ภารกิจ 5G “กสทช.” ทำงานไม่มีอุปสรรค งานนั้นไม่มั่นคง

สัมภาษณ์

ประกาศชัดเจนบนเวทีสัมมนาของ บมจ.มติชน “Roadmap 5G ดันไทยนำ ASEAN” ว่า 16 ก.พ. 2563 “กสทช.” จะจัดประมูลคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 5G พร้อมเปิดเงื่อนไขสำคัญในการเคาะราคา ที่เลขาธิการ กสทช. “ฐากร ตัณฑสิทธิ์” ย้ำว่า เป็นการปลดล็อกอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้ 5G เกิดในไทย การดันให้ 5G เกิดขึ้นให้ได้เป็นภารกิจสำคัญ เพราะจะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เฉลี่ยถึง 5.68% ของ GDP “ประชาชาติธุรกิจ” จับเคลียร์ทุกข้อสงสัยในภารกิจนี้

Q : ตั้งเป้าจะขายได้กี่ใบอนุญาต

คลื่น 2600 MHz และ 26 GHz เชื่อว่าจะขายได้หมดทั้ง 46 ใบอนุญาต เพราะใช้สำหรับ 5G ได้เลย ส่วนคลื่น 700 MHz กับ 1800 MHz ไม่รู้เพราะเหมือนค่ายมือถือจะยังไม่อยากได้ แต่ กสทช.ก็ต้องนำออกมาประมูลพร้อมกันไปก่อนเผื่อว่าจะมีบางค่ายอยากได้

Q : รีฟาร์มคลื่นดาวเทียมมาประมูลด้วย

กระทรวงดิจิทัลฯ เสนอให้นำคลื่น 34-37 GHz ที่ไทยคมใช้งานอยู่มาประมูลด้วย เพื่อจะได้มีคลื่นอีก 300 MHz ก็เป็นเรื่องที่ดีมาก แต่คิดว่าน่าจะไม่ทันการประมูล 16 ก.พ.นี้ เพราะต้องใช้เวลาเสนอให้บอร์ด 5G แห่งชาติอนุมัติก่อน เพราะก่อนนี้มติ ครม.กำหนดให้ใช้คลื่นนี้กับดาวเทียมจนถึงปี 2569 กระทรวงจะตัดสินใจคืนคลื่นเองไม่ได้ ซึ่งเบ็ดเสร็จน่าจะใช้เงินราว 3-4 พันล้านบาท

สำหรับเยียวยาไทยคมหรือผู้ที่ได้สิทธิ์ PPP ดาวเทียม กับประชาชนที่ใช้จานดาวเทียมแบบจานดำ ถือว่าคุ้มค่าเมื่อเทียบกับนำมาใช้ 5G ได้ น่าจะเป็นการเปิดประมูลเพิ่มเติมหลังจากเคาะราคา 16 ก.พ. 2563 ไปแล้ว ซึ่ง กสทช.ก็จะใช้เงินที่ประมูลได้มานำไปชดเชยผู้ที่ได้รับผลกระทบ

Q : จะทำให้ประมูล 16 ก.พ.ไม่ดึงดูด

ไม่ ถ้าในส่วนของคลื่น 700 กับ 1800 MHz อาจจะใช่ แต่คลื่น 2600 MHz กับ 26 GHz ค่ายมือถือจำเป็นต้องมี และแต่ละค่ายยังต้องมีคลื่นอย่างน้อย 100 MHz ฉะนั้นประมูลลอตแรกก็ยังไม่พอสำหรับการเปิดบริการในอนาคต

Q : จะแก้เกณฑ์ตามข้อเสนอค่ายมือถือ

ก็อยากจะแก้ให้นะ แต่มันไม่มี ม.44 แล้ว จะไปแก้ตรงไหนให้ได้ แล้วจะแก้ก็แก้ไม่ได้ เพราะสิ่งที่เอไอเอสเสนอเป็นประเด็นที่ดีทำให้ขับเคลื่อนได้ แต่กลายเป็นการกีดกันและผูกขาด ขัดกฎหมายทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการให้คลื่นไปเลยโดยไม่จัดประมูล หรือการนำเงินประมูลที่เข้ากระทรวงคลังไปแล้วกลับออกมาให้โอเปอเรเตอร์ไปลงทุนโครงข่าย ในระบบการเงินการคลังของประเทศมันเป็นไปไม่ได้ และไม่มีใครกล้าทำหรอก ถ้ารัฐบาลอนุมัติให้ ก็จะมีคำถามทันทีว่า ทั้ง 3 ค่ายยังมีกำไรอยู่ ทำไมรัฐต้องควักเงินจากคลังให้ รับรองว่าโดนอภิปรายไม่ไว้วางใจแน่นอน แค่ทุกวันนี้ไม่ได้ให้เงินก็ยังโดน

