โควิดพลิกมุมคิด “อีเว้นท์พาส” ปั้น Tech Team ต่อยอดอีเวนต์

ธุรกิจอีเวนต์ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา แม้แต่แพลตฟอร์มบริหารจัดอีเวนต์ “อีเว้นท์พาส” ก็ด้วย เพราะเม็ดเงินก้อนใหญ่จากการบริหารจัดการอีเวนต์ครบวงจรก็หายวับไปเช่นกัน เมื่อการจัดกิจกรรมออนกราวนด์ทั้งหลายหายไปเกือบหมด

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “เอกคณิต จันทร์สว่าง” ผู้ร่วมก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีเว้นท์ไทยจำกัด ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มบริหารจัดการอีเวนต์ครบวงจร ในชื่อ อีเว้นท์พาส (Eventpass) ถึงการปรับตัวในช่วงที่ผ่านมา และแนวทางในการขับเคลื่อนธุรกิจ

Q : สถานการณ์ธุรกิจอีเวนต์

โควิดทำให้ผู้จัดอีเวนต์ต้องปรับตัวค่อนข้างมาก ส่งผลให้อีเวนต์ออร์แกไนเซอร์ระดับกลางและเล็ก หายไปจำนวนมาก ที่ปรับตัวได้ก็หันไปจัดอีเวนต์ออนไลน์ (virtual event)

จนปลายปีที่แล้วรัฐบาลเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ จึงเริ่มมีการจัดไฮบริดอีเวนต์ และงานออฟไลน์เล็ก ๆ ที่เชิญคนมาร่วมงานไม่มาก ซึ่งรูปแบบการจัดงานลักษณะนี้ก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน

ภาพรวมปีนี้ ถ้าเฉพาะครึ่งปีแรกก็คงไม่ฟื้นกลับมา ส่วนครึ่งปีหลังคงต้องดูสถานการณ์กันต่อ ความท้าทายยังเป็นเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เพราะเป็นสถานการณ์ที่คาดการณ์ไม่ได้

Q : กลุ่มเป้าหมายเปลี่ยนไหม

อีเวนต์ที่ฟื้นกลับมาได้เร็ว คือที่เจาะกลุ่มคนไทย โดยเฉพาะพวกงานขายของ ถ้าเป็นอีเวนต์ที่เจาะกลุ่มบีทูบี พวกงานเทรดแฟร์ต่าง ๆ ยังไม่ฟื้นกลับมา เพราะต่างชาติยังเดินทางมาไม่ได้

ทำให้ผู้จัดงานเทรดแฟร์หันไปจัดงานในลักษณะไฮบริดอีเวนต์ และเวอร์ชวลอีเวนต์ ซึ่งต้นทุนน้อยกว่าการจัดงานแบบเดิม และการจัดเทรดแฟร์ออนไลน์ก็ยังตอบโจทย์ในแง่การจับคู่ทางธุรกิจได้

Q : ปรับตัวตั้งแต่โควิดรอบแรก

บริษัทได้รับผลกระทบหนักมาก ๆ ในขณะนั้น เพราะปกติช่วงกลางปี ตั้งแต่ มี.ค.-พ.ค.ของทุกปี เป็นช่วงไฮซีซั่นของการจัดงาน เราประชุมทีมวางแผนงานทุกอย่างเรียบร้อยตั้งแต่ต้นปี แต่พอต้น มี.ค.ปรากฏว่างานยกเลิกทั้งหมด ก็รู้แล้วว่าเราแย่แล้ว แต่ก็ใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์ ตัดสินใจทดลองทำอะไรใหม่ ๆ ทันที

เราปรับ 2 ส่วน คือ 1.การบริหารจัดการภายในองค์กร สิ่งที่เห็นชัด ๆ คือการเปลี่ยนเอกสารมาเป็นเอกสารดิจิทัลทั้งหมด ถัดมาคือการพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆเป็นสิ่งที่ปรับหนักมาก ๆ

ทำให้เกิดโซลูชั่นใหม่ทั้งในรูปแบบการจัดสัมมนาออนไลน์ (webinars) ไลฟ์อีเวนต์ต่าง ๆและอีกหลาย ๆ โซลูชั่น

แต่กว่าทุกอย่างจะเป็นรูปเป็นร่างใช้เวลาหลายเดือนเพราะต้องทดลองว่าโซลูชั่นที่พัฒนาตรงความต้องการตลาดหรือไม่
ถ้าตัดสินใจช้ากว่านี้ก็น่าจะแย่กว่านี้

