“AIS-ไมโครซอฟท์” ร่วมแรง ติดปีก “สตาร์ตอัพ” ไทยโกอินเตอร์

หลังประกาศความร่วมมือในฐานะ “พันธมิตรธุรกิจ” ระหว่างยักษ์จาก 2 วงการ “เอไอเอส และไมโครซอฟท์”ทั้งคู่ก็ลุกขึ้นมาร่วมด้วยช่วยกันใช้ศักยภาพที่มียกระดับ “สตาร์ตอัพ” ไทย ในโครงการ “AIS x Microsoft for Startups”

“ซันเจย์ แอนดรูว์ โทมัส” หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) กล่าวว่า แม้ในปีที่ผ่านมาไทยจะเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19

แต่วงการสตาร์ตอัพไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ดูจากความสำเร็จในการระดมทุนได้มากกว่า 30 ราย คิดเป็นมูลค่า 365 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่งผลให้ไทยขึ้นเป็นประเทศที่มีการลงทุนมากสุดอันดับ 3 ในอาเซียน

และอันดับที่ 38 ของโลก แต่ก็พบด้วยว่ามีสตาร์ตอัพไทยอีก 92% ไม่ประสบความสำเร็จ โดย 42% มาจากความไม่เข้าใจตลาด และหาลูกค้าไม่เจอ 29% เงินทุนหมด 23% ขาดพนักงานที่เหมาะสม และอีก 6% ขาดโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี

“เราเริ่มมองเห็นโอกาสในธุรกิจสตาร์ตอัพ ตั้งแต่ปี 2554 โดยมองว่าเศรษฐดิจิทัลจะเป็นเศรษฐกิจหลักในอนาคต จึงวางเป้าหมายระยะยาวในการสนับสนุนอินฟราสตรักเจอร์ด้านไอทีให้ไมโครเอสเอ็มอี

และสตาร์ตอัพในการนำเทคโนโลยีเครือข่ายทั้ง 4G/5G มาเชื่อมต่อกับคลาวด์, ไซเบอร์ซีเคียวริตี้, ไอโอที และไอซีที เพื่อต่อยอดโซลูชั่นไปสู่องค์กรอื่น ๆ ในการสร้างการเติบโตให้สตาร์ตอัพ และเศรษฐกิจระดับประเทศ ปัจจุบันมีไมโครเอสเอ็มอีในอีโคซิสเต็มกว่า 50,000 รายทั่วประเทศ”

สำหรับโครงการ “AIS x Microsoft for Startups” จะเป็นการร่วมมือกันยกระดับ และขับเคลื่อนศักยภาพของสตาร์ตอัพไทย โดยมอบโอกาสการเข้าถึงเทคโนโลยีที่จำเป็น พร้อมคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และข้อมูลเชิงลึกที่มีความสำคัญ

“เอไอเอส” มองว่า สตาร์ตอัพเปรียบได้กับ “ออกซิเจน” สำหรับเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีโอกาสเติบโตได้อีกมาก หากรู้จักใช้เทคโนโลยีที่ถูกต้องเหมาะสม จึงเข้ามาขับเคลื่อนสตาร์ตอัพไทยให้เริ่มต้นทำธุรกิจ ขยายตลาด และเติบโตอย่างยั่งยืน

“ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สถานการณ์สตาร์ตอัพไทยครึ่งปีหลังจะมีทั้งกลุ่มที่รอด และร่วง โดยกลุ่มที่รอดเพราะปรับเปลี่ยนตนเองได้

ขณะที่กลุ่มที่ร่วงเพราะไม่ปรับโมเดลธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัล ขณะที่แหล่งเงินทุนปัจจุบันถือว่ามีมากกว่าความต้องการของสตาร์ตอัพ เพราะนักลงทุนเชื่อมั่นในศักยภาพของสตาร์ตอัพไทย และต้องการลงทุนกับสตาร์ตอัพที่มีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างและขยายตลาดได้

สาเหตุที่สตาร์ตอัพไทยโกอินเตอร์ไม่ได้ เพราะปัญหาข้อกฎหมาย เช่น กม.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของสหภาพยุโรป (GDPR) ที่สตาร์ตอัพเก็บข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้าไม่เหมาะสมหรือการใช้ข้อมูลจากเทคโนโลยี AI ไม่ถูกต้องตามจริยธรรมจึงละเมิดกฎหมายในต่างประเทศ เป็นต้น

“ไมโครซอฟท์ปรับโพซิชั่นเป็น digital transformation partner ให้บริการเทคโนโลยีแพลตฟอร์มกับสตาร์ตอัพ โดยนำเทคโนโลยีอินเทลลิเจนซ์คลาวด์

และเอดจ์คอมพิวติ้งมาสนับสนุนสตาร์ตอัพตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงขั้นขยายตลาด ร่วมออกแบบโซลูชั่นให้สอดรับกับธุรกิจทั้ง B2B และ B2C”

“ธนวัฒน์” ย้ำว่า บริษัทมีเป้าหมายระยะยาวในการทำให้สตาร์ตอัพไทยมีศักยภาพแข่งขันในต่างประเทศได้