ฉะนั้นเขาไปซื้อโฆษณาบน YouTube มันง่ายกว่ามาก

ส่วนถ้าเทียบรายได้ทั้งหมดของเราเอง ออนไลน์ก็ยังคิดเป็นแค่ 15% รายได้รวม แต่จากการเริ่มทดลองทำ YouTube Facebook Live เมื่อ 4 ปีที่แล้ว ณ เวลานั้นยังไม่รู้และไม่มีใครบอกว่า จะหาเงินจากช่องทางใหม่ที่คนบอกว่าจะมาฆ่าเรา เป็นช่องทางที่จะมีคนดูมาก ซึ่งหลอนจิตมากเพราะเราเพิ่งจ่ายค่าช่องไปเป็นพันล้าน แต่วันนี้มีคนซับสไครบ์ 23 ล้าน อยู่เป็นอันดับ 70 ของโลก และมีคนดูคอนเทนต์ผมเป็นอันดับ 17 ของโลก ถึงสิ้นปีน่าจะมีคนดูราว 30 ล้านคน คร่าว ๆ สร้างรายได้ให้ผมอยู่ 200-300 ล้านบาทต่อปี ก็ถือว่าไม่เลว ถือว่ามีเงินจ่ายเงินเดือนพนักงานได้

Q : กล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง

ความกลัวทำให้เราไม่กล้าทำอะไรในสิ่งที่ไม่คุ้น ณ เวลานั้นผมคิดว่า ถ้าคนออกนอกบ้าน การมีคอนเทนต์บนมือถือจะทำให้คนได้ดูง่ายขึ้น ถึงได้เริ่มให้ฉายบนจอทีวีไปพร้อมกับบนมือถือ ถ้ามีโอกาส ไม่ได้มีแต่ข้อเสีย ลองไปก็ไม่ได้เสียหาย ซึ่งก็มีคนในอุตสาหกรรมทักด้วยซ้ำว่าจะเป็นการเร่งให้ทีวีเจ๊งเร็วขึ้น แต่ด้วยสปีดการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

ผมคิดว่า ถ้าเราไม่ทำ อีกสักแป๊บก็จะมีคนอื่นทำ การที่เราโดดทำเร็ว ยิ่งทำให้กระบวนการเรียนรู้ทำได้เร็วขึ้น และการจะเรียนรู้อะไรสักอย่างต้องตัดข้อจำกัดในใจไปให้ได้เร็วที่สุด ในกระบวนการตัดสินใจ

ธุรกิจสมัยนี้คือ ลองผิดลองถูก ตกมาก็ไต่ขึ้นไปใหม่ แค่หาทางป้องกันความเสี่ยงไว้ด้วยการขีดเส้นเงินทุนที่ยอมให้สูญได้ การลองผิดลองถูกเยอะ ๆ เต็มที่ก็แค่เหนื่อย

Q : เป็นบิ๊กบอส-บริษัทมีตังค์เลยกล้าได้

ไม่ใช่ซะทีเดียว แต่เวลาจะเปลี่ยนอะไรแรง ๆ ต้องเริ่มจากผู้ใหญ่ในบริษัทก่อน ซึ่งยากที่สุด ถ้าผู้ใหญ่ไม่ทำ เด็กก็ไม่มีกล้าทำ ถึงกล้าไปทำลับหลังก็จะแอบมาด่าเราลับหลัง อย่างตอนทำทีวีดาวเทียมเมื่อ 7 ปีก่อน หรือบนออนไลน์ เด็กรุ่นใหม่มองว่า มันไม่เท่ ดูเป็นงานไม่มีเกียรติ ไม่มีใครทำ ผมก็ลงไปทำเอง ทำให้เห็นว่าเอาจริง และเกิดรายได้ได้ ซึ่งเรื่องเส้นแบ่งอายุ 35 ปี จะเห็นความต่างอย่างชัดเจนเรื่องเจเนอเรชั่น ยิ่งในอุตสาหกรรมบันเทิง เมื่อก่อน 1 คนทำได้ทุกอย่าง จะทำรายการทีวีใช้คนไม่เกิน 3 คน แต่ยุคนี้ 1 กองถ่ายต้องใช้คนไม่ต่ำกว่า 10 คน กลายเป็นทำงานเท่าเดิม แต่ใช้คนเพิ่มขึ้นมาก และค่าตัวก็เพิ่มขึ้น ทุกวันนี้ผมบอก คุณจะใช้คนในกองเท่าไรไม่ว่า แต่สิ้นปีโบนัสน้อยห้ามบ่น ก็ให้ไปเลือกเอา เป็นปัญหาคลาสสิกที่ผมก็ยังไม่รู้จะแก้อย่างไรก็ใช้วิธีนี้ไปก่อน

