“ทรู-ดีแทค” สู่เทคคอมปะนี เปลี่ยนคู่แข่งเป็นพันธมิตรยึดตลาด

TRUE DTAC

กลายเป็นบิ๊กดีลที่หลายฝ่ายให้ความสนใจระหว่างการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มทรู กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ซึ่งชัดเจนแล้วว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซี.พี. และกลุ่มเทเลนอร์จะเข้าถือหุ้นในบริษัทที่จะตั้งขึ้นใหม่ ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการตกลง การตรวจสอบกิจการ (due diligence) ของแต่ละฝ่าย ซึ่งคาดว่าทั้งหมดจะแล้วเสร็จไตรมาส 1 ปี 2565

ล่าสุด “ศุภชัย เจียรวนนท์” ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงความร่วมมือระหว่างเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) และกลุ่มเทเลนอร์ว่า ถือเป็นพาร์ตเนอร์ที่มีความเท่าเทียมกัน

โทรคมนาคมเปลี่ยนสนามรบ

“ศุภชัย” ย้ำว่า สนามการแข่งขันของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเปลี่ยนไป โดยผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมมาถึงจุดที่เพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจได้น้อยมาก ๆ ทำให้บทบาทผู้ประกอบการโทรคมนาคมลดลงเรื่อย ๆ เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจโทรคมนาคมเป็นเพียงแค่ท่อส่งข้อมูล (data) อย่างเดียว

ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ทำให้ผู้เล่นในอุตฯนี้ก็พยายามปรับเปลี่ยนตัวเองเพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจและผู้บริโภคให้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม หากย้อนวิวัฒนาการที่เป็นการปฏิรูปในระบบเศรษฐกิจของโลก พบว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมเริ่มตั้งแต่ยุค 1.0 ยุค 2.0 เข้ายุคที่ 3.0 การซื้อขายระหว่างประเทศ และอัตราแลกเปลี่ยนต่าง ๆ ส่วนปัจจุบันกำลังอยู่ในยุค 4.0 คือ การไหลของทุน เป็นยุคของข้อมูล

นั่นหมายถึง ข้อมูล ถือเป็นน้ำมันที่ดีในการขับเคลื่อนธุรกิจและสิ่งที่กำลังเผชิญอยู่ คือ จุดเปลี่ยนที่สำคัญ เรากำลังจะก้าวจากยุค 4.0 ไปยุค 5.0 ซึ่งเป็นยุคของเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (artificial intelligence : AI) ตลอดจนเทคโนโลยีด้านฮาร์ดแวร์ใหม่ ๆ

ซึ่งเทคโนโลยีที่มีการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของทุกเศรษฐกิจบนโลก ที่เรียกว่า คลาวด์เทคโนโลยี การขับเคลื่อนดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ตลอดจนเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนใหม่ เรื่องของสเปซ เทคโนโลยี ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยต้องการความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก

ซึ่งเราก็เล็งเห็นว่าตัวเราทั้งสองบริษัทมีข้อจำกัดที่ว่า ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าต่อไปด้วยข้อจำกัดที่เป็นผู้ประกอบการที่ทำเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมเป็นหลัก และข้อจำกัดเหล่านี้ก็ทำให้ไม่สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับผู้บริโภคและประเทศไทยได้

“ศุภชัย” กล่าวว่า ตอนนี้เราเห็นบทบาทใหม่ในการเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ สร้างเทคโนโลยีให้แก่ประเทศไทย ซึ่งระบบนิเวศเหล่านี้เกิดขึ้นในหลายด้าน เช่น ภาครัฐเข้าลงทุนในเรื่องของเทคโนโลยี หรือว่าสร้างอินเซนทีฟในการดึงดูดนักลงทุน กลุ่มเทคสตาร์ตอัพที่จะเข้ามาสร้าง หรือเปลี่ยนแปลง ปฏิรูประบบเศรษฐกิจ หรืออุตสาหกรรมในทุก ๆ อุตสาหกรรม เป็นต้น ตลอดจนการขับเคลื่อนบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการสร้างนวัตกรรม

อย่างไรก็ตาม การดึงเอาผู้ประกอบการระดับโลกอย่างกรณีนี้ คือ กลุ่มเทเลนอร์ ซึ่งถือเป็นส่วนประกอบสำคัญของระบบนิเวศที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4.0 หรือ 5.0 ก็ได้ ทั้งหมดนี้ถือเป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเข้สู่ยุคของเทคโนโลยี

“เราเห็นบทบาทของบริษัทที่จะเกิดขึ้นของพาร์ตเนอร์ชิปครั้งนี้ ทั้งทรูและดีแทคในการเพิ่มมูลค่าและสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมให้กับประเทศ ประชาชนในประเทศ และฐานลูกค้าของทรูและดีแทคที่มีอยู่ของทั้งสองบริษัท”

ตั้งกองทุน หนุนเทคสตาร์ตอัพ

สิ่งที่มองไปข้างหน้า คือ ถ้าเราโฟกัสบนพื้นฐานที่มีความแข็งแรง มากกว่าแค่การให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหมายถึงบริษัทใหม่ที่นอกเหนือจากการเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องการโฟกัสไปเรื่องของเอไอ ดิจิทัลมีเดียแพลตฟอร์ม IOT คลาวด์เทคโนโลยี และสิ่งที่ต้องการค้นหาต่อไป คือ สเปซเทคโนโลยี

สุดท้ายที่ถือเป็นระบบนิเวศของการลงทุน คือ เวนเจอร์แคปิตอล ซึ่งกลุ่มเทเลนอร์ และ ซี.พี. เห็นตรงกันว่า บริษัทใหม่นี้ต้องช่วยกันระดมทุนให้ถึง 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อลงทุนในเทคสตาร์ตอัพในการสนับสนุนระบบนิเวศของเทคสตาร์ตอัพในไทยและเทคสตาร์ตอัพที่ตั้งอยู่ในไทย ได้มีโอกาสเติบโต และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนและทรานส์ฟอร์มของประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือระดับโลก

เรามีความตั้งใจในการทำเป้าหมายแรก คือ การเป็น agenda ของโลก คือ เรื่องของการให้ทุกคนเข้าถึงข้อมูล แหล่งความรู้ต่าง ๆ ซึ่งโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ เราได้ทำสำเร็จลุล่วงระดับหนึ่งและต้องทำต่อเนื่องไปอีก

แต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานใหม่ทั้งโลก รวมถึงประเทศไทย คือ การก้าวเข้าสู่ยุคของเทคโนโลยีและดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น ถือเป็นความท้าทายของบริษัทและความร่วมมือใหม่ที่จะต้องผนึกกำลังร่วมกันเพื่อเดินหน้าสู่เป้าหมายที่ 3 คือ การสร้างความยั่งยืนทั้งมิติของสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม

ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถที่จะทำให้เกิดผลได้โดยการใช้เทคโนโลยี สร้างนวัตกรรมใหม่ ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ทำให้เราสามารถบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ร่วมกันได้ และสร้างประโยชน์ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

“การผนึกกำลังเป็นวิถีใหม่ของการดำเนินธุรกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแข่งขันในยุคต่อไปที่เป็นการแข่งขันระดับภูมิภาค และระดับโลก ซึ่งทุกรายล้วนแข่งขันไปสู่จุดที่จะทรานส์ฟอร์มตัวเองให้เป็นประเทศที่มีเทคโนโลยีที่นำไปสู่ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ซึ่งเราตระหนักถึงศักยภาพที่จะเกิดขึ้นนี้ และจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่มีพาร์ตเนอร์ชิป”

“และความร่วมมือครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะพาร์ตเนอร์ 2 บริษัทเท่านั้น แต่เชื่อว่ามีความจำเป็นมากในการเติบโตไปด้วยกันอย่างยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เป็นรูปแบบ PPP (public private partnership) หรือมีความร่วมมือกันในระหว่างอุตสาหกรรมด้วยกัน เพื่อสร้างระบบนิเวศที่จะส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนเติบโตอยู่ต่อไปได้”

เพิ่มส่วนแบ่งตลาดทะลุ 40%

“ซิคเว่ เบรคเก้” ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเทเลนอร์ กล่าวว่า ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เรามีการเติบโตในหลายด้าน ขณะที่ทิศทางในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้า เมื่อธุรกิจต้องเผชิญการเปลี่ยนแปลงจากการปฏิวัติเทคโนโลยี

ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยนับว่ามีศักยภาพที่จะก้าวไปข้างหน้า และธุรกิจต้องการตอบสนองต่อการใช้งานทั้งต่อภาครัฐและผู้บริโภค 65 ล้านคนในประเทศไทย

ดังนั้น จึงได้มีแรงขับเคลื่อนร่วมกันที่จะตั้งบริษัทใหม่ด้วยหลักการสำคัญ คือ เป็นเจ้าของที่เท่าเทียมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งต่อ ซี.พี.และดีแทคที่เท่า ๆ กัน นี่คือตำแหน่งแห่งที่วางร่วมกันไว้

อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือกันครั้งนี้จะแสวงหาการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง การลงทุนด้านนวัตกรรมระดับโลกที่แข็งแกร่ง และการให้บริการใหม่ ๆ ที่แข็งแกร่งแก่ผู้บริโภค โดยคาดว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่มีมูลค่ากว่า 2.17 แสนล้านบาท

และหวังจะได้เห็นส่วนแบ่งทางการตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 40% จากการร่วมกันนี้ เพราะธุรกิจโทรคมนาคมปัจจุบันจำเป็นต้องเปลี่ยนภูมิทัศน์ธุรกิจ ต้องสร้างความเข้มแข็งทั้งด้านอินเทอร์เน็ต ดาต้า และการเชื่อมผู้บริโภคชาวไทยสู่สังคมดิจิทัลอนาคต

“ทั้งหมดคือการริเริ่มของความร่วมมือ และเราจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ซึ่งคาดว่าความร่วมมือนี้จะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 1 ปี 2565 และจะหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐไทยในเรื่องนี้ต่อไป”