อลหม่านปิด’2G’ 3 ค่ายมือถือวุ่น ลูกค้าค้างเติ่ง 3 ล้านราย

อลหม่านปิด 2G ค่ายมือถือมึนเดดไลน์ กสทช. 31 ต.ค.นี้ แต่ไร้แผนประชาสัมพันธ์ เผย 3 ล้านรายยืนยันไม่ย้ายเหตุไม่เชื่อจะปิดระบบจริง ชี้กว่าล้านเบอร์เป็น GPS ติดรถ-เครื่องรูดบัตรเครดิต

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า การปิดระบบการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยเทคโนโลยี 2G ยังเป็นวันที่ 31 ต.ค.นี้ หากผู้ใช้งานยังไม่อัพเกรดไปใช้ 3G, 4G ก็จะซิมดับ

“ถ้าโอเปอเรเตอร์คิดว่าทำไม่ทันก็ต้องทำเรื่องอุทธรณ์มา แต่เมื่อยังไม่เห็นหนังสือแจ้งก็ยังเดินหน้าต่อ”

ค่ายมือถือมึน กสทช.ยังไม่แจ้ง

ขณะที่แหล่งข่าวระดับสูงของทั้ง 3 ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ตรงกันว่า ยังไม่ได้รับแจ้งเป็นหนังสืออย่างเป็นทางการจากสำนักงาน กสทช.ว่าจะต้องปิดระบบ 2G ในวันที่ 31 ต.ค.นี้ ที่ผ่านมามีแต่การประชุมหารือร่วมกันไม่กี่ครั้ง ซึ่งตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมระบุชัดเจนว่า ผู้ให้บริการจะปิดโครงข่ายเองไม่ได้ ต้องมีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการจาก กสทช.ก่อน

“เมื่อไม่มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการ ลูกค้าที่ใช้งาน 2G อยู่ก็ไม่เชื่อ เมื่อทางค่ายมือถือพยายามแจ้งขอให้อัพเกรดเป็น 3G, 4G โดยเฉพาะลูกค้าองค์กรที่ใช้ซิมกับเครื่อง GPS ติดรถยนต์ และเครื่องรูดบัตรเครดิต ซึ่งจำเป็นต้องลงทุนอุปกรณ์ใหม่ ยิ่งต้องการหนังสือแจ้งทางการจาก กสทช. เพื่อนำไปตั้งเรื่องจัดซื้อใหม่ หรือบางรายก็ต้องการให้ซัพพอร์ตค่าเปลี่ยนให้ใหม่ ฉะนั้น การจะปิดระบบ 2G วันที่ 31 ต.ค.นี้ ทำไม่ได้แน่นอนเพราะจะมีลูกค้าได้รับผลกระทบจำนวนมาก”

แหล่งข่าวภายใน บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) กล่าวและว่าโดยปกติการจะปิดระบบ 2G กสทช.จะต้องประกาศเป็นทางการและมีการประชาสัมพันธ์ในระดับประเทศให้ผู้ใช้บริการทั่วประเทศรับทราบและเตรียมตัวอัพเกรดบริการก่อน ซึ่งสำคัญมากเพราะลูกค้าที่เป็นผู้ใช้งาน 2G ทั่วไป คือ กลุ่มที่ไม่ได้ติดตามเทคโนโลยี หรือเป็นผู้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ผู้สูงอายุ ซึ่งหากซิมดับโดยไม่ได้เตรียมตัวมาก่อนก็จะกระทบกับการสื่อสารในชีวิตประจำวันมาก

“จากจำนวนลูกค้าที่คงเหลือ ณ ขณะนี้ ปิดระบบ 2G ไม่ได้แน่นอน แต่ถ้า กสทช.มีหนังสือแจ้งทางการ เร็วสุดที่น่าจะพอทำได้คือสิ้นปี”

ด้านแหล่งข่าวภายใน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น เปิดเผยว่า ลูกค้าองค์กรส่วนใหญ่จะนำไปใช้งานกับเครื่อง GPS ในรถยนต์เช่า หรือรถขนส่งในระบบโลจิสติกส์ รวมถึงเครื่องรูดบัตร ซึ่งเท่ากับว่าซิมและอุปกรณ์ที่จะต้องเปลี่ยนหรืออัพเกรด ถูกกระจายอยู่ทั่วประเทศ

