อดีต-ปัจจุบัน-อนาคต แอนิเมชั่นไทยในสายตา ‘ธนาวัต’

สัมภาษณ์พิเศษ

Animator เป็นอีกหนึ่งอาชีพที่คนไทยได้รับการยอมรับในระดับโลก ที่ผ่านมามีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่อยู่ในทีมผลิตผลงานระดับโลก “ประชาชาติธุรกิจ” พาคุยกับ “เซ้ง-ธนาวัต ขันธรรม” หนึ่งในทีมงานผลิตแอนิเมชั่น “Spider-Man Into the Spider-Verse” ที่คว้ารางวัลออสการ์ สาขาแอนิเมชั่นยอดเยี่ยมเมื่อปี 2018

Q : เป็น Animator ให้ดีต้อง ?

อาชีพ animator ใกล้เคียงกับอาชีพนักแสดงที่สุด เพียงแต่ animator ไม่อยู่หน้ากล้อง แต่ต้องขยับตัวละครที่ไม่มีชีวิตให้มีชีวิต และ animator 1 คนต้องสวมบทบาทให้ได้มากกว่า 1 ซึ่งการจะเป็น animator ที่ดีส่วนใหญ่ต้องจบหลักสูตรการแสดงเพื่อให้เข้าใจอารมณ์ได้มากขึ้น รวมทั้งต้องโฟกัสทุกอย่างของการเคลื่อนไหวร่างกาย และสุดท้ายต้องมีจินตนาการสร้างโครงกระดูกของร่างนั้น ๆ ให้เคลื่อนไหวสมจริงและลื่นไหล ซึ่งความยากคือ ต้องดีไซน์ท่าทางที่คนปกติไม่ค่อยได้ทำ เช่น ฉากแอ็กชั่น ต้องดูหนังเยอะ ๆ และเรียนแอ็กติ้งคลาส

Q : ตัดสินใจไปทำงานที่ต่างประเทศ

ในไทย 5 ปีก่อนยังมองไม่เห็นอนาคต เพราะไทยเป็นแค่ประเทศที่รับจ้างผลิต วงการแอนิเมชั่นรายได้จึงค่อนข้างน้อย คนเข้ามาแล้วออกเร็วเพราะไม่ตอบโจทย์

ทำงานได้ประมาณ 3 ปีครึ่งก็เลิกแล้วหันไปโฟกัสกับการเล่นหุ้น แต่ใจก็อยากทำสิ่งที่รัก จึงตัดสินใจไปทำงานที่จีน 2 ปี เพื่อหาประสบการณ์ ซึ่งประเทศจีนมีทุนเยอะจริง แต่ทักษะฝีมือสู้คนไทยไม่ได้ ดังนั้น เขายินดีที่จะจ้างคนไทย

แต่จากจีนไปร่วมงานกับโซนี่ไม่ง่าย  สัมภาษณ์ 3-4 ครั้ง เป็นเดือน ซึ่งสิ่งที่มองว่าเป็นอุปสรรคของคนไทย คือ ยังไม่มั่นใจในความสามารถและภาษา

Q : ทำงานในต่างประเทศต่างกับไทย

กระบวนการคิดและการทำงานของโซนี่แตกต่างจากไทยและจีนโดยสิ้นเชิง อย่างจีนและไทยจะคล้ายกัน คือ ทำงานหนัก ทำล่วงเวลา โดยคนไทยก็เป็นกันเอง คุยเล่นกัน และคุณภาพของแอนิเมชั่นไม่ได้สูงมาก จึงเน้นทำให้จบ ๆ

แต่ที่โซนี่ค่อนข้างเป็นระเบียบ ไม่ชอบให้ทำงานล่วงเวลา เน้นที่กระบวนการคิดก่อนจะทำแอนิเมชั่น ก่อนทำโปรเจ็กต์ต้องมีการนำเสนอไอเดีย ต้องสื่อสารกันเยอะมากกับทีมงานและผู้กำกับ แต่กับเพื่อนร่วมงานแทบไม่เคยคุยกัน เพราะทุกคนโฟกัสที่งาน และการแข่งขันภายในก็สูงมาก เพราะใน 1 อาทิตย์ทำแอนิเมชั่นได้ 1 วินาทีเท่านั้น ทุกคนต้องการชอหนังที่ดี ซึ่งชอตที่ดีมีจำกัด ซึ่งการทำงานหนักไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์ แต่ต้องเข้าใจเนื้องาน

Q : วงการแอนิเมชั่นไทยเปลี่ยนไป

เติบโตไวมาก เริ่มมีโปรเจ็กต์ของตัวเอง เริ่มเป็นกึ่ง ๆ นายทุน เพราะแรงงานไทยเก่ง มีทักษะที่ดี ถ้าเทียบในเอเชียไม่ได้เป็นรองใครเลย แต่ถ้าเทียบกับในฝั่งยุโรปเรายังสู้ใครไม่ได้เลย เพราะว่าประเทศเหล่านั้นเขาเกิดมาก็เสพแอนิเมชั่น แต่ไทยยังเพิ่งเริ่มต้น ซึ่งในวงการแอนิเมชั่น การเรียนรู้ด้วยตัวเอง พัฒนาทักษะเองเป็นอะไรที่ช้ามาก ต้องเรียนรู้จากคนเก่ง ๆ

ที่ 5 ปีโตก้าวกระโดด ก็เพราะเราดึงคนเก่ง ๆ มาร่วมงานได้ แต่ยังไม่มีคนที่เก่งด้านนี้ของเราเอง ซึ่งปัญหาขาดบุคลากรยังแก้ไม่ได้ เด็กที่จบส่วนใหญ่จะหันไปเน้นที่การทำดีไซน์โมเดลตัวละคร ตลาดนี้มีความต้องการต่ำ แต่ animator ขาดตลาดมาก เพราะงานหนักและยาก แม้ค่าตอบแทนดีขึ้นกว่า 5 ปีก่อน แต่ก็ยังน้อยกว่าไปทำที่ต่างประเทศ อย่างเวียดนามและอินโดนีเซียที่ให้สูงกว่าไทย 2 เท่า

Q : โอกาสแอนิเมชั่นไทยก้าวสู่ระดับโลก

ไทยมีฝีมืออยู่แล้ว แต่ต้องปรับไอเดียสตอรี่ที่ไม่ยัดเยียดความเป็นไทยที่เยอะไป นอกจากนี้ ต้องพัฒนาทักษะภาษา เพราะต่อให้เก่งแค่ไหนแต่สัมภาษณ์ไม่ได้ก็ไม่มีโอกาสทำงานในต่างประเทศ และการจะพัฒนาคนจะต้องได้โปรเจ็กต์ที่ดี เช่น หนังใหญ่ แต่ที่ผ่านมาจะเป็นแอนิเมชั่นซีรีส์ที่ไม่ได้เน้นคุณภาพ ซึ่งการทำแบบนี้ไม่ต้องจ้างไดเร็กเตอร์แพง ๆ แต่แค่รับงานนั้นมาเพื่อให้ได้ไดเร็กเตอร์ ดังนั้น เราต้องการโปรเจ็ต์ที่ดี ซึ่งการจะดึงโปรเจ็กต์ที่ดีต้องทำเทสต์และเงินที่เรียกไป ดังนั้น ถ้าเรียกเงินสูงเขาอาจจะไม่เอาเรา ส่วนนี้ถ้ารัฐมาช่วยซัพพอร์ตเพื่อดึงโปรเจ็กต์ได้ก็จะดี

Q : มีโอกาสกลับมาทำงานที่ไทยไหม


จริง ๆ เตรียมกลับปีหน้าเพราะลาออกจากโซนี่เพื่อมาเป็น animation director ของแอนิเมชั่นเรื่องใหม่ในไทยที่คนจีนออกทุน โดยมีระยะสัญญา 1 ปี ดังนั้น ช่วงเวลานี้ก็ถือว่าจะได้ฝึกประสบการณ์เด็กไทย และเพื่อหาประสบการณ์เพิ่มก่อนกลับไปทำงานกับโซนี่อีกครั้ง