ทรานส์ฟอร์ม ‘กรมอุตุฯ’ พลิกโฉมพยากรณ์อากาศต่อยอดเศรษฐกิจ

กรมอุตุ

“กรมอุตุฯพยากรณ์อะไรต้องออกตรงข้ามตลอด” (เคย) เป็นประโยคฮิตติดหู แต่จากนี้ไปคงใช้ไม่ได้ เพราะกรมอุตุนิยมวิทยายุคใหม่กำลังยกเครื่องใหม่ด้วยการนำดิจิทัลมาใช้ เพื่อให้การพยากรณ์อากาศแม่นขึ้น และต่อยอดนำข้อมูลไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากขึ้น

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์” อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ที่ข้ามห้วยมาจากผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม มานั่งเก้าอี้ใหม่เมื่อ ต.ค. 2563 กับเป้าหมายทรานส์ฟอร์มองค์กรสู่ดิจิทัล สอดคล้องนโยบายรัฐบาล

Q : กรมอุตุฯกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ไทยแลนด์ 4.0 เป็นหนึ่งในนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งเราตอบสนองนโยบายนี้ด้วยการทรานส์ฟอร์เมชั่นการอ่านค่าต่าง ๆ ให้เป็นระบบดิจิทัล จากเดิมต้องใช้คนในการอ่านค่าและเก็บข้อมูลทำให้ข้อมูลที่ได้ไม่เรียลไทม์

ดังนั้น การพยากรณ์ของกรมอุตุฯยุคใหม่จึงเป็นการพยากรณ์แบบเรียลไทม์ด้วยการอิงข้อมูลจากระบบดิจิทัล เพื่อให้ข้อมูลที่ออกไปมีความละเอียดและแม่นยำขึ้น

Q : ภารกิจหลักในปี’64

ปีนี้จะสามารถพยากรณ์อากาศ เจาะตามพื้นที่ได้แล้ว จากการนำเครื่องวัดสภาพอากาศดิจิทัลหรือ AWS (AutomaticWeather Station) มาใช้ทำงานร่วมกับเรดาร์ และภาพถ่ายดาวเทียม โดย AWS จะส่งข้อมูลสภาพอากาศมาวิเคราะห์ในระบบคอมพิวเตอร์กลาง และส่งคำพยากรณ์กลับไปยังพื้นที่ด้วย 5G

ทำให้รายงานสภาพอากาศได้แม่นยำขึ้น แจ้งเตือนประชาชน หรือหน่วยงานให้เตรียมพร้อมได้เร็วขึ้น ปัจจุบันได้ติดตั้ง “AWS” ในสถานีอุตุนิยมวิทยาทั่วประเทศแล้ว 81 สถานี คาดว่าปีนี้จะติดตั้งให้ครบ 105 สถานี

ภารกิจถัดมาคือ ติดตั้งเครื่องตรวจอากาศในระดับอำเภอ เพื่อให้สามารถพยากรณ์อากาศในแต่ละพื้นที่ได้ โดยติดตั้งไปแล้วกว่า 878 อำเภอทั่วประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีอีกภารกิจเพิ่ม คือ การพยากรณ์ฝุ่น PM 2.5 ด้วยการตั้งหน่วยงานวิเคราะห์ และพยากรณ์ฝุ่น โดยจะมีการปล่อยบอลลูนอย่างน้อย 1 ครั้งต่อวันเพื่อสำรวจชั้นบรรยากาศในระดับ “mixing height layer”

พูดง่าย ๆ คือสำรวจระดับเพดานของอากาศแล้วนำมาประกอบกับข้อมูลทิศทางลม ทำให้พยากรณ์ฝุ่นได้ล่วงหน้า ไม่ใช่เกิดฝุ่นแล้วค่อยมาวัดค่าเหมือนที่ผ่านมา แต่การพยากรณ์ฝุ่นยังมีปัญหาเรื่องงบประมาณ และเครื่องมือ ทำให้วัดฝุ่นได้เฉพาะกรุงเทพฯเท่านั้น

ภารกิจที่ดำเนินการอยู่แล้ว คือ “แผ่นดินไหวและสึนามิ” จับมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ศูนย์เตือนภัยสึนามิแปซิฟิก และคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลด้านสมุทรศาสตร์