Q : คนไม่ดูทีวีแบบเดิม ๆ แล้ว

ทั่วโลกตัดแบ่งคนดูที่อายุ 35 ปี คือ ต่ำกว่า 35 อยู่กับออนไลน์ 35 ปีขึ้นไปคือยังต้องใช้เวลาปรับตัว ซึ่งในโลกคนแก่เยอะกว่าเด็ก เพียงแต่เด็กเสียงดังกว่า และมีเคสที่ผมเชิญน้องที่ดังมากในออนไลน์ ช่องยูทูบเขามีคนดูเป็นล้าน ๆ แต่พอออกรายการทีวียิ่งดังขึ้นไปอีก นี่เป็นการทดลองง่าย ๆ ที่แสดงว่า พื้นที่ออนไลน์กับโลกทีวีแบบดั้งเดิมยังแยกส่วนกันอยู่ ไม่เชื่อมถึงกัน 100% แปลว่าคนยังไม่ได้เลิกดูทีวีทั้งหมด เพราะถ้าเชื่อมถึงกันแล้ว คนบนทีวีก็จะไม่แปลกใจอะไร เพราะก็รู้จักเขาอยู่แล้วจากการทดลองนี้ทำให้ผมเริ่มทำรายการทีวีเดอะแรปเปอร์ ได้ง่ายขึ้น แต่ตอนที่เริ่มทำ ผมเหนื่อยมาก เพราะแรปเปอร์ที่ดังอยู่ในยูทูบในออนไลน์ เชื่อว่า เขาดังอยู่แล้ว ก็ต้องจูงใจให้เชื่อว่า ถ้ามาออกทีวีจะยิ่งดังขึ้นไปอีก สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนที่มาออกในซีซั่นแรก

ทุกคนมีคอนเสิร์ตไปแสดงทุกวัน 365 วัน ทำให้ซีซั่นสอง คนที่ดัง ๆ ยิ่งมาออกรายการ และกลายเป็นกระแสหลักว่า เพลงใหม่ยุคนี้ต้องมีท่อนแรป แต่ในไทยยังมีปัจจัยเรื่องค่าโมบายอินเทอร์เน็ต ตอนนี้จ่าย 600 บาทต่อเดือน ถึงจะดูได้ ถ้าลดลงเหลือแค่ 300 บาท ก็อาจจะเร่งได้เร็วขึ้น

Q : คอนเทนต์ที่ดีในยุคนี้

เป็นคำถามของอุตสาหกรรมนี้ คอนเทนต์ที่ทุ่มทุนโปรดักชั่นอลังการ มักจะถูกเชิดชูว่าดี แต่น้องเก๋ไก๋ที่เป็น YouTuber ที่เป็นคนไทยแรก ๆ ที่มีคนติดตามเกิน 10 ล้านราย ไม่สนใจสิ่งนั้น

เขาถ่ายเรื่องที่เขาชอบ แต่ก็มีคนติดตามและมีรายได้มากกว่าทีวีบางช่อง ทุกวันนี้มันข้ามเส้นแบ่งเดิม ๆ ไปแล้ว ซึ่งแปลว่าคอนเทนต์อะไรก็ตามที่คนชอบ ไม่ได้มีรูปแบบที่ชัดเจนอีกแล้ว แต่คือใครก็ได้ที่ทำเนื้อหาที่คนชอบ ยิ่งยั่วให้คนอยากทำคอนเทนต์ขึ้นออนไลน์ ไปถามที่อายุต่ำกว่า 15 ปีวันนี้ เกินครึ่งอยากเป็นอยู่ 2 อาชีพ คือ YouTuber กับนักกีฬาอีสปอร์ต นี่คือความเสี่ยงที่อุตสาหกรรมนี้จะถูกดิสรัปต์อย่างเฟซบุ๊กไลฟ์ในไทย คือเป็นประเทศแรก ๆ ที่นำฟังก์ชั่นนี้ไปขายของได้ และขายได้จริง ๆ เพราะเทคไอทีจะคิดว่า การมีปุ่มกดให้คลิกจ่ายตังค์ได้คนจะชอบ แต่คนไทยชอบโอนเงินผ่านเลขบัญชีทั้ง ๆ ที่มันโกงง่ายมาก นี่คือการใช้เทคโนโลยีผิดประเภท แต่เวิร์กกับคนไทยมาก ฉะนั้นการทดลอง คือทำให้รู้ว่าจะทำอย่างไรจะพอดีกับธุรกิจที่เราทำอยู่ กับพฤติกรรมลูกค้าของเรา