ผู้ว่าแบงก์ชาติชี้ไตรมาส 3 เงินเฟ้อพีก ปี’66 เข้าสู่กรอบเป้าหมาย

เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ

ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเผยเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้นตัว ภาคอีสานยังอยู่ในกลุ่มเปราะบางหลังจากรับผลกระทบโควิด-19 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของไทยพุ่งสูง 7% แต่ไม่รุนแรง คาดกลับสู่ภาวะปกติปี 2556

วันนี้ 5 กันยายน 2565 ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประจำปี 2565 ช่วงสนทนากับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ “ชีพจรเศรษฐกิจการเงินภาคอีสานและความท้าทายที่ต้องก้าวข้าม”

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตอนนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยอยู่ในช่วงที่กำลังฟื้นตัว และมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวต่อเนื่องแบบค่อยเป็นค่อยไป จะเห็นว่าตัวเลขจีดีพีในปี 2564 ที่ผ่านมาโต 1.5% ในปี 2656 น่าจะได้เห็นการเติบโตขึ้นอีกประมาณ 3% และคาดว่าปีหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 4%

เป็นที่สังเกตว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยมาจากอุปสงค์ภายในประเทศมากพอสมควร ซึ่งฟื้นตัวจากการบริโภคของภาคเอกชน กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมา ไตรมาสแรกของปีโตประมาณ 3.5% ไตรมาส 2 โตเกือบ 7% ถือว่าฟื้นตัวที่ค่อนข้างแรง และสำหรับปัจจัยสำคัญที่ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่อเนื่องไปด้วยดีคือ การท่องเที่ยวดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ ตัวเลขนักท่องเที่ยวจาก ททท. ณ ขณะนี้น่าจะเกิน 8 ล้านคนแล้ว

“แม้ในช่วงนี้ทั้งข่าวและกระแสความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกจะมีอยู่เยอะมาก จนเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้การส่งออกของประเทศไทยแผ่วลงไปด้วย แต่การฟื้นตัวจากการท่องเที่ยวเชื่อว่ามีเสถียรภาพ น่าจะช่วยพยุงเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศได้ และความเสี่ยงด้านต่ำของเศรษฐกิจไทยก็คิดว่าน้อยกว่าประเทศอื่น”

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า สำหรับภาคอีสานนั้นได้รับผลกระทบจากโควิด-19 น้อยกว่าภาพรวมของประเทศที่เศรษฐกิจหดตัวกว่า 6% ซึ่งภาคอีสานติดลบเพียง 1% จึงไม่ส่งผลกระรุนแรง และเมื่อฟื้นตัวก็ไม่ดีดตัวแรงเช่นกัน

โดยโครงสร้างเศรษฐกิจของอีสานจะแตกต่างจากของประเทศมาก 1) ส่วนใหญ่เศรษฐกิจของภาคอีสานอิงกับภาคเกษตรกว่า 50% ในภาคเกษตรเป็นข้าวมากถึง 70% ถ้าราคาข้าวดีก็ชีวิตคนส่วนใหญ่ก็จะดีเช่นกัน ถัดมาคือ 2) การจ้างงานภาคบริการ กว่า 50% ของการจ้างงานของภาคบริการอยู่ในหมวดของค้าปลีกค้าส่งและก่อสร้าง ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันการค้าจะค่อย ๆ ดีขึ้นเป็นลำดับ

ถึงกระนั้นก็ยังมีสัดส่วนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อยู่ เพราะคนอีสานมักจะทำงานต่างถิ่น มีตัวเลขกว่า 8 แสนคนที่ทำงานในเมืองท่องเที่ยวแล้วย้ายกลับถิ่นฐานมายังภาคอีสาน และคนกลุ่มนี้ก็ยังได้รับผลกระทบอยู่ถึงปัจจุบัน ทำให้การฟื้นตัวก็จะช้าไป แต่อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยบ่งปัจจัยเช่น ราคาสินค้าเกษตรที่ดีขึ้นจะช่วยการฟื้นตัวของภาคอีสานได้

