“เคอรี่วอลเล็ท” ชิงเค้กกระเป๋าเงินดิจิทัล

เคอรี่ เอ็กซ์เพรส

“เคอรี่” เปิดเกมชิงส่วนแบ่งตลาดกระเป๋าเงินดิจิทัล ผนึก “สบาย” ปั้น “เคอรี่ วอลเล็ท” เจาะไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคนิวนอร์มอล ชูจุดขายใช้ง่าย-จุดเติมเงินทั่วประเทศพร้อมเปิดกว้างหาพันธมิตรร่วมสร้างอีโคซิสเต็มขยายฐานผู้ใช้ร่วมกัน

นายอเล็กซ์ อึ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคอรี่ เอ็กซ์เพรส (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เคอรี่ เอ็กซ์เพรสให้บริการขนส่งพัสดุและเก็บเงินปลายทางที่มียอดสูงกว่า 8,000 ล้านบาทต่อเดือน

มีผู้ใช้บริการเฉลี่ย 10 ล้านรายต่อเดือน โดยพฤติกรรมของลูกค้าเคอรี่ปัจจุบันจ่ายด้วยเงินสดกว่า 90% อีก 10% จ่ายผ่านพร้อมเพย์และคิวอาร์โค้ดจึงต้องการผลักดันให้ลูกค้าใช้จ่ายผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

จึงร่วมกับบริษัท สบาย เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) พัฒนาระบบและเตรียมเปิดตัวเคอรี่ วอลเล็ท (KERRY Wallet) ในไตรมาส 4 ปีนี้

โดยเคอรี่ วอลเล็ทจะวางตัวเองเป็น “โอเพ่นวอลเลต” ที่เปิดกว้างให้ร้านค้าทั้งเล็กและใหญ่เข้ามาเชื่อมต่อด้วยได้โดยไม่จำกัดว่าต้องเป็นลูกค้าเคอรี่เท่านั้น

มีเป้าหมายสำคัญในการเป็นไลฟ์สไตล์วอลเลตที่สามารถใช้บริการจ่ายเงินได้อย่างหลากหลาย ตอบทุกไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค และใช้งานง่าย พร้อมกับมีจุดเติมเงินผ่านระบบอีโคซิสเต็ม (ecosystem) ของสบาย

เทคโนโลยีที่มีจุดเติมเงินมากกว่า 56,000 แห่งทั่วประเทศ และเครือข่ายพาร์ตเนอร์อีกมากกว่า 100,000 จุด รวมถึงศูนย์กระจายพัสดุอีกกว่า 4,000 แห่ง

“อีวอลเลตจะเป็นที่นิยมได้ต้องมีฐานผู้ใช้มากพอสมควร ปัจจุบันเคอรี่มีผู้ใช้บริการกว่า 10 ล้านรายต่อเดือน เพราะให้บริการลูกค้าที่จัดส่งพัสดุอยู่แล้ว ทั้งกลุ่มเอสเอ็มอี อีคอมเมิร์ซ

และลูกค้าองค์กร เชื่อว่าบริษัทจะผลักดันให้เกิดขึ้นได้โดยเคอรี่ วอลเล็ทกลายเป็นไลฟ์สไตล์วอลเลตที่สำคัญในไทยได้”

นายอเล็กซ์กล่าวต่อว่า การตั้งเป้าหมายจำนวนผู้ใช้งานในขณะนี้อาจเร็วเกินไปที่แต่ละบริษัทเปิดกว้างสำหรับการหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ เพื่อมาร่วมกันขยายฐานผู้ใช้งาน

“เคอรี่ วอลเล็ทจะไม่ใช่แค่ช่องทางการชำระเงินอย่างเดียว แต่เป็นตู้คอนเทนเนอร์ที่พัฒนาวอลเลตในตู้ใบนี้

รองรับความสะดวกสบายไม่ต้องเปลี่ยนหน้าจอ สามารถชำระได้ทั้งแรบบิทไลน์เพย์สบายมันนี่ และในอนาคตก็จะขยายความร่วมมือเพิ่มด้วย”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้มีตลาดอีวอลเลตในไทยคึกคักขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายของภาครัฐที่จ่ายเงินเยียวยาผ่านโครงการคนละครึ่ง เราชนะและเรารักกัน

จึงกระตุ้นให้จำนวนผู้ใช้อีวอลเลตขึ้นตามไปด้วย แม้จะมีผู้เล่นในสมรภูมินี้อยู่แล้วหลายรายจากหลากหลายวงการ ไม่ว่าจะเป็นทรูมันนี่ วอลเล็ท ที่มีฐานลูกค้าประมาณ 20 ล้านราย และกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่าง “ลาซาด้า วอลเล็ต”, “ช้อปปี้เพย์” และ “ดอลฟิน” ในเครือเซ็นทรัล เจดี เป็นต้น