5 เทคเทรนด์รักษ์โลก

เทครักษ์โลก

“ศูนย์วิจัยเทเลนอร์” เจาะ 5 เทคเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียว ย้ำ “กรีนคลาวด์-กรีนเทค-กรีนอินฟลูเอนเซอร์” มาแน่

นายบียอน ทาล แซนเบิร์ก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทเลนอร์ กล่าวว่า ได้รวบรวม และวิเคราะห์เหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในปี 2564 พบว่า โลกประสบปัญหาภาวะโลกร้อนรุนแรงส่งผลกระทบต่อมนุษย์ สัตว์ป่า และธรรมชาติ พร้อมคาดการณ์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่าง ๆ ของโลกที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่โลกสีเขียวอย่างยั่งยืน

ประกอบด้วย 5 แนวโน้มสำคัญ ได้แก่ 1.green clouds การเปลี่ยนผ่านทางดิจิทัลของสังคมเดินหน้าด้วยอัตราเร่งทำให้การรับส่งข้อมูล (cloud computing) เพิ่มขึ้นทวีคูณ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ต้องใช้ “พลังงาน” โดยดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกใช้พลังงานราว 1% ของการใช้พลังงานไฟฟ้าของทั้งโลก แต่ด้วยนวัตกรรม edge computing ทำให้การประมวลผลเร็วขึ้น และใช้พลังงานน้อยลง

แนวโน้มถัดมาเกี่ยวกับความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนที่เข้าถึงง่ายขึ้น

“หลายบริษัทหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มของโลกธุรกิจที่ต้องปรับตัวรวดเร็ว ตอบสนองกับความต้องการของพนักงานผ่านคอร์สความรู้สั้น ๆ หากองค์กรใดไม่สามารถตอบโจทย์ได้ จะไม่สามารถดึงดูดคนเก่งใหม่เข้ามาได้”

ดังนั้น หลักสูตรหรือข้อมูลความรู้เกี่ยวกับกระแสความยั่งยืน และสิ่งแวดล้อมจะเพิ่มขึ้นในเว็บไซต์เรียนออนไลน์ เช่น Coursera, LinkedIn Learning, Udacity และ Khan Academy

3.green tech อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ มีประสิทธิภาพด้านพลังงานสูงขึ้น

“ปัจจุบันอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีจำนวนมากกว่าประชากรโลก 4 เท่า และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นมากในอนาคต การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากทุกเทคโนโลยี และประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอุปกรณ์ที่มีอยู่ เช่น การแข่งขันพัฒนาชิปเซต เพื่อลดการใช้พลังงาน กรณี Apple พัฒนาชิปรุ่น M1 คาดว่าจะเกิดในตลาดคอมพิวเตอร์เป็นตลาดแรก ๆ ก่อให้เกิดผลดีทั้งในแง่การใช้พลังงาน และความทนทานของแบตเตอรี่ คาดว่าในอนาคตจะมีผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุ่มเงินวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพพลังงานมากขึ้น”

แนวโน้มที่ 4 คือ greenfluencer ศูนย์วิจัยเทเลนอร์คาดว่าปี 2565 จะมีแรงขับเคลื่อนทางสังคมผ่านโซเชียลมีเดีย โดยเหล่าอินฟลูเอนเซอร์จะค่อย ๆ สร้างการรับรู้เกี่ยวกับวิกฤตสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ที่เลวร้ายลงผ่านโซเชียลมีเดียที่มีเฉพาะกลุ่ม และเชื่อว่าจำนวนผู้ติดตามจะเพิ่มมากขึ้นตามฐานความนิยมนั้น ๆ

“อินฟลูเอนเซอร์ไม่ว่าจะสายอาหาร แฟชั่น บิวตี้ หรือสายสุขภาพ จะเข้ามานำเสนอเนื้อหาแนวรักษ์โลกมากขึ้น ทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ทั้งในแง่การตลาดและการเปลี่ยนแปลงทางสังคม อินฟลูเอนเซอร์ที่ผลิตเนื้อหาที่ไม่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจะโดนมองว่าล้าสมัย”

เนื่องจากโลกปรับตัวเป็นดิจิทัลมากขึ้น อินฟลูเอนเซอร์จึงเป็นอีกอาชีพที่ได้รับความนิยม ในอนาคตจะเกิดกรีนอินฟลูเอนเซอร์หน้าใหม่มากขึ้น ขณะที่รายเดิม ๆ จะหันมาสนใจและสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

แนวโน้มสุดท้ายเป็นผลจากโควิด-19 ที่ส่งผลต่อรูปแบบการทำงานจากการที่องค์กรปรับรูปแบบการทำงานเป็นออนไลน์ ทำให้พนักงานใหม่เป็นกลุ่มที่เผชิญกับความยากลำบากในการทำความรู้จัก และสร้างเครือข่ายการทำงาน และวัฒนธรรมขององค์กร จนเกิดปรากฏการณ์ “การลาออกครั้งใหญ่” (great resignation) ทำให้การให้ความใส่ใจพนักงานยุคโควิด-19 เป็นแนวโน้มสำคัญ

“คำแนะนำ 3 ประการที่จะช่วยให้องค์กรนำพาคนรุ่นใหม่เปลี่ยนผ่านสู่อนาคตแห่งโลกการทำงาน คือ 1.การจัดกิจกรรมที่ทำให้คนแต่ละรุ่นในองค์กรได้ร่วมกันพูดคุย อภิปราย แลกเปลี่ยน 2.กำหนดหน้าที่ของหัวหน้างานในการเป็นพี่เลี้ยง ให้คำแนะนำ และคำปรึกษา และ 3.ให้คุณค่าและชื่นชมคนกลุ่มนี้อย่างเปิดเผย ให้ความรู้สึกทางใจ และมอบโอกาสและพื้นที่ให้พวกเขาได้กล่าวความรู้สึก”