ค้าปลีกไอทีพลิกเกมปั๊มรายได้ ปรับพื้นที่โมเดิร์นเทรดลุยขายเครื่องใช้ไฟฟ้า

BANANA

ยักษ์ค้าปลีก-ค้าส่งสินค้าไอที เร่งเกมปั๊มรายได้ต่อยอดจุดแข็งบริหารสต๊อกสินค้าเรียลไทม์ “แอดไวซ์ฯ” ผนึกโฮมโปร นำร่อง shop in shop หลังเพิ่มพื้นที่ขายสินค้าไอทีใน “เพาเวอร์บาย” ไปก่อน “เจมาร์ท” ผนึกเจดีกรุ๊ป เติมรายได้แก้ปัญหาซัพพลายขาด ฟาก “คอม7” รุกบริหารพื้นที่ขายใน “อินเด็กซ์ ลิฟวิ่งมอลล์” พรึ่บ 30 สาขา เปลี่ยนชื่อเป็น “บานาน่า” ลุยขายตั้งแต่ “แอร์-ตู้เย็น” ยัน “สมาร์ทโฮม” หลังเข้าไปบริหารพื้นที่ขาย “ไอที-มือถือ” ในบิ๊กซีแล้วกว่า 45 สาขา

แหล่งข่าวจากธุรกิจค้าปลีกค้าส่งสินค้าไอที กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แม้ความต้องการสินค้าไอทีจะเพิ่มขึ้นจากวิกฤตโควิด-19 แต่ปัญหาซัพพลายสินค้าขาด และการแข่งขันผลักดันให้ผู้ประกอบการค้าส่งและค้าปลีกที่มีศักยภาพเริ่มมองหาโอกาสในการสร้างรายได้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมโดยใช้จุดแข็งและความชำนาญที่มี ทั้งการเพิ่มผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่ยังเติบโตรวมไปถึงการขยับขยายเข้าไปบริหารพื้นที่ค้าปลีกในโมเดิร์นเทรด

“ผู้ประกอบการสินค้าไอทีจะมีระบบไอทีที่แข็งแรง ทำให้การบริหารจัดการสต๊อกสินค้าทำได้ดี โดยเฉพาะปรับราคาสินค้าแบบเรียลไทม์ สอดรับกับการแข่งขัน ทำให้ปรับตัวได้เร็ว การขยับเข้ามาทำตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าจึงไม่ใช่เรื่องยาก ต่างจากร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อาจทำได้ไม่ดีเท่า ทำให้ร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมถึงกลุ่มโมเดิร์นเทรดบางรายเปลี่ยนรูปแบบการขายใหม่ โดยดึงผู้ประกอบการค้าปลีกค้าส่งสินค้าไอทีเข้ามาเช่า หรือบริการพื้นที่ให้”

“แอดไวซ์ฯ” ลุยช็อปอินช็อป

นายจักรกฤช วัชระศักดิ์ศิลป์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานผลิตภัณฑ์ การขายและการตลาด บริษัท แอดไวซ์ ไอที อินฟินิท จำกัด ผู้ประกอบการค้าปลีกและค้าส่งสินค้าไอที เปิดเผยว่า บริษัทได้เริ่มทดลองเพิ่มพื้นที่ขายสินค้าในช่องทางใหม่ ๆ เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจเพิ่มเติม โดยได้เข้าไปขายสินค้าไอทีในลักษณะ shop in shop ภายใน “เพาเวอร์บาย” แล้ว 18 สาขา และเตรียมเปิดตัว HomePro By Advice อีก 1 แห่ง โดยจะเริ่มทดลองสาขาแรกที่โฮมโปรสาขาราชพฤกษ์ ภายในเดือน พ.ค.นี้

เจมาร์ทพลิกเกมปั๊มรายได้

ด้านนายนราธิป วิรุฬห์ชาตะพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจมาร์ท โมบาย จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัญหาซัพพลายขาดยังส่งผลกระทบต่อการทำตลาดสินค้าไอทีและสมาร์ทโฟน ส่งผลกระทบต่อรายได้ของบริษัทเช่นกัน ทำให้ต้องปรับตัว ทั้งขยายช่องทางขาย เพิ่มสาขาร้านเจมาร์ทโมบาย และเจมาร์ท IOT บนพื้นที่ในศูนย์การค้าต่อเนื่อง รวมถึงการขายผ่านตัวแทนซิงเกอร์ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ คาดว่าปีนี้จะมีรายได้จากการขายผ่านช่องทางซิงเกอร์ถึง 1,500 ล้านบาท รวมถึงขยายไลน์สินค้าไปยังผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ นอกจากแก็ดเจตและสินค้าด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ แล้ว

