“ซี.พี.” หนุนวัคซีนทางเลือก พร้อมซื้อฉีดให้ พนง.-ครอบครัว แบ่งเบาภาครัฐ

ศุภชัย เจียรวนนท์
ศุภชัย เจียรวนนท์

“ซี.พี.” ย้ำจุดยืนสนับสนุนเอกชนซื้อ “วัคซีนทางเลือก” หวังช่วยแบ่งเบาภาระภาครัฐ ทั้ง “ซิโนฟาร์ม-ไฟเซอร์-โมเดอร์นา และอื่น ๆ” เพื่อจัดฉีดให้พนักงานและครอบครัว 

วันที่ 31 พฤษภาคม 2564 นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เปิดเผยว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ความชัดเจนของการนำเข้าวัคซีนทางเลือกมีมากขึ้น หลังจากวัคซีนโมเดอร์นา ได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เมื่อกลางเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และล่าสุด ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมนำเข้าวัคซีนทางเลือกของซิโนฟาร์มจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้เห็นโอกาสในการนำเข้าวัคซีนทางเลือก

ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์เห็นด้วยและสนับสนุนแนวทางดังกล่าว และถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการเปิดโอกาสให้มีวัคซีนทางเลือก และเป็นโมเดลที่ดีที่มีหน่วยงานเป็นตัวแทนภาครัฐจัดซื้อวัคซีนทางเลือก เพื่อให้ภาคเอกชนที่มีกำลังซื้อเข้ามาดีล และดำเนินการตามข้อกำหนด

“ขณะนี้วัคซีนโควิดยังเป็นการใช้ในสถานการณ์ฉุกเฉิน การขยายวิธีการนำเข้าวัคซีนชนิดอื่นในลักษณะนี้จะเพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงวัคซีนที่หลากหลาย และรวดเร็วมากขึ้น ทำให้การกระจายวัคซีนของประเทศไทยมีความยืดหยุ่นกว่าการมีวัคซีนหลักเพียง 2 ชนิด คือแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนแวค”

ปัจจุบันจากสถานการณ์ความต้องการวัคซีนทั่วโลกที่มากขึ้น วัคซีนทางเลือกคือคำตอบที่จะช่วยให้โลกนี้ผ่านพ้นวิกฤตโควิด โดยจะเห็นได้ว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม ที่ต้องฉีด 2 โดส ได้รับการอนุมัติใช้แล้วใน 42 ประเทศทั่วโลก โดยมีการใช้มากเป็นอันดับ 4 รองจากวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ที่ใช้ใน 166 ประเทศ และวัคซีนซิโนแวค ที่ใช้ใน 25 ประเทศ วัคซีนไฟเซอร์-บิออนเทค ที่ใช้ใน 94 ประเทศ และวัคซีนโมเดอร์นา ที่ใช้ใน 46 ประเทศ

ซึ่งการเข้าถึงวัคซีนได้อย่างรวดเร็วและหลากหลายมีความสำคัญอย่างมาก โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ มองว่า ซิโนฟาร์ม ไฟเซอร์ โมเดอร์นา และวัคซีนทางเลือกอื่น ๆ ควรมีการเร่งเจรจานำเข้า โดยยึดจากโมเดลที่ทำสำเร็จแล้ว เพื่อให้สามารถเพิ่มปริมาณนำเข้าอย่างรวดเร็ว ตอบสนองความต้องการวัคซีนในประเทศ


นายศุภชัย กล่าวอีกว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีจุดยืนสนับสนุนแนวทางการนำเข้าวัคซีนทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นซิโนฟาร์มที่กำลังดำเนินการ หรือ ไฟเซอร์, โมเดอร์นา และวัคซีนอื่น ๆ ที่อยู่ในขั้นตอนการอนุมัติ ซึ่งในฐานะภาคเอกชนต้องการให้มีวัคซีนทางเลือกโดยเร็ว และยินดีใช้ทุนทรัพย์ของตนเอง เพื่อนำไปจัดฉีดให้บุคลากร พนักงาน ครอบครัวพนักงาน หรือกลุ่มคนขององค์กร โดยไม่มีการเก็บเงินกับผู้รับวัคซีน รวมถึงไม่มีการนำไปจำหน่ายต่อ และคาดว่าจะทำให้การเข้าถึงวัคซีนมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และถือเป็นการลดภาระงบประมาณภาครัฐอีกด้วย