ปอท. กองปราบฯ จับมือ “เอ็มเฟค” สร้างเครือข่าย “ไวท์แฮกเกอร์” จัดแข่งขัน “TCSD Cyber Security Competition” ชิงเงินรางวัล 1 แสนบาท
พลตำรวจตรี ไพบูลย์ น้อยหุ่น ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) เปิดเผยว่า ได้เตรียมจัดประชุมความปลอดภัยไซเบอร์ หรือ TCSD Cyber Security Conference 2019 ภายใต้พันธกิจ “ร่วมคิดร่วมสร้างการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยี” ในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงแรม Centra by Centara Government Complex Hotel & Convention Centre โดยเปิดให้ผู้ที่สนใจเข้ารับฟังการสัมนาได้ฟรี ได้ตั้งแต่เวลา 09.00 – 16.00 น. เพื่อสร้างการตระหนักรู้และวิธีป้องกันอันตรายบนโลกออนไลน์ ให้กับประชาชนทั่วไป
และยังมีไฮไลท์สำคัญคือ การจัดแข่งขัน “TCSD Cyber Security Competition 2019” ซึ่งจะเป็นการแข่งขันแก้ปัญหาแบบทดสอบความปลอดภัยทางไซเบอร์ ชิงเงินรางวัลมูลค่ารวมกว่า 100,000 บาท
สำหรับรูปแบบการแข่งขันรอบแรกจะเป็นการนำข้อมูลที่เปิดเผยในพื้นที่สาธารณะนำไปเจาะระบบ ซึ่งเป็นความสามารถพื้นฐานของแฮกเกอร์ ส่วนรอบชิงชนะเลิศจะเป็นการแข่งขันกันตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อทดสอบทักษะทั้งในแง่ของการโจมตีและป้องกัน โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อการหาช่องโหว่ของระบบ
โดยเปิดรับสมัครเข้าร่วมแข่งขันตั้งแต่ 1-20 กันยายน 2562 ทาง Facebook Page “TCSD Cyber Security Competition”
ด้าน พลตำรวจตรี จิรภพ ภูริเดช ผู้บังคับการปราบปราม (บก.ป.) เปิดเผยว่า การปฏิบัติงานของตำรวจในปัจจุบัน ต้องเปลี่ยนมุมมองด้วยการสร้างเครือข่ายร่วมกับประชาชน เพื่อร่วมกันป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม โดยเฉพาะอาชญากรรมทางไซเบอร์ การสร้างเครือข่ายไวท์แฮกเกอร์ที่จะช่วยในงานป้องกันและปราบปราม
ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐทั้ง บก.ป., บก.ปอท. และกระทรวงดิจิทัลฯ รวมถึงภาคเอกชน คือ เอ็มเฟค จึงได้ประสานความร่วมมือเพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนทั่วไป เพื่อตระหนักถึงภัยคุกคามและวิธีป้องกัน ตลอดจนความเข้าใจในกฎหมายด้านไซเบอร์ได้อย่างถูกต้องและดียิ่งขี้น
ขณะที่นายศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. เอ็ม เอฟ อี ซี หรือ เอ็มเฟค บริษัทให้บริการคำปรึกษา พัฒนา และวางระบบคอมพิวเตอร์และเครือข่ายไอซีที เปิดเผยว่า ในโครงการนี้เอ็มเฟค ได้ร่วมมือกับ “ซีเคียว ดี เซ็นเตอร์” เพื่อออกแบบระบบการแข่งขันไซเบอร์ซิเคียวริตี้ระดับสากล เพื่อคัดเลือกผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาประชันฝีมือในโลกไซเบอร์
“อาชญากรรมไซเบอร์ เกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา จำเป็นต้องมีการเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงอย่างเท่าทัน ซึ่งการแข่งขันนี้จะกระตุ้นให้เกิดความเรียนรู้และสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่องทั้งภาครัฐและเอกชน”