ล่าสุดขยับไปขายเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติม โดยร่วมกับบริษัท เจดี กรุ๊ป จำกัด ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของดีลเลอร์ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัดทั่วประเทศปัจจุบันมีดีลเลอร์ 7 ราย รวม 13 สาขา คาดว่าปีนี้จะเปิดให้ครบ 103 สาขา โดยเจมาร์ทโมบายจะสามารถสั่งซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าจากเจดี กรุ๊ปเข้ามาขายผ่านช่องทางเจมาร์ทได้

“แนวทางนี้จะช่วยแก้ปัญหาซัพพลายสินค้าไอทีขาดได้ โดยบริษัทจะพยายามผลักดันรายได้ให้เติบโตต่อไป คาดว่าถึงสิ้นปี รายได้รวมจะไปถึง 12,500 ล้านบาทโตขึ้น 50% จากปีก่อนตามเป้าหมายที่วางไว้”

คอม7 ลุยขยายธุรกิจ

นายณรงค์ ศรีวรรณวิทย์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสายงานขายและธุรกิจค้าปลีก บริษัท คอมเซเว่น จำกัด (มหาชน) หรือ COM7 กล่าวว่า การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ยังเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้บริษัทต้องปรับตัวต่อเนื่อง โดยในปีแรกที่เกิดการระบาดของโควิด แค่เดือนครึ่งทำให้ยอดขายหายไปประมาณ 2,800 ล้านบาท แม้ความต้องการสินค้าไอทีจะพุ่งสูงขึ้น แต่ไม่สามารถเปิดสาขาได้จากมาตรการล็อกดาวน์ เพราะสาขาส่วนใหญ่ของบริษัทเปิดให้บริการในศูนย์การค้า จึงปรับแผนโดยเปิดพ็อปอัพสโตร์ขึ้น 57 สาขา ส่งผลให้ยอดขายฟื้นกลับมา

สำหรับทิศทางในปีนี้ ยังเดินหน้าขยายธุรกิจต่อเนื่อง แบ่งเป็น 4 ส่วน ได้แก่ 1.การเปิดสาขาใหม่ ตั้งเป้าหมายว่าปีนี้จะเปิด 150 สาขา แบ่งเป็นสาขาในศูนย์การค้า 80 สาขา และนอกศูนย์การค้ารูปแบบสแตนด์อะโลน 70 สาขา จากสิ้นปี 2564 มีทั้งสิ้น 1,000 สาขา ไม่นับรวมบิ๊กซีและอินเด็กซ์ลิฟวิ่งมอลล์ 2.การปรับรูปแบบของร้านแฟรนไชส์ใหม่ โดยจะเปิดอีกไม่ต่ำกว่า 170 ร้าน

ส่วนที่ 3.การขยายไลน์ผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยปีที่ผ่านมาเข้าไปในศูนย์เครื่องใช้ไฟฟ้าครบวงจร เพาเวอร์วัน (Power One) ในเครืออินเด็กซ์ จำนวน 30 สาขา และเมื่อต้นปีที่ผ่านมาเปลี่ยนชื่อเป็น “บานาน่า” เพื่อจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าครบวงจร ทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้า แอร์ เครื่องซักผ้า สินค้าไอที กลุ่มสมาร์ทโฮม ทั้งเตรียมนำเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้าไปขายในร้าน “บานาน่า” สแตนด์อะโลนที่จะเปิดใหม่ 50 แห่ง และคาดว่าในสิ้นปีนี้จะมีร้านบานาน่าที่ขายเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 80 สาขา

“ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้ามีมูลค่าประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท และเติบโตขึ้นทุกปี ซึ่งคอม7 เข้ามาในตลาดช้ากว่ารายอื่น ๆ แต่ก็ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะไล่บี้เก็บส่วนแบ่งตลาดจากรายอื่น ๆ โดยตั้งเป้าว่าปีแรกจะมีรายได้จากการขายเครื่องใช้ไฟฟ้า 2,000 ล้านบาท”

สุดท้าย 4.การหาพาร์ตเนอร์รายใหม่ ๆ ที่ผ่านมาเข้าไปบริหารสินค้าไอทีให้บิ๊กซี 45 สาขา และร้านทรูช้อป เริ่มจากพื้นที่ในศูนย์การค้าใหญ่ก่อน ทั้งมีความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์รายใหม่ ๆ อย่างเพาเวอร์บายในการฝากขายสินค้าเพิ่ม โดยคาดว่าปีนี้รายได้จะเติบโต 20% จากปี 2564 ที่มีรายได้รวม 51,251 ล้านบาท กำไร 2,628 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 76% จากปี 2563