ดีอีเอส เปิดสถิติข่าวปลอม 3 เดือนแรกปีนี้ ทะลุ 50 ล้านข้อความ

ดีอีเอส เผยสถิติข่าวปลอมแค่ 3 เดือนแรกปีนี้ทะลุ 50 ล้านข้อความ  ขณะที่ผลการตรวจสอบข่าวปลอมรอบ 1 ปีกว่า พบ หมวดสุขภาพ -นโยบายรัฐ ทะลักกว่า 9,000 ข้อความ ผนึกกำลัง ศปอส.ตร. เอาผิดมือโพสต์ที่เข้าข่ายทำผิดกฎหมายกว่า 2,000 คน 

นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ปฏิบัติหน้าที่ ผู้อำนวยการศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กล่าวว่า จากการรับแจ้งเบาะแส และติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม ช่วงระยะเวลา 3 เดือนแรกปีนี้ (1ม.ค-31มี.ค64)พบว่า มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองจำนวนกว่า 50 ล้านข้อความ โดยข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 4,649 ข้อความ ซึ่งหลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 2,194 เรื่อง 

สำหรับภาพรวมการดำเนินงานของศูนย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 62 – 31 มี.ค. 64 พบข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งสิ้นกว่า 94 ล้านข้อความ โดยมีข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 28,717 ข้อความ และหลังจากคัดกรองพบข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 9,775 เรื่อง ในจำนวนนี้หมวดสุขภาพ ยังมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 5,301 เรื่อง คิดเป็น 54% รองลงมา คือ หมวดนโยบายรัฐ 4,000 เรื่อง คิดเป็น 41% หมวดเศรษฐกิจ 300 เรื่อง คิดเป็น 3% และหมวดภัยพิบัติ 174 เรื่อง คิดเป็น 2%

ทั้งนี้ข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบทั้งหมด 9,755 เรื่อง  ได้ทำการตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว 5,207 เรื่อง แบ่งเป็น ข่าวปลอม 2,418 เรื่อง ข่าวจริง 1,946 เรื่อง ข่าวบิดเบือนจำนวน 378 เรื่อง 


นางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวว่า ทางด้านการดำเนินการทางกฎหมายนั้น กระทรวงดิจิทัลฯ และศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ได้มีการประสานร่วมกับ ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) โดยจากผลการตรวจสอบที่พบว่าเป็นข่าวปลอม และข่าวบิดเบือน ตั้งแต่มีการจัดตั้งศูนย์ฯ ถึงสิ้นไตรมาสแรกปีนี้ (วันที่ 1 พ.ย. 62 – 31 มี.ค. 64) พบจำนวนคนที่เข้าข่ายกระทำความผิดตามกระบวนการทางกฎหมาย 2,276 คน

ขณะเดียวกัน ผลการดำเนินงานเกี่ยวกับข่าวปลอมที่เกาะกระแสโควิด – 19 ทั้งสองระลอก รวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 25 ม.ค. 63 – 31 มี.ค. 64) มีจำนวนข้อความที่เกี่ยวข้องกว่า 57 ล้านข้อความ โดยหลังจากคัดกรองพบข่าวที่เข้าหลักเกณฑ์ 5,079 ข้อความ ข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 2,334 เรื่อง แบ่งเป็น อันดับ 1 คือ หมวดหมู่สุขภาพ 1,589 เรื่อง คิดเป็น 68% ตามมาด้วย หมวดหมู่นโยบายรัฐ 621 เรื่อง คิดเป็น 27% หมวดหมู่เศรษฐกิจ 124 เรื่อง คิดเป็น 5% ตามลำดับ ในส่วนของหมวดหมู่ภัยพิบัติไม่พบเรื่องที่เข้าข่าย