โอกาสทอง “ขายออนไลน์” Priceza แนะพลิกธุรกิจให้รอด-ค้าขายรุ่ง

แม้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมีส่วนผลักดันให้การซื้อของออนไลน์เติบโต แต่กูรูอีคอมเมิร์ซมองว่า การ “เดินห้าง” ก็ยังเป็นวิถีชีวิตของคนไทยที่ขาดเสียไม่ได้ ฉะนั้นธุรกิจต้องมีทั้งช่องทางออนไลน์และออฟไลน์คู่กัน เป็น “ออมนิชาแนล”

“ธนาวัฒน์ มาลาบุปผา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ไพรซ์ซ่า จำกัด ผู้ให้บริการ “Priceza” เครื่องมือค้นหาสินค้าและบริการเปรียบเทียบราคา  ซึ่งหมวกอีกใบหนึ่งคือ นายกสมาคมอีคอมเมิร์ซ  ประเมินว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยปีนี้น่าจะเติบโตมากสุดไม่เกิน 35% โดยมีมูลค่ารวมอยู่ที่ 220,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วที่มีมูลค่า 163,300 ล้านบาท  หรือขยับจาก 3% ของมูลค่าค้าปลีกทั้งหมดไปอยู่ที่ราว 4 – 5%

“แม้ว่าอีคอมเมิร์ซจากนี้จะไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดที่ธุรกิจต้องไป แต่พฤติกรรมของผู้บริโภคหลังหมดโควิดแล้ว เชื่อว่ายังจะไม่สามารถทำให้อีคอมเมิร์ซไทยเติบโตมากๆ อย่างก้าวกระโดด เพราะการเดินห้างยังเป็นพฤติกรรมคุ้นชิน เป็นวิถีชีวิตของคนไทย  แต่การซื้อสินค้าจะกลายเป็นออมนิชาแนลมากขึ้น คือ ไม่ได้คิดว่า ฉันจะต้องซื้อทางออนไลน์หรือออฟไลน์เท่านั้น แต่เน้นที่สะดวก และมีการเปรียบเทียบราคา”

ส่วนการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซไทยยังเติบโตต่อเนื่อง แต่จะขยับไปมีสัดส่วนถึง 25% ของมูลค่าค้าปลีกทั้งหมดแบบในประเทศจีนนั้น ก็มีโอกาสเป็นไปได้ แต่ต้องใช้เวลาราว 5 – 10 ปี

ส่วนที่ว่าจะ “ขายอะไรดี” นั้น คงไม่สามารถฟันธงได้ แต่ตอนนี้เป็นโอกาสที่ดี ที่จะค้าขายออนไลน์ เพราะนอกจากผู้บริโภคจะคุ้นเคยแล้วกับการซื้อของออนไลน์ ยังเป็นจังหวะที่ “สินค้าจากจีน” ยังไม่กลับเข้ามาตีตลาดไทย  เนื่องจากยังมีปัญหาในการขนส่งที่ต้องใช้เวลานานขึ้นกว่าในช่วงก่อนเกิดโควิด

“ที่อยากแนะนำคนที่จะขายออนไลน์คือ  อย่ามองแค่ว่า อะไรเป็นเทรนด์เป็นกระแส แล้วแห่ไปขายตามๆ กันไป เพราะเทรนด์มีขึ้นก็มีลง อย่างก่อนหน้านี้ เจลล้างมือแอลกอฮอล์ มีความต้องการเพิ่มขึ้นถึง 135% แต่ตอนนี้ใครมีเจลล้างมือฯ อยู่ก็เรียกว่า ติดดอย  ฉะนั้นจึงอยากให้มองตลาดในระยะยาว อย่างคนจะต้องทำงาน work from home อีกนานไหมแล้วคนกลุ่มนี้ต้องการอะไร”

ส่วนจะเลือกขายสินค้าออนไลน์ “ที่ไหน” นั้น ต้องบอกว่า แต่ละช่องทางก็มีจุดดีจุดด้อย อย่าง “อีมาร์เก็ตเพลส” ซึ่งกินมาร์เก็ตแชร์ถึง 47% และมีลาซาด้า ช้อปปี้ เป็นผู้ให้บริการรายใหญ่  มีข้อดีคือ “ง่าย” เริ่มต้นง่ายมีระบบจัดการที่ง่ายในการทำธุรกิจ แต่ข้อเสียสำคัญคือ “คู่แข่งเยอะมาก” ลูกค้าจะเห็นสินค้าประเภทเดียวกันขึ้นมาพร้อมกันหมด

ขณะที่การสร้างเว็บไซต์ขายสินค้าของตัวเอง มีข้อดีคือ เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มเอง ควบคุมทุกอย่างได้เอง แต่ต้องใช้เงินเยอะมากที่จะทำให้ลูกค้ารู้จักและเข้ามาที่เว็บ จึงเหมาะกับแบรนด์ขนาดใหญ่ที่จะมีไว้ควบคู่กับช่องทางอื่น

ส่วนอีกช่องทางสำคัญของนักช้อปไทยที่สร้างมูลค่าตลาดถึง 38%  คือ โซเชียลคอมเมิร์ซ ที่คนไทยคุ้นเคย พลิกแพลงให้เกิดการซื้อขายบนโซเชียลมีเดียได้อย่างที่ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Facebook ยังไม่ทันคิด (แต่ยังมีข้อจำกัดในด้านการชำระเงินที่ยังครอบคลุม “ไม่เบ็ดเสร็จ” ทำให้ลูกค้าเปลี่ยนใจได้)

โดย “ธนาวัฒน์”  ให้จับตาดูว่าการเปิด Facebook Shops ลดข้อด้อย-เสริมจุดแข็งให้กับโซเชียลคอมเมิร์ซได้มากขนาดไหน


เพราะเชื่อว่านี่คือการเปิดศึก “งัดข้อ” ของโซเชียลคอมเมิร์ซกับอีมาร์เก็ตเพลส