สรุป 7 ปี ทีวีดิจิทัล ช่องไหนผลิตเนื้อหาเอง จ้างผลิตสูงสุด

ทีวี

กสทช. เปิดรายงานด้านเนื้อหารายการทีวีดิจิทัล 7 ปี พบ ช่องวัน ผลิตรายการเองสูงสุด ขณะที่ทรูโฟร์ยู แชมป์ซื้อรายการต่างประเทศมาออกอากาศมากสุด ตามด้วยโมโน 29 ส่วนช่อง 5 มีสัดส่วนรายการร่วมผลิตสูงสุด

วันที่ 4 มีนาคม 2565 เข้าสู่ครึ่งทางของใบอนุญาตทีวีดิจิทัล ล่าสุดสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้สรุปรายงานแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านเนื้อหาของทีวีดิจิทัลตั้งแต่ปี 2558 – 2564 พบว่า ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล มีการปรับตัวและพัฒนากลยุทธ์ด้านเนื้อหารายการที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแข่งขันและข้อจำกัดด้านธุรกิจเป็นสำคัญ โดยแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้ผลิตรายการมากที่สุด ได้แก่ ช่องวัน ช่องพีพีทีวี ช่องจีเอ็มเอ็ม 25 และไทยรัฐทีวี อย่างไรก็ตามส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้ถือเป็นรายใหม่ที่เพิ่งเข้ามาออกอากาศเมื่อปี 2558 ทำให้ช่องเหล่านี้ ต้องผลิตเนื้อหาขึ้นเองจำนวนมาก

จากข้อมูลระบุว่า ปี 2564 ช่องวันมีสัดส่วนการผลิตรายการมากที่สุดถึง 75.35% ของผังรายการทั้งหมด ตามมาคือ จีเอ็มเอ็ม 25 สัดส่วน 64.20% ไทยรัฐทีวี 62% และพีพีทีวี 41.85%

กลุ่มที่ 2 กลุ่มที่มีการเช่าเวลาออกอากาศมากที่สุด ได้แก่ MCOT เนชั่นทีวี และอัมรินทร์ทีวี ซึ่งจากการพิจารณาพบว่า ช่องเหล่านี้มีรายการประเภททีวีช็อปปิ้ง อยู่ในผังรายการค่อนข้างมาก โดยปี 2564 ที่ผ่านมา ช่อง MCOT มีสัดส่วนรายการเช่าเวลาออกอากาศคิดเป็นสัดส่วน 32.77% รองมา คือ อัมรินทร์ทีวี 31.52% และเนชั่นทีวี 25.55%

กลุ่มที่ 3 กลุ่มที่มีการซื้อ หรือนำรายการจากภายนอกมาออกอากาศมากที่สุด ได้แก่ ช่อง 8 ทรูโฟร์ยู โมโน 29 ช่องเจเคเอ็น18 (ช่อง New18) เนื่องจากกลุ่มช่องเหล่านี้มีการซื้อคอนเทนต์จากต่างประเทศมาออกอากาศค่อนข้างมาก ซึ่งแนวทางดังกล่าวถือเป็นการลดต้นทุนการผลิตแต่ยังสามารถดึงความสนใจของผู้ชมไว้ได้ โดยจากข้อมูลปี 2564 พบว่า ช่องทรูโฟร์ยูมีสัดส่วนการซื้อ หรือ การนำรายการจากภายนอกมาออกอากาศสูงที่สุด คิดเป็นสัดส่วน 89.39% รองมา โมโน29 มีสัดส่วน 86.15% ช่องเจเคเอ็น 18 มีสัดส่วน 49.87% และช่อง 8 สัดส่วน 18.85%

กลุ่มที่ 4 กลุ่มช่องรายการที่มีสัดส่วนที่มาของรายการค่อนข้างคงที่ คือ ช่อง 3 ช่อง 7 ที่เน้นไปที่การซื้อหรือการนำรายการจากภายนอกมาออกอากาศ ซึ่งมีสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของผังรายการทั้งหมด ซ่งในกรณีของช่อง 3 นอกเหนือจากการซื้อลิขสิทธิ์เนื้อหารายการทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว เนื้อหาส่วนหนึ่งเป็นการนำเนื้อของบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด มาออกอากาศ

ส่วนช่อง 7 เน้นไปที่การผลิตละครเป็นหลัก ส่วนเวิร์คพอยท์ทีวี ก็มีแนวทางการผลิตเนื้อหาเองเป็นส่วนใหญ่ มากกว่า 70% ของเนื้อหารายที่ออกอากาศ ซึ่งเป็นเนื้อหาประเภทวาไรตี้ เกมโชว์ที่มีความเชี่ยวชาญ

กลุ่มที่ 5 กลุ่มที่มีสัดส่วนรายการร่วมผลิตในสัดส่วนที่สูง ได้แก่ ไทยพีบีเอส ช่อง 5 และ NBT ซึ่งช่องเหล่านี้ยังคงเน้นการผลิตเนื้อหาเอง เช่น กลุ่มรายการข่าว สารคดี และมีการร่วมผลิตค่อนข้างสูง โดยเฉพาะข้อมูลจากปี 2564 ระบุว่า ช่อง 5 มีการร่วมผลิตสัดส่วน 42.61% ไทยพีบีเอส สัดส่วน 3.04%