
Tech Times มัชฌิมา จันทร์สว่างภูวนะ
ปกติในการแข่งขันของวงการทีวีสตรีมมิ่ง ความสำเร็จของคู่แข่งอาจเป็นความล้มเหลวของเรา แต่ความสำเร็จจากซีรีส์ยอดฮิต Squid Game ของ Netflix คือข้อยกเว้น
แทนที่จะท้อเมื่อเห็นผู้บริหาร Netflix ยิ้มแก้มปริตอนประกาศยอดวิวของ Squid Game ที่สูงเป็นประวัติการณ์ คู่แข่งอย่าง Amazon Apple และ Disney กลับดูกระดี๊กระด๊าทันตาเห็น
- พระราชทานอภัยโทษ คดีทักษิณ ที่มาวาระอันเป็นมงคล วโรกาสสำคัญ
- หมอธีระวัฒน์ ชี้ งานวิจัยระบุ ชอบกินเนื้อสัตว์เสี่ยงตาย ไม่สูบบุหรี่ ออกกำลังกาย ไม่ช่วย
- ในหลวง พระราชินี เสด็จฯส่วนพระองค์ ทรงร่วมแข่งเรือใบ จ.ภูเก็ต
จนมีการตั้งข้อสังเกตว่าบริษัทเหล่านี้คงหวังว่า Squid Game จะช่วยเพิ่มความนิยมในซีรีส์ภาษาต่างประเทศในกลุ่มคนดูทั่วโลก ซึ่งย่อมส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตในอนาคต
นอกจาก Squid Game จะช่วยเพิ่มยอดสมาชิกให้ Netflix ไป 4 ล้านคนในไตรมาส 3 ที่เพิ่งผ่านมา ซีรีส์ยอดฮิตจากแดนโสมเรื่องนี้ยังแสดงให้เห็นว่าการลงทุนผลิตคอนเทนต์ในต่างประเทศอาจเป็นทางออกของธุรกิจที่คุ้มค่า

นอกจากช่วยลดต้นทุนแล้วยังเปิดให้มีคอนเทนต์แปลกใหม่เพื่อป้อนผู้ชมทั่วโลกที่มีรสนิยมหลากหลาย
จากการรายงานของ Bloomberg ต้นทุนในการผลิต Squid Game 9 ตอน อยู่ที่ 21.4 ล้านเหรียญ หากเทียบราคามาตรฐานฮอลลีวูดถือว่าถูกมาก
ถ้าเปลี่ยนมาใช้ดาราฮอลลีวูดและย้ายโลเกชั่นมาถ่ายทำที่อเมริกา ต้นทุนการผลิตอาจสูงขึ้นอย่างน้อย 5-10 เท่า เพราะนักแสดงค่าตัวสูงทั้งมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เพื่อให้การผลิตได้มาตรฐานตามที่สหภาพแรงงานกำหนด
เช่น ห้ามทำงานเกินจำนวนชั่วโมงที่กำหนดต่อวัน ทำให้ใช้เวลาถ่ายทำนานและมีต้นทุนสูงกว่าที่เกาหลี
นอกจากนี้ คอนเทนต์จากต่างประเทศยังมีค่าลิขสิทธิ์ต่ำกว่า เช่น ค่าลิขสิทธิ์ที่ Disney+ต้องจ่ายเพื่อฉายซีรีส์ตระกูล Marvel อย่าง “WandaVision”
และ “The Falcon” ตอนละ 25 ล้านเหรียญ แพงกว่า Squid Game ทั้ง 9 ตอนมัดรวมกันเสียอีก แถมราคานี้ยังไม่รวมเงินที่ Disney ควักกระเป๋าจ่ายให้ Marvel ไปกว่า 4 พันล้านเหรียญในปี 2009
จึงไม่แปลกที่บรรดาผู้ให้บริการสตรีมมิ่งชั้นนำ ไม่ว่าจะเป็น Amazon,Apple, Disney, WarnerMedia’s HBO Max, NBCUniversal, Lionsgate’sStarz และ ViacomCBS จะเร่งผลิตหรือเสาะหาคอนเทนต์ภาษาต่างประเทศดี ๆ มาป้อนคนดูเช่น Disney ที่เพิ่งประกาศว่ามีแผนจะผลิตซีรีส์ใหม่ถึง 27 เรื่องในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
นอกจากประหยัดต้นทุนจากการใช้นักแสดงหรือทีมงานท้องถิ่นแล้ว บริษัทยังได้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี เพราะปัจจุบันมีหลายประเทศที่อยากเป็นโลเกชั่นถ่ายหนังหรือซีรีส์ดัง ๆ
เพื่อโปรโมตการท่องเที่ยวเลยมอบส่วนลดทางภาษีให้จุใจพ่วงด้วยแพ็กเกจจูงใจอื่น ๆ เช่น ช่วยโฆษณาหนังหรือซีรีส์ให้ฟรี หรือจัดแคมเปญโปรโมตในเทศกาลหนังต่าง ๆ
ปัญหาคือ แม้คนดูทั่วโลกอาจใจกว้างพร้อมรับคอนเทนต์แปลกใหม่จากต่างประเทศ แต่ไม่ใช่ในอเมริกาซึ่งเป็นตลาดหลักของ Netflix และบริษัทสตรีมมิ่งอื่น ๆ
ยอดสมาชิกใหม่ 4 ล้านคนของ Netflix มีแค่ 7 หมื่นที่มาจากอเมริกา และไม่ใช่ทุกคนที่สมัครบริการจะมาเพราะชอบ Squid Game โจทย์ที่ผู้ผลิตอาจต้องขบคิดต่อไป (ถ้ายังหวังจะเพิ่มยอดสมาชิกในอเมริกา) คือจะทำอย่างไรให้หนังภาษาต่างประเทศขยับจากการเป็นหนังเฉพาะกลุ่ม เป็นหนังแมสในสังคมอเมริกา
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ Squid Game ให้บทเรียนที่มีประโยชน์ต่อคนในวงการคอนเทนต์ทั้งในและต่างประเทศ อย่างน้อยมันแสดงให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องเดินตามกรอบความสำเร็จเดิม ๆ ก็ฮิตได้
ซึ่งน่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ผลิตกล้าผลิตคอนเทนต์ใหม่ ๆ ที่หลุดออกมาจากกรอบเดิม ๆ เช่น การวนเวียนผลิตหนังซูเปอร์ฮีโร่ซ้ำซาก หรือการขุดเอาหนังฮิตในอดีตมาปัดฝุ่น (ทั้ง remake และ reboot)
การค่อย ๆ ทลายกำแพงความคิดแบบนี้น่าจะเป็นประโยชน์ทั้งต่อผู้ผลิตและตัวศิลปินที่มีความสามารถทั่วโลกในระยะยาวด้วย