ตลาดมืดหมื่นล้าน “หมากไทย” ปั่นราคาต้นพันธุ์-หวั่นล้นตลาด

ส่งออกหมากไทย

กระแสความต้องการ “หมากดิบและหมากแห้ง” แบบซื้อไม่อั้นจากหลายประเทศในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ทั้งอินเดีย ไต้หวัน จีน เมียนมา เวียดนาม บังกลาเทศ ปากีสถาน อินโดนีเซีย โดยผู้นำเข้าต่างชาติหลายคนบินตรงไปยังแหล่งผลิตใหญ่ในภาคตะวันออกและภาคใต้

เพื่อกว้านหาซื้อวัตถุดิบ ส่งผลให้ราคาหมากดิบเคยพุ่งขึ้นไป 50-100 บาทต่อกิโลกรัม สะท้อนผ่านตัวเลขการส่งออกหมากไปยังตลาดหลัก 15 ประเทศ ปี 2564 รวมมูลค่า 5,236.20 ล้านบาท ขณะที่ช่วง 7 เดือนแรกของปี 2565 (ม.ค.-ก.ค.) รวมมูลค่าเพียง 1,838.32 ล้านบาท

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจตลาดทั้งในภาคตะวันออกและภาคใต้ ทำให้พบว่า ช่วง 2 ปีที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน หลายสวนที่เคยปลูกหมากเป็นเพียงพืชหัวไร่ปลายนา มีการขยายพื้นที่ปลูกแซมกับพืชหลัก และลงทุนปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยว มีผู้ประกอบการรายใหญ่ลงทุนสร้างโรงงานแปรรูปทางภาคใต้ 4-5 แห่ง และภาคตะวันออก 1 แห่ง และที่ภาคกลางตอนบน 1 แห่ง ทำให้ตลาดมีการแข่งขันกันสูง

ปั่นราคาต้นพันธุ์หวั่นล้นตลาด

แหล่งข่าวจากผู้ปลูกหมากรายใหญ่ จ.จันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาตลาดรับซื้อหมากเป็นตลาดที่ทำกันเงียบ ๆ เหมือนตลาดมืด ทั้งที่มูลค่าปริมาณการส่งออกแต่ละปีมีจำนวนหลายหมื่นล้านบาท มากกว่าตัวเลขที่ปรากฏของหน่วยงานภาครัฐ

แต่ตลาดไม่มีความแน่นอน การซื้อขายไม่มีการขึ้นป้ายราคารับซื้อเหมือนทุเรียน ขึ้นกับพ่อค้า แผงที่รับซื้อที่นำไปขายต่อโรงงาน หรือผู้ค้าส่งออกไปต่างประเทศ หมากดิบ หรือเรียกกันว่า “หมากเวียต” เป็นหมากลูกรีเล็ก ก้นแหลมซึ่งเป็นที่นิยม ราคาจริงตอนนี้ กิโลกรัมละ 25-30 บาท แต่ราคาที่พ่อค้าคนกลางรับซื้อจากชาวสวนในแต่ละพื้นที่แตกต่างกันไป แล้วแต่แหล่งตั้งแต่ 5-10-20 บาท/กก.

แหล่งข่าวเกษตรกรผู้ปลูกและแผงรับซื้อหมากกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้จีนมีกระแสความต้องการหมากเวียตจำนวนมาก โดยรับซื้อไม่อั้น ทำให้มีการขยายพันธุ์หมากกันทั่วทุกภาคของประเทศ มีการปั่นราคาต้นกล้าพันธุ์จากราคาต้นละ 5-8 บาท แต่บางแหล่งพุ่งขึ้นไป 15-40 บาท มีการนำต้นพันธุ์จากเมียนมามาขายต้นละ 10 บาท

ตาราง ส่งออกหมากไทย

และมีการจูงใจให้เกษตรกรเป็นลูกช่วงของบริษัท มีรายได้สูงถึงไร่ละ 200,000-300,000 บาท/ปี ขายต้นพันธุ์ราคาแพง รับประกันราคารับซื้อขั้นต่ำ กก.ละ 10 บาท ระยะยาวถึง 10 ปี และพบว่ามีการประกาศขายกิ่งพันธุ์หมากเวียตต้นละ 20 บาท หมากสูง 10 บาท ทั้งที่เป็นหมากพันธุ์เดียวกัน จึงอยากเตือนเกษตรกรต้องศึกษาข้อมูลให้รอบคอบก่อนปลูก

ตลาดหมากต้องพึ่งคนกลางในการซื้อขาย และต้องใช้คนตัดหมากที่เชี่ยวชาญ ดังนั้น ทางออกเกษตรกรต้องพยายามลดต้นทุนการผลิต การปลูกเป็นพืชแซม และไม่คาดหวังราคาที่สูงมาก

“คาดว่า 4-5 ปีข้างหน้าปริมาณหมากน่าจะเพิ่มขึ้น 2-3 ล้านต้น และจะให้ผลผลิตทะลักออกสู่ตลาดปริมาณมาก การจะหาตลาดหมากแห้งทดแทนต้องมีกระบวนการทำหมากแห้งเป็นหมากกลม 1 ตันต้องใช้หมากแห้งประมาณ 250-300 กก.”