โดยปีนี้เพิ่มเครื่องมือดิจิทัลตรวจวัดแผ่นดินไหว เพื่อรับมือภัยพิบัติได้ดีขึ้น ต่อมาคือ การพยากรณ์สภาพอากาศที่เหมาะกับการขึ้นลงของเครื่องบินในสนามบินทั่วประเทศ ได้งบประมาณสนับสนุนในการจัดซื้ออุปกรณ์ แต่ยังขาดบุคลากร จึงพยายามเสริมทัพ และพัฒนาบุคลากรให้มีมาตรฐานตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ หรือ ICAO กำหนด

Q : จะนำข้อมูลมาต่อยอดทางเศรษฐกิจได้อย่างไร

นโยบายที่กำลังทำให้เกิดขึ้นจริง คือ การใช้ข้อมูลของกรมอุตุฯให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ เช่น ด้านเกษตร โดยนำ AI มาใช้พยากรณ์อากาศล่วงหน้า อย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้วางแผนการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว ช่วยเพิ่มผลผลิตจนนำไปสู่การสร้างรายได้เพิ่ม

ต่อด้วยด้านสุขภาพ เช่น กรณีความกดอากาศที่มีผลกระทบต่อผู้ป่วยบางโรค หากผู้ป่วยมีข้อมูลสภาพอากาศก็จะระมัดระวังการเดินทางไปในพื้นที่ดังกล่าวได้

และด้านการท่องเที่ยว ถ้ามีการพยากรณ์อากาศล่วงหน้าได้ก็จะแนะนำสถานที่ที่ควรไปในแต่ละช่วง จะช่วยสร้างรายได้ให้พื้นที่ท่องเที่ยวได้ซึ่งกรมอุตุฯสามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้าถึง 30 วัน

แต่ในต่างประเทศจะพยากรณ์ล่วงหน้าได้สูงสุด 200 วัน แต่ความแม่นยำก็จะลดลงด้วย

การพยากรณ์ที่มีประสิทธิภาพจะอยู่ที่ประมาณ 10 วัน ทั่วโลกใช้มาตรฐานนี้แต่ไทยจะพยากรณ์ล่วงหน้าแค่ 7 วัน ซึ่งมีความแม่นยำกว่า 70%

Q : งบประมาณคืออุปสรรคสำคัญ

การปรับองค์กรมาสู่ดิจิทัลต้องอาศัยงบประมาณ แต่ที่ผ่านมาได้รับงบประมาณต่อปีน้อยมากหลักสิบล้านบาท การแจกจ่ายเครื่องมือดิจิทัลให้ทั่วถึงทั้งประเทศจึงเป็นเรื่องยาก และเครื่องมือที่มีอยู่ก็เสื่อมสภาพทำให้นักอุตุฯต้องอาศัยทักษะส่วนตัวในการพยากรณ์ ความแม่นยำจึงคลาดเคลื่อนบ้าง แต่คาดว่าปีนี้จะดีขึ้นเพราะได้รับงบฯสนับสนุนมาพอสมควร

Q : ภาพลักษณ์ของกรมอุตุฯยุคใหม่

กรมอุตุฯยุคใหม่ต้องเข้าถึงง่าย มีแผนปรับปรุงเว็บไซต์และแอปพลิเคชั่นให้ทันสมัย เข้าใจง่าย พร้อมทั้งปรับแนวทางการสร้างคอนเทนต์ในทุกช่องทาง

โดยเฉพาะโซเชียลมีเดียที่จะเป็นลักษณะของการทำกราฟิกประกอบมากขึ้น ต่างจากที่ผ่านมาที่นิยมใช้คำศัพท์เทคนิค ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจ

นอกจากนี้ ยังเร่งปรับบุคลากรด้วยการอัพสกิล รีสกิล เพื่อให้นักอุตุฯมีทักษะด้านดิจิทัลและความรู้เรื่องเทคโนโลยีให้สามารถพยากรณ์ในเชิงวิเคราะห์ได้

“ประชาชนยังสนใจข่าวพยากรณ์อากาศ เราจึงเริ่มปรับรูปแบบการสื่อสารมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาพลักษณ์ของกรมอุตุฯค่อย ๆ ดีขึ้นตั้งแต่ปลายปีก่อน หลังจากเริ่มทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นในหลาย ๆ ส่วน เพราะต้องการให้กรมอุตุฯยุคใหม่เป็นที่พึ่งให้ประชาชนได้ ทั้งการเตือนภัย การนำบิ๊กดาต้าที่มีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ

เราจึงต้องปรับโฉมใหม่ไม่ใช่คร่ำครึ การพยากรณ์ประจำวันต้องมีคนรุ่นใหม่มาสื่อสารให้คนเข้าใจ พร้อมเพิ่มภาษาถิ่นในการพยากรณ์อากาศ เพื่อให้เข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด”