เปิดพื้นที่ให้ “กบฏ” แสดงออก โจทย์องค์กรยุคดิจิทัลดิสรัปชั่น

การรับมือกับกระแสดิจิทัลดิสรัปชั่นคือโจทย์สำคัญขององค์กรยุคนี้ RISE สถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร เปิดเวที How to Drive Corporate Innovation Through Deep Tech ให้ผู้เชี่ยวชาญได้แลกเปลี่ยนมุมมอง

“ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (เออาร์วี) บริษัทในเครือปตท.สผ. กล่าวว่า ความท้าทายขององค์กรใหญ่ คือ กรอบการทำงาน สกิลเซต และไมนด์เซตแบบเดิม ที่เทคโนโลยีทำให้กรอบเดิม ๆ ไม่คล่องตัว จึงจำเป็นต้องสร้างวัฒนธรรมใหม่ โดย “เชื่อมสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่” เพราะกรอบเดิม ๆ ก็ยังมีสิ่งดี ๆ เช่น ยูซสเคส เพนพอยต์ต่าง ๆ เชื่อมโยงกับการรีสกิลคนในองค์กร

“ธุรกิจพลังงานก็โดนดิสรัปต์ แต่รับมือทำได้ค่อนข้างช้า มีข้อติดขัดเยอะ กรอบเดิม ๆ ทำให้ไม่คล่องตัวและยุ่งกับการทำงานรูทีนจนไม่มีเวลาคิดอะไรนอกกรอบแต่ตอนนี้เราตระหนักแล้วว่าเอไอ โรโบติกส์มีประโยชน์ สามารถสร้างรายได้ได้จริง ๆ จึงได้แยกออกมาเป็นบริษัทด้านเอไอ”

เปิดโอกาสให้กบฏแสดงออก

“ชนิกานต์ ว่องวิริยะวงศ์” ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง EATLAB ดีฟเทคสตาร์ตอัพ กล่าวว่า ในทุกอุตสาหกรรมมักจะมี “กบฏ” หรือคนที่ไม่ค่อยทำตามกฎขององค์กรเพื่อแก้ปัญหา หากจะรับมือกับดิสรัปชั่นต้องให้โอกาสคนกลุ่มนี้ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ถ้าองค์กรมีความเชื่อมั่นในคนก็จะได้ความเชื่อใจกลับมา

“ต้องปล่อยและสนับสนุนเพื่อเปลี่ยนอินโนเวชั่น อย่างฟู้ดเทคมีความท้าทายที่ไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ดังนั้น แค่อธิบายการปรับใช้ให้ระดับผู้บริหารก็ยากมาก ยิ่งกว่านั้นต้องนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้อย่างไร้รอยต่อมากที่สุด”

บล็อกเชน-Quantum

ด้าน “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง Bitkub.com ซึ่งได้รับใบอนุญาตทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลจาก ก.ล.ต. กล่าวว่า แทบทุกอุตสาหกรรมกำลังเผชิญกับการถูกดิสรัปชั่น โดยเฉพาะเมื่อยักษ์ใหญ่ในโลกโซเชียลอย่างเฟซบุ๊กยังโดดเข้ามาเล่นในเทคโนโลยีบล็อกเชนและคริปโทเคอร์เรนซี ด้วยการออกสกุลเงินดิจิทัล “Libra” และจะยิ่งเห็นการถูกดิสรัปต์จากเทคโนโลยีบล็อกเชนมากขึ้น ซึ่งจะนำบล็อกเชนมาใช้ได้ ต้องทำความเข้าใจ มีไมนด์เซตที่กล้าเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมมาสู่สิ่งใหม่ และทลายข้อจำกัดของกฎหมาย กฎระเบียบที่ทำให้นวัตกรรมเกิดช้า

ขณะที่ “ดร.ธิปรัชต์ โชติบุตร” อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ร่วมก่อตั้ง QTFT กล่าวว่า Quantum Computing เป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ ซึ่งในต่างประเทศเริ่มเปิดหลักสูตรภายในองค์กร โดยดึงผู้เชี่ยวชาญมาให้ความรู้ มีการจัดเวิร์กช็อปซึ่งไทยก็ควรจะเริ่มเพื่อเพิ่มให้คุ้นเคยกับเทคโนโลยี รวมถึงการนำหลักการของ Quantum มาสร้างอัลกอริทึ่มใหม่ เพื่อทำให้เอไอฉลาดขึ้น

“รัฐ” แม้ไม่มีคู่แข่งก็ต้องปรับ

“ฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์” รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือดีป้า กล่าวว่า ภาครัฐจะถูกดิสรัปต์ช้ากว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพราะเป็นหน่วยงานที่ผูกขาด ไม่มีคู่แข่ง แต่ก็ต้องทรานส์ฟอร์มตัวเองด้วยการนำข้อมูลที่มีอยู่ในมือไปพัฒนาต่อยอดให้เกิดบริการที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชน มีการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการตัดสินใจและวางนโยบายต่าง ๆ รวมถึงการพัฒนากำลังคนให้พร้อมด้านไอทีที่จะเข้ามาปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน

“ภาครัฐที่ดีที่สุด คือ รัฐที่คนไม่เห็นเหมือนกับแบงก์ที่ไม่ต้องไปสาขาก็โอนเงินได้ ตอนนี้เรากำลังเรียนรู้โมเดลของเอสโตรเนีย และกำลังหาพาร์ตเนอร์ที่จะทำงานร่วมกัน รวมถึงผลักดันด้านบิ๊กดาต้าของภาครัฐด้วย”