แม่ทัพ KBTG ถอดบทเรียน โควิด-19 พลิกตัวสู่เทคคอมปะนี

กระทิง

การขับเคลื่อนธุรกิจท่ามกลางกระแสดิสรัปชั่นเป็นบททดสอบสำคัญที่ทำให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องยกเครื่องปรับบทบาทหันมาใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น รวมถึงบรรดาสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ของไทยทั้งหลายต่างไม่รอช้าเคลื่อนทัพมายังสมรภูมิ “ดิจิทัล” กันเต็มตัว

การมานั่งกุมบังเหียน KBTG บริษัทที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีของธนาคารกสิกรไทยของกูรูสตาร์ตอัพ “กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล” เมื่อ 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในบิ๊กมูฟที่น่าสนใจก่อนที่วิกฤตโควิด-19 จะเข้ามาเขย่าโลกและประเทศไทยไม่นานนัก

ปรับธุรกิจรอบทิศ

นายเรืองโรจน์ พูนผล ประธาน กสิกร บิสซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG กล่าวว่า แม้เขาจะเข้ามารับตำแหน่งแม่ทัพ KBTG ได้ 2 ปีกว่า แต่ที่ผ่านมาได้เริ่มปูพรมปรับยุทธศาสตร์และวางแผนทรานส์ฟอร์เมชั่นองค์กรให้พร้อมรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

เพื่อก้าวไปสู่การเป็น “ดิจิทัลรีจินอลแบงก์” ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า โดยเริ่มทรานส์ฟอร์เมชั่นองค์กรในปี 2562 จากการทำ “emphathy listening” ด้วยการลงไปรับฟังปัญหาจากพนักงานเพื่อปรับโครงสร้างองค์กร และนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสานกับการทำงาน ทั้งในแง่ของโครงสร้างพื้นฐาน ข้อมูล และพัฒนาแอปพลิเคชั่นในเครือที่ปัจจุบันมีกว่า 400 แอปให้มีประสิทธิภาพ

พร้อมไปกับการนำระบบออโตเมชั่นมาใช้ตรวจสอบระบบซอฟต์แวร์ให้ตรงตามมาตรฐานไซเบอร์ซีเคียวริตี้ และเพิ่มช่องทางในการปล่อยนวัตกรรมใหม่ ๆอย่าง “AI factory” โรงงานผลิต AI ที่มีทีมนักวิทยาศาตร์ข้อมูล (data scientist) กว่า 100 ชีวิตคอยพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ตอบรับกับความต้องการของตลาดได้เร็วขึ้นถึง 12 เท่า

“ด้านดิจิทัลแบงก์ เคแบงก์นำหน้าผู้เล่นรายอื่นพอสมควร โดยปีที่ผ่านมาได้เปิดบริษัทเทคโนโลยีที่จีนชื่อ “K-Tech” ด้วยเงินลงทุนกว่า 15,000 ล้านบาท สำหรับพัฒนาเทคโนโลยีฟินเทคในระดับภูมิภาค ปัจจุบันมีบริการออกมาแล้ว 6 บริการ และในปีนี้จะเปิดรับพนักงานเพิ่มอีก 80 ตำแหน่ง”

ล่าสุดยังได้รับใบอนุญาตให้เปิดเคแบงก์ที่ประเทศเวียดนามได้ ทำให้ KBTG รุกเข้าไปตั้ง “development center” โดยยกทีมนักพัฒนาอีก 100 คนนำเทคโนโลยี KBTG ทั้งหมดไปติดตั้ง และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ส.ค.นี้

ลุยสินทรัพย์ดิจิทัล

ประธาน KBTG กล่าวด้วยว่า อีกหนึ่งธุรกิจที่ธนาคารกสิกรไทย และ KBTG จะก้าวขาลงไปพร้อมกัน คือ “Decentralized Finance” (DeFi) หรือการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านบล็อกเชน

โดยในช่วงต้นปีได้จัดตั้งบริษัท “Kubix” เพื่อเดินหน้าศึกษาการทำ “โทเคนดิจิทัล” หรือการแปลงสินทรัพย์จริงให้เป็นสินทรัพย์ “ดิจิทัล” โดยมีการจับมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ในการสร้างแพลตฟอร์มซื้อขายโทเคนดิจิทัลขึ้นมา และผสมผสานการทำธุรกรรมทางการเงินแบบดั้งเดิมที่ควบคุมโดยภาครัฐ (centralized finance) เข้าด้วยกัน

“DeFi จะเข้ามาดิสรัปต์สถาบันการเงินที่ไม่ปรับตัว ต่อไปสถาบันการเงินรายเล็กจะเหนื่อยเพราะต้องปั้นทีมพัฒนาเทคโนโลยีให้ทันผู้เล่นรายใหญ่ ส่วนสถาบันการเงินที่ปรับตัวสู่เทคคอมปะนี และขยายตลาดได้ก่อนจะได้เปรียบ”

