ยอดคดีซอฟต์แวร์เถื่อนลด9.9%ลุ้นสหรัฐปลดPWL

“ออโต้เดสก์-ไทยซอฟต์แวร์” ถูกละเมิดสิขสิทธิ์มากสุด ยอดคดีปีนี้ลดลง 9.9% เหลือ 227 คดี มูลค่าเสียหาย 430 ล้านบาท แต่ค่าเฉลี่ยปัญหาสูงกว่าอาเซียน บก.ปอศ. เร่งกระตุ้นธุรกิจตระหนักความเสี่ยงภัยไซเบอร์หนุนใช้คลาวด์เสริมแกร่งธุรกิจ ลุ้น สหรัฐปลดไทยจากบัญชี PWL

พ.ต.อ.วินัย วงษ์บุบผา รองผู้บังคับการกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) กล่าวว่า สถิติการจับกุมคดีละเมิดลิขสิทธิ์ด้านซอฟต์แวร์ของ บก.ปอศ.ปีนี้มีทั้งหมด 227 คดี ลดลงจากปีก่อน 9.9% มูลค่าความเสียหาย 430 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 10.2%

โดยกลุ่มธุรกิจที่ละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ปีนี้ 35% เป็นอุตสาหกรรมก่อสร้างตกแต่งภายใน 32% อุตสาหกรรมการผลิต 22% ธุรกิจบริการ และ 7% เป็นตัวแทนจำหน่ายค่าปลีก/ส่ง โดย 82% เป็นผู้ประกอบการไทย จังหวัดที่พบการกระทำผิดมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ, ปทุมธานี และสมุทรปราการ ส่วนโปรแกรมที่ถูกละเมิดมากที่สุด คือออโต้เดสก์, ไทยซอฟต์แวร์ เช่น บริหารงานโรงแรมและจ่ายเงินเดือน และไมโครซอฟท์

ขณะที่ในปีหน้าจะเน้นตรวจสอบองค์กรธุรกิจ ห้างร้านที่จำหน่ายซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ รวมทั้งอินเทอร์เน็ตคาเฟ่ ควบคู่ไปกับการรณรงค์เพื่อให้ตระหนักถึงความเสี่ยงจากการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนในการถูกไวรัสมัลแวร์โจมตี รวมถึงถูกดำเนินคดีซึ่งมีโทษสูงสุดจำคุก 8 ปี ปรับไม่เกิน 400,000 บาท

ด้านนายสมพร มณีรัตนะกูล นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) กล่าวว่า การละเมิดสิทธิ์ส่วนใหญ่จะเกิดกับซอฟต์แวร์ที่มีบริการหลังการขายน้อยและมีราคาสูง ขณะที่บริษัทที่กระทำผิดส่วนใหญ่มีรายได้ประมาณ 250 ล้านบาท แต่กลับไม่ลงทุนซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณ 1.89 ล้านบาท แต่ถ้าใช้ต่อเนื่องจะมีราคาลดลงได้ราวปีละ 50%

“ภาพรวมการละเมิดลิขสิทธิ์ในปีนี้อยู่ที่ 69% ลดลงราว 2% จากปีก่อน แต่ก็ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของอาเซียนที่แค่ 61% ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ยุโรป, สหรัฐอเมริกา อยู่ที่ 10-20% ส่วนปัญหาในการจับกุมนอกจากผู้กระทำผิดอยู่ในองค์กรปิดแล้ว ยังขาดแคลนด้านบุคลากร”

แต่ประเมินว่าจากนี้ปัญหาจะลดลงเรื่อย ๆ จากเทรนด์เทคโนโลยีที่เน้นการใช้ซอฟต์แวร์ผ่านระบบคลาวด์ ซึ่งทำให้เจ้าของสิทธิ์ตรวจสอบง่าย ขณะที่ซอฟต์แวร์ในรูปแบบเดิมค่อย ๆ ทยอยหยุดการอัพเกรด

“ประเทศจีนการละเมิดลิขสิทธิ์เกือบ 100% แต่พอมาใช้โมบายและคลาวด์ อัตราการละเมิดสิทธิ์ลดลงเร็วกว่าไทยมาก โดยคาดว่าไทยอาจใช้เวลาประมาณ 20 ปี เพราะประเมินว่ากว่าครึ่งของบริษัทในไทยยังมีการละเมิดสิทธิ์ซอฟต์แวร์ และหลายองค์กรยังไม่เปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีคลาวด์ บั่นทอนศักยภาพการแข่งขัน ทั้งที่มีผลวิจัยระบุว่า ถ้า 10% ขององค์กรใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย จะดัน GDP ประเทศเพิ่มได้ 1%”

ขณะนี้่กำลังลุ้นให้สำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐอเมริกา (USTR) ประกาศการประเมินสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของประเทศไทยในฐานะคู่ค้าตามกฎหมายการค้าสหรัฐ มาตรา 301 พิเศษ ให้อยู่ในกลุ่มบัญชีจับตาธรรมดา (Watch List : WL) จากก่อนนี้ที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ (Priority Watch List-PWL) เนื่องจากปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ลดลง