Q : ปีนี้คิดว่าจะเริ่มดีขึ้น

ปีนี้อีเว้นท์พาสมีต้นทุนที่ดีกว่าปีก่อน เพราะได้พัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาดมากขึ้น เชื่อว่าแนวทางที่วางไว้จะทำให้ปีนี้บริษัทเติบโต 2 เท่าจากปีก่อน เพราะวิกฤตโควิดทำให้รายได้เราถอยหลังไป

ล่าสุดบริษัททดลองจัดอีเวนต์โชว์เคส ชื่องาน TRAMS Virtual Festival เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ด้วยการรวมโซลูชั่นที่ลูกค้าสามารถนำไปประยุกต์กับการจัดอีเวนต์ของธุรกิจตนเองได้

และพัฒนา Eventpass Shop หรือเวอร์ชวลช็อปบนหน้าเว็บไซต์อีเว้นท์พาส เพื่อให้พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เข้ามาเปิดหน้าร้าน เฟสแรกเราไม่ได้เก็บค่าแรกเข้า

ปัจจุบันแบ่งหมวดสินค้าออกเป็นหลายกลุ่ม มีทั้งแฟชั่น,เครื่องดื่ม, มือถือ มีร้านค้าขึ้นมาเปิดช็อปแล้วกว่า 170 ร้าน และกำลังจะเพิ่มหมวดสินค้าในกลุ่มท่องเที่ยว และอาหารเพิ่มเติม

Q : โครงสร้างรายได้

เรามีรายได้มาจาก 3 ส่วนหลัก ๆคือ 1.ธุรกิจมีเดีย มีเพจ เว็บไซต์ และโมบายแอป ในชื่อ Eventpass นำเสนอคอนเทนต์ของงานอีเวนต์ และโปรโมชั่นต่าง ๆ

2.ธุรกิจบริหารจัดการงานอีเวนต์เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี มีโซลูชั่นต่าง ๆ แบบครบวงจร เช่น ระบบลงทะเบียนเข้างานอีเวนต์ ออนไลน์อีเวนต์ การไลฟ์ เป็นต้น

เจาะกลุ่มลูกค้าองค์กร ทั้งภาครัฐและเอกชน ถือเป็นรายได้หลักของบริษัท และ 3.บริการซอฟต์แวร์บริหารจัดการอีเวนต์ หรือ Eventpass Shop คาดว่ารายได้ส่วนนี้จะเพิ่มขึ้นในอนาคต

Q : การวางเป้าหมายระยะยาว

ที่ผ่านมา อีเว้นท์พาสเป็นเสมือนเอสเอ็มอี แม้จะพยายามเป็นสตาร์ตอัพ ด้วยการเข้าโครงการบ่มเพาะ Dtac Accelerate รุ่นที่ 4 แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จนัก เพราะอยู่ในธุรกิจอีเวนต์

ซึ่งเป็นธุรกิจที่นำหน้าด้วยบริการ แต่เราก็พยายามปรับต่อเนื่อง มีการตั้ง Tech Team ขึ้นมาพัฒนาโซลูชั่นใหม่ ๆ จนตอนนี้มั่นใจว่าเราไม่ใช่เอสเอ็มอีแล้ว แต่กำลังเป็น “เทคคอมปะนี” ที่นำเทคโนโลยีมาต่อยอด และขยายธุรกิจ

เป้าหมายใหญ่จากนี้ คือ ทำตัวเองเป็น business to business to consumer (B2B2C) ด้วยการเชื่อมทั้งออฟไลน์และออนไลน์ที่มีเข้าด้วยกันและเข้าไปอยู่ใน Journey ของผู้บริโภค

นั่นหมายความว่า จากนี้ไปใครจะจัดอีเวนต์ โปรโมชั่น หรืองานอะไรก็เอาโซลูชั่นของบริษัทไปใช้ได้หมด

ที่สำคัญโซลูชั่นเหล่านี้ไม่ใช่แค่เข้าถึงคนจำนวนมากเท่านั้น แต่ยังสร้างเอ็นเกจเมนต์ได้ครบวงจร ตั้งแต่การนำคูปองมา ลงทะเบียน


ซื้อตั๋วและหลังงานก็ยังสามารถใช้แพลตฟอร์มของเราสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้ต่อเนื่อง ทุกอย่างนี้จะเชื่อมกัน และดึงคนให้มาอยู่บนอีเวนต์นานขึ้น