วิกฤตโควิดพิสูจน์ทีมเวิร์ก

สเต็ปถัดไปของเคแบงก์คือการก้าวเป็นบริษัทเทคโนโลยีระดับภูมิภาคในปี 2568 โดยมองว่า “พนักงาน” ถือเป็น “สินทรัพย์” ที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้บริษัทก้าวไปสู่จุดหมายที่วางไว้ได้ จึงเริ่มดำเนินการ “อัพสกิล และรีสกิล” ให้พนักงานเรียนภาษาที่ 3 เช่น ภาษาจีน และภาษาเวียดนาม เพื่อรองรับกับการขยายธุรกิจไปในประะเทศเหล่านั้น

ขณะเดียวกัน วิกฤตโควิด-19 ยังทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าทีมเวิร์กมักเกิดขึ้นท่ามกลางวิกฤต เและถือเป็นช่วงเวลาที่จะดึงศักยภาพของพนักงานออกมาให้ได้มากที่สุด ทำให้ในปีที่ผ่านมา KBTG มีนวัตกรรมออกมากว่า 120 โปรเจ็กต์ และสามารถลดต้นทุนได้รวมกว่า 300 ล้านบาท ขณะที่ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 40% จนสามารถนำเงินไปต่อยอดพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ได้

อย่างไรก็ตาม งบฯลงทุนของ KBTG อยู่ที่ 5,000 ล้านบาทต่อปี โดยเป้าหมายในปีนี้ต้องการดันยอดผู้ใช้บริการแอปพลิเคชั่น “เคพลัส” ให้แตะ 17 ล้านคน และผลักดันการทำธุรกรรมให้เติบโตขึ้น 1 เท่า ปัจจุบันแอป “เคพลัส” ครองแชมป์โมบายแบงกิ้งเบอร์ 1 ของประเทศไทย โดยมีปริมาณการทำธุรกรรมอยู่ที่ 40% ของจำนวนธุรกรรมทั้งประเทศ

นอกจากนี้ ยังจะขยายทีมรับพนักงานเพิ่มเป็น 1,900 คน จากเดิมที่มี 1,500 คน พร้อมสร้างอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัลให้สมบูรณ์ โดยจับมือกับสถาบันการศึกษาและสถาบันวิจัยพัฒนา deep technology ซึ่งจะทำให้ KBTG สามารถออกนวัตกรรมใหม่ได้ทุกเดือน

เร่งสร้างอีโคซิสเต็ม “ดิจิทัล”

อย่างไรก็ตาม โควิด-19 ยังเป็นตัวเร่งสปีดให้ทุกอุตสาหกรรมเผชิญกับดิจิทัลดิสรัปชั่นเร็วขึ้น จากเดิมที่กระแสดิสรัปชั่นเป็นลักษณะ “โดมิโน” ส่งผลกระทบไปทีละอุตสาหกรรม ดังนั้น สิ่งที่เห็นได้ชัดคือเทคโนโลยีจะเปลี่ยนเร็วขึ้นและจะมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีก 2 รอบ คือ ภายในปี 2568 และ 2570

“อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องเผชิญกับสงครามสุดท้าย หรือ end game เร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเพย์เมนต์ อีคอมเมิร์ซ โลจิสติกส์ เฮลท์แคร์ ที่แม้จะเติบโตได้ดีแต่ก็โดนดิสรัปต์ได้เช่นกัน”

แม่ทัพ KBTG มองว่า ทางรอดคือทุกอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนตนเองเป็น “เทคคอมปะนี”

และสำหรับ “ผู้นำ” องค์กรจะต้องเปลี่ยนวิธีการบริหารใหม่ โดยต้องรับฟัง ใส่ใจ ยึดพนักงาน และลูกค้าเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาองค์กร

“ปี 2578 เป็นอีกปีที่น่ากลัวไม่แพ้กัน เพราะทั่วโลกกำลังทรานส์ฟอร์มไปสู่ยุคพลังงานไฟฟ้า โดยเฉพาะประเทศในแถบซาอุดีอาระเบีย จึงเปิดศึกแย่งชิงนักพัฒนาต่างชาติที่มีความสามารถ


เพื่อเร่งพัฒนาเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง ทำให้นักพัฒนาไทยจะโดนดึงตัวไปด้วย แม้ไทยจะยังเดินไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ได้รับผลกระทบแน่นอน ทางแก้คือ รัฐต้องสร้างอีโคซิสเต็มดิจิทัลให้เกิดขึ้นในไทย เพื่อจูงใจให้นักพัฒนาไทยและต่างชาติหลั่งไหลเข้ามา”