เคลียร์ “เสา-คลื่น” รับ 5G

นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เหตุที่สำนักงาน กสทช.ยังไม่มีหนังสือแจ้งปิดระบบอย่างเป็นทางการ เนื่องจากบอร์ด กสทช.ยังไม่ได้มีมติให้ปิดระบบ แม้ว่าจะมีการส่งเรื่องให้พิจารณาในการประชุมแล้ว เนื่องจากบอร์ดเกรงว่า การปิดระบบจะกระทบกับผู้ใช้งานจำนวนมาก

“แต่การปิดระบบ 2G เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเคลียร์เสาโทรคมนาคม และคลื่นความถี่เพื่อเตรียมพร้อมรองรับ 5G เนื่องจากปัจจุบันค่ายมือถือจะต้องแบ่งคลื่นย่าน 900 MHz ส่วนหนึ่งมาไว้ให้บริการ 2G ซึ่งถือว่าเป็นการใช้งานคลื่นไม่ได้เต็มประสิทธิภาพ”

เมื่อบอร์ดยังไม่มีมติ จึงยังไม่มีการสั่งห้ามนำเข้าอุปกรณ์ 2G และจากจำนวนลูกค้าที่เหลืออยู่ ณ ขณะนี้ เชื่อว่าค่ายมือถือจะอัพเกรดลูกค้าไม่ทัน 31 ต.ค.นี้ สำหรับลูกค้า 2G ยอดรวมล่าสุดที่ผู้ให้บริการแจ้งเข้ามาอยู่ที่ 3.65 ล้านราย แบ่งเป็น ลูกค้าเอไอเอส 1.97 ล้านราย ทรูมูฟ เอช 9.30 แสนราย ดีแทค 7.56 แสนราย ขณะที่ลูกค้าองค์กรมียอดรวมที่ 1.04 ล้านราย

เกาหลีใต้มี 5G ก็ยังไม่ปิด 2G

ด้านนายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านผู้คุ้มครองผู้บริโภค เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เหตุที่บอร์ด กสทช.ยังไม่ได้มีมติให้ปิดระบบ 2G ในวันใดแน่ เพราะก่อนหน้านี้สำนักงาน กสทช.ได้ส่งเรื่องเข้ามาให้พิจารณา แต่ยังไม่ได้มีแผนงานรายละเอียดที่ชัดเจนว่าจะมีการเปลี่ยนอุปกรณ์อย่างใด

“บอร์ดมีมติไปตั้งนานแล้วให้ สำนักงาน กสทช.ไปทำแผนเปลี่ยนแฮนด์เซต 2G มาเสนอให้พิจารณา แต่ก็ยังไม่มีมา ฉะนั้นจะให้ลงมติปิดระบบได้อย่างไร และเท่าที่ทราบ สำนักงานก็เพิ่งส่งหนังสือไปถามค่ายมือถือเมื่อต้นเดือนนี้ว่า ค่ายมือถือมีแผนอย่างไร ซึ่งตอนที่สิงคโปร์ที่เป็นแค่เกาะเล็ก ๆ จะปิดระบบ 2G ยังใช้เวลาเตรียมการถึง 2 ปี ไม่ใช่นึกอยากจะปิดก็ปิด”

ขณะเดียวกันในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งเปิดให้บริการ 5G แล้ว ยังคงระบบ 2G ไว้ เนื่องจากผู้ใช้งานส่วนใหญ่เป็นการใช้งานในลักษณะ “แมชีนทูแมชีน” คือ การนำซิมใส่ในอุปกรณ์เพื่อรับส่งสัญญาณ อาทิ อุปกรณ์มาตรวัดน้ำ อุปกรณ์ในเหมือง ในอุโมงค์ต่าง ๆ ซึ่งแฮนด์เซตไม่สามารถอัพเกรดได้ หากมีการปิดระบบ ผู้ให้บริการจะถูกฟ้องแน่นอน


“ทางออกของเกาหลีใต้ คือ นำโครงข่ายและระบบ 2G ทั้งหมดมารวมกัน แล้วแบ่งโซนพื้นที่ให้แต่ละค่ายมือถือดูแล เพื่อไม่ให้ทุกค่ายจะต้องคงระบบ 2G ไว้เองทั้งหมด ซึ่งสิ้นเปลืองกว่า”