ขณะเดียวกันหนี้ครัวเรื่อนของภาคอีสานสูงกว่าค่าเฉลี่ยรวมทั้งประเทศ และรายได้ก็ต่ำกว่าทั้งประเทศ จึงชี้ชัดว่าภาคอีสานมีความเปราะบางเป็นพิเศษมากกว่าที่อื่น โดยเฉพาะหนี้จากภาพเกษตรที่มีความอ่อนไหวไปตามดอกเบี้ย การปรับเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจปกติจึงต่องดูภาพรวมและหานโยบายเฉพาะจุด ให้สอดคล้องกับบริบทของลูกหนี้

ทิศทางเงินเฟ้อของประเทศไทย

นายเศรษฐพุฒิกล่าวว่า ประเด็นเรื่องของเงินเฟ้อก็เป็นอีกเรื่องถกกันทั่วโลกและตอบยาก แต่ในประเทศไทยเงินเฟ้อสูงมากเกินกว่าที่คาดไว้ จากกรอบเป้าหมายแค่ 1-3% ล่าสุดค่าเฉลี่ยพุ่งถึง 7% แล้ว ซึ่งดัชนีชี้วัดนี้รวมราคาพลังงานและอาหารสดด้วย ในทางปฎิบัติควบคุมไม่ได้เพราะอิงกับราคาน้ำมันโลก แต่อาจจะมีวิธีควบคุมราคาสินค้าในหมวดนี้ โดยเฉลี่ยมองว่าน่าจะพีคในไตรมาส 3 ช่วงกันยายน-ตุลาคมนี้ ตัวเลขน่าจะออกมาสูง แต่คาดว่าจะค่อย ๆ ปรับลดลงปีหน้า 2565 ตัวเลขน่าจะกลับเข้ามาสู่กรอบเป้าหมายน่าจะต่ำกว่า 3%

“เรื่องเงินเฟ้อถ้าราคาน้ำมันอาหารพุ่งขึ้นเราก็หนีไม่พ้น แต่สิ่งที่เราไม่ต้องการให้เกิดขึ้นคือการทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อติด เราการคาดการณ์ไว้อย่าให้หลุดกรอบในระยะยาว เพราะถ้าหลุดจากกรอบจะเกิดวงจรระหว่างค่าแรงกับราคาสินค้า ที่คนเห็นเงินเฟ้อขึ้นก็จะเรียกค่าแรงสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นแล้ววนกลับมาที่ค่าแรงอีก”

ธนาคารแห่งประเทศไทยมองว่าภาวะเงินเฟ้อของไทยไม่น่าจะรุนแรงเหมือนต่างประเทศ และจะกลับมาสู่ภาวะปกติได้ เพราะโดยบริบทเงินเฟ้อของไทยมาจากอุปทานเป็นหลัก ไม่มีภาพที่มาจากฝั่งอุปสงค์หรือดีมานด์ที่รุนแรงเหมือนต่างประเทศที่ขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรง

ทั้งนี้ โครงสร้างแรงงานของไทยโดยรวมทั้งประเทศเกือบครึ่งเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้าง เพราะประกอบอาชีพอิสระและเกษตรกร เมื่อเทียบค่าแรงกับต้นทุนการผลิตสัดส่วนก็ไม่ได้สูง ไม่เหมือนกับต่างประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งสัดส่วนค่าแรงสูงกว่าต้นทุนการผลิต เมื่อเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นค่าแรงจะสูงขึ้นตาม

ส่วนโอกาสที่จะมีปัจจัยส่งผลให้ไทยเกิดเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นก็มี แต่ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ทำให้กำลังการผลิตต่าง ๆ ยังเยอะอยู่ อัตราการว่างงานและเสมือนว่างงานก็มีตัวเลขที่ดรอปลงลง ยังไม่ถึงกับสภาวะในอเมริกาที่ฟื้นจากโควิด-19 มาได้สักพักแล้ว ทำให้ตลาดแรงงานร้อนแรงและเงินเฟ้อวิ่งให้ราคาสินค้าขึ้นสูง


อย่างไรก็ตาม ภาคการเงินเราเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ และวางแนวทางเกี่ยวกับภูมิทัศน์ทางการเงินเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปได้ ในแง่ดิจิทัลของระบบต่าง ๆ ตอนนี้เราทำได้ค่อนข้างดี ช่วยธุรกิจและธุรกิจเอสเอ็มอีให้ไปได้อย่างทั่วถึง ส่วนเรื่องของความยั่งยืนก็กำลังการปูพื้นฐานและองค์ประกอบที่จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยไปสู่โลกใหม่