AIS จ่ายค่าคลื่น 700 MHz งวด 2 อีก 1.8 พันล้าน

เอไอเอส

เอไอเอสจ่ายค่าคลื่น 700 MHz งวด 2 อีก 1.8 พันล้าน พร้อมกันงบฯ 3 หมื่นล้าน อัพสปีดโครงข่ายต่อ

วันที่ 18 เมษายน 2565 นายศรัณย์ ผโลประการ หัวหน้าฝ่ายงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในฐานะผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ในมูลค่ารวม 17,154 ล้านบาท เป็นตัวแทนชำระค่าคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz งวดที่ 2 เป็นเงิน 1,835,478,000.00 บาท (หนึ่งพันแปดร้อยสามสิบห้าล้านสี่แสนเจ็ดหมื่นแปดพันบาทถ้วน) รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว

โดยมี นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ กสทช. รักษาการแทน เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้รับมอบ เพื่อนำส่งเงินเป็นรายได้ของแผ่นดินต่อไป

นายศรัณย์กล่าวว่า AIS เป็นรายแรกที่ประกาศเปิดตัวการให้บริการ 5G หลังจากได้รับใบอนุญาตเพียงไม่กี่วัน เมื่อเดือน ก.พ. 2563 โดยถือครองคลื่นความถี่มากที่สุด ครบทั้งย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง ครอบคลุมการใช้งานทุกรูปแบบ จนถึงปัจจุบัน AIS 5G ให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศในพื้นที่กว่า 90% ในกรุงเทพฯ และครอบคลุม 100% ในพื้นที่ EEC

โดยเฉพาะคลื่น 700 MHz เอไอเอส มีความถี่มากที่สุดถึง 30 MHz และได้นำมาใช้ในการขยายบริการ 5G ในพื้นที่ห่างไกลได้ ด้วยการติดตั้งสถานีฐานในปริมาณมากที่สุดด้วย ส่งผลให้ประชาชนเข้าถึงเทคโนโลยี 5G ที่ตอบโจทย์การใช้ดาต้าในยุคที่ต้องเรียนหนังสือ หรือทำงานที่บ้านได้อย่างสอดคล้องกับสถานการณ์

นอกจากนี้ ในภาพรวมของการบริหารจัดการคลื่นความถี่นั้นยังเดินหน้านำนวัตกรรมมายกระดับโครงข่ายด้วยเทคโนโลยีล่าสุดระดับโลกอย่างต่อเนื่อง เช่น mmWave ด้วยความเร็วถึงระดับ 4 กิกะบิตต่อวินาที และ 5G CA ครั้งแรกของโลก รวมถึง Voice over 5G New Radio (VoNR) ให้โทร.ชัดใสได้บนเครือข่าย 5G SA รายแรกในไทย รวมไปถึงประสบการณ์ใช้งานด้านอื่น ๆ ทั้งความครอบคลุม, ความเร็ว, การเชื่อมต่อกับ IOT Device ตลอดจนอัตราความหน่วง เพื่อรักษาคุณภาพที่เป็นเลิศอยู่ตลอดเวลา

นายศรัณย์กล่าวต่อว่า บริษัทยังวางงบประมาณกว่า 30,000-35,000 ล้านบาท เพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการด้านโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง รองรับโอกาสและการเติบโตในแง่ของผู้ใช้งานที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงการมองภาพใหญ่ของประเทศที่ต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลเทคโนโลยีที่แข็งแรง เพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ ใช้เป็นจุดแข็งของประเทศในการแข่งขัน และดึงดูดนักลงทุน ซึ่งเป็นสิ่งที่ AIS มุ่งมั่นทำมาอย่างต่อเนื่องในฐานะผู้นำ