Q : ให้แคท-ทีโอทีทำเน็ตเวิร์กให้เช่า

ก็เป็นเรื่องที่ดีที่จะจ่ายให้ 2 รัฐวิสาหกิจทำเน็ตเวิร์กกลางให้ค่ายมือถือเช่าแทนลงทุนเอง แต่ก็มีปัญหาว่า แล้วทรัพย์สินนี้จะเป็นของใคร อย่างโครงการเน็ตประชารัฐตอนนี้ก็ยังมีปัญหาเรื่องนี้

และอยากให้คิดนะว่า เรามีบทเรียนจากทีวีดิจิทัล ที่พยายามแยกผู้ประกอบการออกเป็นช่องทีวี กับโครงข่ายให้เป็นคนละส่วนกัน ปัญหาที่เกิดคือ ทีวีก็บอกว่า โครงข่ายยังไม่เป็นไปตามต้องการเลย ขณะที่ฝั่งโทรคมนาคมทำทุกอย่างได้ดีเพราะโอเปอเรเตอร์เป็นผู้ลงทุนขยายโครงข่ายเอง ถ้าไม่ได้ตามเกณฑ์ก็รับผิดชอบเอง ถ้าไปโยนให้แคทกับทีโอทีทำ มันก็จะเกิดปัญหาโยนความรับผิดชอบกันไปมา

Q : เอกชนมองเกณฑ์ใหม่ก็มีปัญหา

ปัญหาจะเกิดขึ้นหรือไม่ เราตอบไม่ได้ แต่หน้าที่ของ กสทช.คือต้องประมูล เราก็ต้องทำกฎกติกา ถ้าจะไม่ให้ประมูลก็ต้องเปลี่ยนกฎหมาย ไม่งั้น กสทช.ก็ต้องได้เข้าไปกินโอเลี้ยง ข้าวผัดในคุก

Q : ราคาเริ่มต้นจะลดได้อีกไหม

คงยาก เพราะทุกอย่างมีที่มาที่ไปเราจ้างสถาบันการศึกษามาประเมิน แม้จะมีดุลพินิจให้เปลี่ยนได้ ถ้าจะเปลี่ยน กสทช.ก็ต้องตอบให้ได้

Q : ตกลงค่าชดเชยกับ อสมท แล้ว

ต้องแยกกัน คือ อสมท ไม่ได้โต้แย้งเรื่องที่เราเรียกคืนคลื่น หรือปฏิเสธที่จะคืนคลื่นมาให้เรา และคลื่น 2600 MHz อสมท ก็ไม่ได้ใช้งานอยู่แล้ว ฉะนั้น มี.ค. 2563 มอบใบอนุญาตแล้วคลื่นก็ใช้งานได้ ฉะนั้นถ้าเงินเยียวยายังตกลงกันไม่ได้ ก็เจรจาหรือจะเข้าสู่กระบวนการพิพาทกันไป

Q : บอร์ดหมดวาระนานแล้วยังมีอำนาจ

มี ม.44 เป็นกฎหมายให้อำนาจในการทำงานต่อไปเหมือนที่ กสทช.มีอยู่เดิม ฉะนั้นไม่มีปัญหาเรื่องอำนาจอีก ตราบใดที่ยังไม่มีการสรรหา กสทช.ชุดใหม่ ก็ยังมีอำนาจเต็ม ร่าง พ.ร.บ.ตอนนี้ก็เพิ่งผ่าน ครม. ยังไม่ได้เข้าสภาเลย

Q :ประมูลจะมีอุปสรรคเหมือนครั้งก่อน

มีแน่นอน แต่ผมถือตามหลวงวิจิตรวาทการว่า การทำงานใดที่ไม่มีปัญหาอุปสรรค งานนั้นไม่มีความมั่นคงถาวร งานที่มีปัญหาถ้าสำเร็จ จะทำให้มีความแข็งแรง เดินหน้าต่อไปได้ คนทำงานถ้าไม่มีปัญหาไม่เรียกว่างาน ฉะนั้นปัญหาปล่อยมันไป แล้วสู้ไปเรื่อย ๆ