คุณหมีกับเจ้าเหมียว จาก LINE สู่ Merchandise

photo : FB Smaisiam

LINE sticker creator กลายเป็นอาชีพในฝันของคนรุ่นใหม่ที่ใช้ความชอบสร้างรายได้ จนทำให้วันนี้มีกว่า 48,000 คนที่กระโดดเข้าสู่วงการ

แม้ว่ากว่าจะประสบความสำเร็จได้ใช่เรื่องง่าย แต่ก็มีไม่น้อยที่ก้าวไปได้ไกลมากอย่าง “ลลิดา ธนานุประดิษฐ์” ผู้สร้าง LINE sticker “คุณหมีกับเจ้าเหมียว” ที่ได้เผยเคล็ดลับ ภายในงาน BIDC : Bangkok International Digital Content Festival 2019 ว่าทำอย่างไรถึงสร้างผลงานจนมีรายได้หลักแสนต่อเดือน และได้ก้าวสู่โลกของ “merchandise” ที่นำแคแร็กเตอร์เนรมิตให้เป็นสินค้า และคอลเล็กชั่นพิเศษของแบรนด์ชั้นนำ

ลลิดา ธนานุประดิษฐ์

เริ่มด้วยใจ-ทำสม่ำเสมอ

“ความชอบ” คือจุดเริ่มต้น ตั้งแต่ก่อนมี LINE ด้วยการออกแบบตัวละครบอร์ดเกม, การ์ดเกม, วาดภาพประกอบหนังสือนิทาน แพ็กเกจจิ้งครีมสำหรับเด็ก จนเริ่มทำเพจชื่อ “Smaisiam” ที่วาดรูปลงเพจวันละรูป เป็นที่มาของแคแร็กเตอร์ “คุณหมีกับเจ้าเหมียว” เมื่อ 5 ปีก่อน และสร้างเรื่องราวให้ตัวละครผ่านภาพ และ “#วาดวันละรูป” สร้างแรงบันดาลใจให้ตัวเองและคนอื่น ๆ

“ค่อย ๆ สร้างสตอรี่ให้เขาค่อย ๆ อินกับแคแร็กเตอร์ที่สร้างทุกวันให้เกิดเป็นภาพจำ และ keep แคแร็กเตอร์ ซึ่งไม่จำเป็นต้องวาดสวยหรือเป๊ะ”

และเมื่อเริ่มนำแคแร็กเตอร์มาสร้างเป็น LINE  sticker หลักสำคัญที่จะดึงให้มีคนดาวน์โหลดไปใช้ คือ ต้องมีแอ็กชั่นและคำพูดที่คนใช้กันบ่อย ๆ

“นึกถึงคำง่าย ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น กลับมาแล้ว, หิวจัง หยิบจากเรื่องใกล้ตัว หรือสังเกตชีวิตประจำวันของคนรอบข้าง เทรนด์ กระแส ที่สำคัญให้ทำเป็นคอลเล็กชั่น และต้องมีผลงานต่อเนื่อง ไม่เช่นนั้นคนจะลืม”

ต่อยอดรายได้ไม่หยุด 

และแม้ว่า LINE sticker จะสามารถเป็นรายได้หลักแทน จนตัดสินใจลาออกจากงานประจำ แต่ก็ต้องไม่หยุดพัฒนาเพราะตลาดมีการแข่งขันสูงกว่าเมื่อก่อนที่สามารถสร้างรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน แต่ปัจจุบันมีรายได้ราว 5-6 หมื่นบาทต่อเดือน

“การจะอยู่รอดในตลาดได้ต้องมีแคแร็กเตอร์ชัดเจน สำหรับใครที่อยากจะเริ่มอาจจะวาดเล่น ๆ แล้วทำสติ๊กเกอร์ใช้เอง แล้วแชร์ให้เพื่อน ให้ครอบครัวใช้ก่อนก็ได้ ไม่ต้องคิดเรื่องหารายได้ ถ้ามีคนชอบ เดี๋ยวก็มีคนแชร์”

ขณะเดียวกัน ได้ดึงแคแร็กเตอร์จากโลกออนไลน์ไปสู่ออฟไลน์ด้วยการพัฒนา “merchandise” ที่เริ่มจากสิ่งของง่าย ๆ ในชีวิตประจำวัน ทำเป็นคอลเล็กชั่นให้คนรู้สึกอยากติดตาม ทำให้เป็นของที่จับต้องได้ และพอเริ่มติดตลาดแคแร็กเตอร์ก็สร้างโอกาสให้ได้ทำงานร่วมกับแบรนด์ เช่น ชั้นในซาบีน่า ซึ่งจะช่วยให้กระจายแคแร็กเตอร์ให้คนรู้จักมากขึ้น

“จุดเริ่มของการทำของขายมาจากเราอยากจะใช้เอง เลยไปปรึกษาพี่ ๆ ในวงการเพื่อหาผู้ผลิต แล้วก็เริ่มขายผ่านโซเชียลมีเดีย ออกบูทบ้าง หรือแพลตฟอร์มที่ขายงานแฮนด์เมด เช่น Pinkoi.com โดยเราต้องหมั่นหาตลาด กระจายสินค้าไปหลาย ๆ ช่องทาง”

ตั้งเป้าโกอินเตอร์

ขณะที่เป้าหมายระยะยาว คือ อยากให้ชาวต่างชาตินึกถึงประเทศไทยแล้วมีแคแร็กเตอร์คุณหมีกับเจ้าเหมียว เหมือนกับแคแร็กเตอร์ไทยที่ไปดังในต่างประเทศ เช่น Bloody Bunny โดยวิธีขยายตลาดไปต่างประเทศในตอนนี้พยายามนำแคแร็กเตอร์เข้าไปร่วมทำงานกับแบรนด์และธุรกิจต่าง ๆ โดยเฉพาะในช่องทางโซเชียลมีเดีย

“จุดแข็งของครีเอเตอร์ไทยมีความหลากหลาย จะวาดลายเส้นเหมือนญี่ปุ่นก็ได้ แบบฝรั่งก็ได้ หรือมีลายเส้นของตัวเองก็ได้ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ มีแต่ลายเส้นเดิม ๆ อย่างตอนนี้ตลาดอินโดนีเซียมาแรง เขานิยมใช้สติ๊กเกอร์ แต่ต้องศึกษากฎหมายให้ดี อย่างแคแร็กเตอร์คุณหมีกับเจ้าเหมียวก็ยังขายไม่ได้ เพราะไม่ได้ใส่เสื้อผ้า”

“ลิขสิทธิ์” ปัญหาใหญ่ตลอดกาล 

แต่เส้นทางในวงการแคแร็กเตอร์ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ อุปสรรคใหญ่คือ การถูก “ก๊อบปี้ผลงาน” แม้ว่ากฎหมายจะคุ้มครองผลงานทันทีที่วาดโดยไม่ต้องไปจดลิขสิทธิ์ แต่ก็หลีกเลี่ยงการถูกก๊อบปี้ไม่ได้ ยิ่งสื่อออนไลน์กว้างขวางรวดเร็ว ฉะนั้น ต้องศึกษาหาความรู้เพื่อปกป้องตัวเอง ต้องมีหลักฐานในการสร้างสรรค์งาน อย่างน้อยผลงานแต่ละชิ้นที่สร้างต้องมีลายเซ็นมีวันที่กำกับ

“บางทีคนที่เอาไปก็ไม่รู้ว่าใครเป็นต้นฉบับ บางคนก็เอาไปทำเป็นสินค้า ถ้าเจอแบบนี้อย่างแรกต้องแจ้งความก่อนจะไปเจรจากับคนที่ทำ โดยไปกรมทรัพย์สินทางปัญญา”