ประมูล 5G แสนล้าน “เอไอเอส” กวาดเรียบ 3 คลื่น 23 ไลเซนส์ “ทรู” 17 ไลเซนส์ 2 ความถี่

ผ่านพ้นไปแล้วกับ การประมูลคลื่นความถี่สำหรับให้บริการ 5G  ที่ “กสทช.” คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ จัดขึ้นในวันที่ 16 ก.พ. 2563

โดยมีการประมูล 3 ย่านความถี่ จากทั้งหมดที่ตั้งใจไว้  4 คลื่น ได้แก่ 700 MHz  2600 MHz และ 26 GHz  เนื่องจากคลื่น 1800 MHz ไม่มีเอกชนรายใดแสดงความจำนงจะเข้าประมูล

ขณะที่อีก 3 ย่านความถี่ที่เหลือมีผู้แสดงความจำนงเข้าประมูลทั้งหมด 5 ราย ได้แก่  “เอไอเอส” ผ่านทางบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด “ทรู” โดยบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด “ดีแทค” โดยบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด  “แคท” บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที

โดย “เอไอเอส-ทรู” เข้าประมูลทั้ง 3 ย่านความถี่ “แคท” เข้าประมูลคลื่น 700 MHz  และ 2600 MHz ส่วน  “ดีแทค-ทีโอที” เข้าประมูล 26 GHz เพียงคลื่นเดียว

นายฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ผลการประมูล  คลื่น 700 MHz ผู้ชนะประมูลได้แก่  “เอไอเอส” จำนวน 1 ใบอนุญาต  และ “แคท” จำนวน 2 ใบอนุญาต ในราคาใบอนุญาตละ 17,153 ล้านบาท

คลื่น 2600 MHz ผู้ชนะประมูลได้แก่  “เอไอเอส” จำนวน 10 ใบอนุญาต  “ทรู” จำนวน 9 ใบอนุญาต ในราคาใบอนุญาตละ 1,956 ล้านบาท

คลื่น 26 GHz  ผู้ชนะประมูลได้แก่  “เอไอเอส” จำนวน 12 ใบอนุญาต  “ทรู” จำนวน 8 ใบอนุญาต “ดีแทค” จำนวน 2 ใบอนุญาต และ “ทีโอที” จำนวน 4 ใบอนุญาต ในราคาใบอนุญาตละ 445 ล้านบาท

รวมแล้ว “กสทช.” มีรายได้ส่งเข้ารัฐ ในส่วนของคลื่น 700 MHz  จำนวน 3 ใบอนญาต รวม 51,459 ล้านบาท คลื่น 2600 MHz  19  ใบอนุญาต เป็นเงิน  37,164 ล้านบาท และส่วนของคลื่น 26 GHz จำนวน 26 ใบอนุญาต เป็นเงิน 11,570 ล้านบาท

โดยในแต่ละย่านคลื่นจะผู้ที่ต้องช่วงคลื่นใดเป็นพิเศษได้มีการเสนอราคาเพิ่มอีก จนทำให้ราคาประมูลรวมเงินทั้งสิ้น 100,521 ล้านบาท มีใบอนุญาตคลื่น 26GHz เหลือ 1 ใบอนุญาต

และเมื่อแยกมูลค่าคลื่นที่ผู้ประกอบการแต่ละรายจะต้องจ่ายค่าคลื่นจากการประมูลครั้งนี้จะเป็นดังนี้

“เอไอเอส” ผ่านทางบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เป็นเงิน 42,060 ล้านบาท

“ทรู” โดยบริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด เป็นเงิน 21,449.6 ล้านบาท

“ดีแทค” โดยบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เป็นเงิน 910.4 ล้านบาท

“แคท” บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นเงิน 34,306 ล้านบาท

และ บมจ.ทีโอที เป็นเงิน 1,795 ล้านบาท

โดยกรรมการ กสทช. ที่เข้าประชุมบอร์ดเพื่อรับรองผลการประมูลครั้งนี้ ประกอบด้วย พลเอกสุกิจ ขมะสุนทร ประธานบอร์ด กสทช. พ.อ.นที  ศุกลรัตน์ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ ขณะที่นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา พลโทพีระพงษ์  มานะกิจ ผศ.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์  ลาประชุม