อีคอมเมิร์ซ’63 แข่งดุเดือด แบรนด์เร่งเปิดช็อปชิงแชร์

ศึกอีคอมเมิร์ซปี’63 เดือดต่อเนื่อง ค้าข้ามประเทศ food delivery พร้อมขยับสู่อีคอมเมิร์ซไทย จับตาแบรนด์กระโดดเปิด official shop เพิ่ม 3 เท่าตัว omni channel เต็มรูปแบบ

นายธนาวัฒน์ มาลาบุปผา  นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด เปิดเผยว่า คนไทยนิยมซื้อสินค้าออนไลน์ใน  3 ช่องทางหลัก คือ  social commerce  e-Market Place และ website สะท้อนว่าตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยมีตัวเลือกหลากหลาย ทั้งผลการวิจัยของไพรซ์ซ่ายังพบว่า 99 % ของผู้ที่มีสมาร์ทโฟน ที่ใช้สมาร์ทโฟนช่วยตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า 70% จากคนกลุ่มเดียวกัน ใช้สมาร์ทโฟนทั้งก่อนและระหว่างช็อปปิ้ง โดย 77% ใช้สมาร์ทโฟนช่วยในการหาข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า และ 56% ช่วยในการเปรียบเทียบราคาสินค้า

ในส่วนของไพรซ์ซ่า เว็บไซต์เปรียบเทียบราคา พบว่าสินค้าที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือ  สินค้าประเภทแม่และเด็ก และจ่ายเงินด้วยการโอนเงิน บัตรเครดิต และบริการเก็บเงินปลายทาง

ขณะที่เทรนด์สำคัญในปี 2564  คือ

1) e-Commerce is Global : ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะไม่เป็นเพียงแค่การค้าข้ามภูมิภาค แต่จะเป็นการค้าข้ามประเทศ ที่เชื่อมต่อกันได้ทั่วโลก สะดวก และรวดเร็วมากขึ้น

2) DTC : Direct to Consumer : แบรนด์สินค้าจะสร้างความสัมพันธ์โดยตรงกับลูกค้ามากขึ้น โดยในปีหน้า จำนวนร้านค้า brand official shop และจำนวนสินค้าจะเพิ่มมากขึ้น 3 เท่าตัว

3) Thailand World’s Leader in Social Commerce : ประเทศไทยจะเป็นผู้นำของตลาดโซเชียลอีคอมเมิร์ซ เนื่องจากคนไทยช็อปปิ้งผ่าน social commerce มากถึง 40% ถือเป็นประเทศที่มีจำนวนคนช็อปปิ้งผ่าน social commerce มากที่สุด และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

4) e-Commerce Delivery : บริษัทต่าง ๆ อย่าง Grab, Get, Line man ที่นอกจากจะเป็น food delivery ส่งสินค้าในด้านบริโภคแล้ว ในปีหน้าบริษัทเหล่านี้ยังจะสามารถส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซได้อีกด้วย

5) Omni Channel : หลายบริษัทต้องปรับตัวในการสร้างประสบการณ์ในการขายให้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทั้งในโลกออนไลน์แล โลกออฟไลน์

“แน่นอนว่า 5 เทรนด์ธุรกิจของประเทศไทยในปีหน้าที่จะเกิดขึ้นนั้น จะส่งผลดีกับผู้บริโภคเป็นอย่างมาก เพราะทำให้ผู้บริโภคมีช่องทางที่หลากหลายในการเลือกซื้อสินค้าและบริการ และก็เป็นผลดีต่อผู้ประกอบการด้วยเช่นกัน เพียงแต่ผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง”