ตั้งรับไม่ทันโควิดดันพัสดุล้น “เคอรี่” เร่งกู้วิกฤต-แอปเปิดศึกชิงคนงาน

โควิด-19 ดันอีคอมเมิร์ซทะลุเดือด โลจิสติกส์หัวหมุน แถมแอปดีลิเวอรี่ดูดพนักงาน “เคอรี่” พัสดุโตดับเบิลแถมเคอร์ฟิวฉุดการจัดส่งดีเลย์ คาดสัปดาห์หน้าจะตั้งหลักได้ ฟากผู้ค้า “ผลไม้-อาหารแปรรูป” หน้ามืดหาทางจัดส่งใหม่ ส่วน “ลาซาด้า” ไม่สะดุด เหตุลุยโลจิสติกส์เอง

นายสุทธิเกียรติ จันทรชัยโรจน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชิปป๊อป จำกัด ผู้ให้บริการด้านระบบโลจิสติกส์ครบวงจร ภายใต้แบรนด์ SHIPPOP เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตขึ้นอย่างมาก ทำให้ขณะนี้มีปริมาณพัสดุที่ต้องจัดส่งในระบบโลจิสติกส์เพิ่มขึ้นอย่างมาก

“ยอดพัสดุตอนนี้เติบโตพุ่งจนไม่รู้จะนับอย่างไร เป็นจังหวะที่ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ทุกรายเหนื่อยมาก และหลายรายเริ่มมีปัญหาคนไม่พอ ทำให้มีปัญหากับการจัดส่ง”

ด้านแหล่งข่าวในวงการโลจิสติกส์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกิดปัญหาในการแย่งคนระหว่างธุรกิจโลจิสติกส์กับผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นดีลิเวอรี่ ซึ่งต่างก็มียอดใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นมาก

“ผู้ให้บริการโลจิสติกส์รายไหนถ้ายังให้ผลตอบแทนเท่าเดิมคือแค่เงินเดือนกับอินเซนทีฟเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็จะเจอปัญหาพนักงานลาออกไปอยู่กับแอปดีลิเวอรี่ เพราะตอนนี้งานโลจิสติกส์หนักขึ้นมาก ไปทำแกร็บ LINE MAN ได้เงินดีกว่า ขยันทำมากก็ได้มาก ยิ่งตอนนี้ทำครึ่งเดือนก็ได้หลายหมื่นบาทแล้ว”

Kerry โตทะลุเดือด

นายวราวุธ นาถประดิษฐ์ กรรมการและกรรมการบริหารสายงานพัฒนาธุรกิจการค้า บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า โควิด-19 และการประกาศเคอร์ฟิว ทำให้ปริมาณการส่งพัสดุในระบบเพิ่มสูงขึ้นกว่า 50% บางวันเพิ่มมากกว่า 100% ทำให้เกิดความล่าช้าในการจัดส่ง ไม่สามารถจัดส่งได้แบบ next day ตามปกติ ทำให้บริษัทปิดรับการจัดส่งพัสดุจำพวกอาหารและผลไม้เป็นการชั่วคราวก่อน

“ตอนนี้ผู้ให้บริการทุกรายเจอปัญหานี้กันทุกคน คือ ปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว และเมื่อเกิดความล่าช้ากว่าที่ผู้ใช้บริการคาดคิดไว้ ก็ร้อนใจพยายามติดต่อเข้ามาที่คอลเซ็นเตอร์ ซึ่งทุกวันมีสาย โทร.เข้ามามากกว่าปกติถึง 10 เท่า เมื่อติดต่อไม่ได้ก็ร้อนใจเข้ามาตามถึงคลังสินค้า ซึ่งเป็นจุดที่ไม่ได้ออกแบบไว้ให้ลูกค้าเข้าไปถึง และทำให้กระบวนการทำงานรวนและลูกค้ายิ่งสับสน”

ขณะที่หลังประกาศเคอร์ฟิวแล้ว ทำให้การจัดส่งในแต่ละเส้นทางต้องผ่านด่านตรวจคัดกรองและใช้เวลามากขึ้นเกือบเท่าตัว

แต่ด้วยสถานการณ์ขณะนี้ที่มีการสื่อสารไปถึงลูกค้าให้มากขึ้น รวมถึงการรับพนักงานเพิ่มขึ้นอีก 1,000 อัตรา และกำลังพิจารณาจะรับเพิ่มขึ้นอีก ก็คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะสามารถกลับมาใช้เวลาในการจัดส่งพัสดุให้ถึงมือได้ภายใน 2 วัน สำหรับสินค้าเร่งด่วน และ 3 วันสำหรับสินค้าปกติ

“เคอรี่ยังคงดูแลพนักงานกว่า 2 หมื่นชีวิตอย่างดี และเพิ่งมีการเพิ่มอินเซนทีฟให้เมื่อต้นสัปดาห์นี้ เฉลี่ยแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 2-2.5 หมื่นบาท ซึ่งถ้าเทียบกับกลุ่มแอปดีลิเวอรี่แล้ว เคอรี่ยังมีโบนัส สวัสดิการให้ตลอด แต่ในส่วนของพนักงานรายวันจะไหลไปทำแอปแทนเราคงห้ามไม่ได้ แต่อัตราการลาออกของเรายังอยู่ที่ 4-5% ตามปกติ ซึ่งช่วงเวลานี้ถือเป็นความท้าทายที่จะบริหารความคาดหวังของผู้ใช้บริการ แต่เคอรี่ยืนยันว่าจะยังยืนหยัดแม้ว่าจะเกิดอุปสรรคที่ไม่สามารถคาดเดาล่วงหน้าได้ เราพร้อมจะเป็นตัวกลางเชื่อมระหว่างผู้ส่งและผู้รับเหมือนเดิม”

อาหารสะดุด-ลาซาด้าไม่สะเทือน

ขณะที่รายงานข่าวจากบริษัท ลาซาด้า จำกัด (ประเทศไทย) ระบุว่า ปัญหาการจัดส่งของ Kerry Express มีผลกระทบกับผู้ใช้บริการของลาซาด้าไม่มากนัก เนื่องจากลาซาด้ามีพันธมิตรผู้จัดส่งหลายราย ทั้งการจัดส่งสินค้าส่วนใหญ่บนแพลตฟอร์มของลาซาด้านั้น เป็นการดำเนินการภายใต้ “ลาซาด้า เอ็กซ์เพรส” ซึ่งที่ผ่านมาทางบริษัทมีการลงทุนด้านโครงข่ายโลจิสติกส์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้าจากลาซาด้าส่งถึงมือลูกค้าได้รวดเร็วที่สุด ให้ลูกค้าพึงพอใจ

ด้านแหล่งข่าวผู้ประกอบการอาหารรายหนึ่ง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปกติใช้บริการของเคอรี่ส่งสินค้าให้ลูกค้าตลอด เนื่องจากสินค้าของร้านเป็นอาหารแปรรูปที่มีระยะเวลาจำกัด ซึ่งเคอรี่มีจุดเด่นคือจะได้รับของในวันถัดจากที่จัดส่ง แต่ตั้งแต่สิ้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เริ่มมีปัญหาสินค้าส่งถึงมือลูกค้าช้าลง ลูกค้าบางราย 7 วันแล้วยังไม่ได้รับของ เมื่อเช็กสถานะในระบบพบว่า พัสดุไปอยู่คนละจังหวัดกับที่จัดส่งบ้าง หรือไม่ก็มีสถานะค้างอยู่ที่คลังแยกพัสดุ แต่ที่เริ่มมีปัญหามากขึ้นคือในช่วงวันที่ 7 เม.ย.ที่ร้านไม่สามารถติดต่อเพื่อให้เคอรี่เข้ามารับพัสดุจากร้านได้เลย

“จุดเด่นของเคอรี่คือส่งถึงมือในวันถัดไป จึงเป็นโอกาสสำคัญที่บรรดาผู้ค้าผลไม้หรืออาหารแปรรูปจะเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น ตอนนี้เคอรี่มีปัญหาก็ไม่รู้จะไปใช้บริการจากช่องทางไหนแทน เพราะเจ้าอื่นลูกค้าก็ยังไม่มั่นใจ ถ้ายังเป็นแบบนี้น่าจะเริ่มกระทบยอดขายที่ได้รับผลกระทบจากโควิดอยู่แล้ว”

“เคอรี่” รายได้-กำไรพุ่ง

เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) เพิ่งจดทะเบียนแปลงสภาพเป็นบริษัทมหาชน เมื่อ 24 ก.พ. 2563 ทุนจดทะเบียน 890 ล้านบาท ทุนชำระแล้ว 720 ล้านบาท ขณะที่ บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 17 ม.ค. 2557 ทุนจดทะเบียน 120 ล้านบาท และมีผลประกอบการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ณ ปี 2561 มีรายได้ 13,667 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 104.81% กำไรสุทธิ 1,185 ล้านบาท เพิ่ม 61.67%

โดยเป็นบริษัทในเครือของ Kerry Logistics Network ซึ่งล่าสุดเพิ่งประกาศผลประกอบการปี 2562 ระบุว่า มีรายได้เพิ่มขึ้น 8% เป็น 41,139 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 4% เป็น 1,374 ล้านดอลลาร์ฮ่องกง และระบุว่า ธุรกิจในเอเชียกำไรเพิ่มขึ้น 22% ในปี 2562 โดยได้รับแรงหนุนจากผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งของการดำเนินงานในประเทศไทย

ขณะที่เครือข่ายของ Kerry ในประเทศไทย ณ สิ้นปี 2562 ระบุว่า มีสาขากว่า 10,000 แห่ง และยานพาหนะในระบบขนส่งกว่า 20,000 คัน มีการจ้างงานในไทยไปแล้วกว่า 23,000 ตำแหน่ง และมีปริมาณจัดส่งพัสดุกว่า 2 ล้านชิ้นต่อวัน