แห่ซื้อหมากพัทลุงทำพันธุ์พุ่ง

นายนัน ชูเอียด เจ้าของสวนนันประภาเกษตรผสมผสาน ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ต้นกล้าหมากขายดีมากในกลุ่มตน แต่ละเดือนส่งขายประมาณ 5,000-10,000 ต้น โดยราคาขายสำหรับการซื้อระดับพันต้นขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 12-13 บาท/ต้น แต่หากซื้อหลักร้อยต้น ราคาขายประมาณ 15 บาท/ต้น

โดยลูกค้าที่มารับซื้อตั้งแต่ จ.สงขลา สตูล ตรัง กระบี่ และภายใน จ.พัทลุงเอง โดยเกษตรกรตื่นตัว และเชื่อมั่นในการปลูกว่าจะสามารถสร้างรายได้ ถือเป็นพืชเศรษฐกิจอีกตัวที่สำคัญ เพราะมีต่างประเทศเข้ามาตั้งโรงงานแปรรูปหมากในประเทศกันมากขึ้น

ส่วนการตลาดหมากอ่อน ราคา 15-30 บาท/กก. ขายได้ตลอดทั้งปี ปัจจุบันหลายหน่วยงานได้เข้ามาดูแล

นายวิชัย ดำเรือง เจ้าของสวนสะละลุงถัน หมู่ 6 ต.หนองธง อ.ป่าบอน จ.พัทลุง ซึ่งปลูกทั้งสละและหมาก เปิดเผยว่า ตอนนี้มีคำสั่งซื้อหมากถึง 30,000 ลูก เพื่อไปนำเพาะชำเป็นต้นกล้า ส่วนราคาขายต้นกล้าหน้าสวนประมาณ 10 บาท/ต้น

และหากส่งถึงพื้นที่ราคาจะปรับตามระยะเส้นทางขนส่ง ตอนนี้ทั้งหมากลูกสุก และหมากลูกเขียว ตลาดยังมีความต้องการสูงมาก ยังไม่พอกับความต้องการ โดยเฉพาะที่สวนของตน พ่อค้าเข้ามาซื้อประจำทุกสัปดาห์ ทิศทางหมากจึงเป็นพืชเศรษฐกิจที่ยังไปได้กว้างมาก ทั้งตลาดในประเทศจีนและอินเดีย ทั้งอุปโภคบริโภค

พ่อค้าคัดสเป็ก-กำหนดราคา

แหล่งข่าวจากแผงรับซื้อหมาก “บารอกัต ค้าหมาก” จ.ยะลา ผู้รับซื้อหมากภาคตะวันออกและภาคใต้ เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ไต้หวัน เวียดนาม มีความต้องการหมากดิบมาก โดยจะแปรรูปส่งไปจีน โอกาสที่ตลาดต่างประเทศจะเติบโต ราคาดี

ทำให้มีการปลูกเพิ่มขึ้นมากในช่วง 1-2 ปีนี้ จึงหวั่นว่าอีก 4-5 ปีข้างหน้าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก ตลาดรับซื้อยังคงมีอยู่ แต่ราคาอาจจะลดต่ำลงมาก เกษตรกรต้องลดต้นทุนการเพาะปลูกเป็นพืชแซม ไม่คาดหวังผลตอบแทนสูงถึงไร่ละ 1-2 แสนบาท ไม่ควรปลูกเป็นพืชเชิงเดี่ยว ต้องลงทุนสูง

“ราคาหมากในสื่อโซเชียล ต้องดูด้วยว่าเป็นราคาหน้าสวนหรือราคาตลาดปลายทาง และบางครั้งเป็นช่วงจังหวะที่ไม่มีหมาก แต่ตลาดประเทศเวียดนามจำเป็นต้องใช้ จะมีข่าวหมากราคาแพง กก.ละ 100-110 บาท แต่ ป็นช่วงสั้น ๆ หมากเวียตมีสเป็กกำหนดที่ได้ราคาดี ลูกเล็กพอดีไม่ใหญ่เกิน เล็กเกิน ทรงรี ยาว ก้นแหลม ความยาว 2 ข้อนิ้ว หน้าไม่เต็ม (หน้าโบ๋ หรือมีร่องน้ำ)

หมากที่รับซื้อจะคัดเกรดก่อนส่งโรงงานแปรรูป ต้ม อบ เสร็จแล้วจะคัดเกรด A B C อีกครั้ง ถ้าเกรด C จะถูกคัดออก ถ้าติดไปมากทำให้ขาดทุน” แหล่งข่าวกล่าว

ทางด้าน นายณรงค์สิชณ์ สุธาทิพย์ เจ้าของแผงรับซื้อหมากแห้ง อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดต่างประเทศที่เข้ารับซื้อหมากกลมแห้ง มีเมียนมา อินเดีย ปากีสถาน บังกลาเทศ อินโดนีเซีย ดูไบ ส่วนใหญ่เป็นเมียนมา

และอินเดีย ปีนี้เริ่มมีจีนเข้ามา คาดว่าตลาดจะดีขึ้น ส่วนใหญ่โพสต์ซื้อทางอินเทอร์เน็ต และนัดดูหมากและตกลงราคา บางรายซื้อขายเป็นขาประจำ ปี 2564 หมากแห้งมีน้อย ราคาดี บางช่วง กก.ละ 100-120 บาท ปี 2565 ราคาไม่ดี ช่วงที่ผ่านมา กก.ละ 55-60 บาท ราคาเกรด A ยังอยู่ที่ กก.ละ 60 บาท เพราะต่างประเทศภาวะเศรษฐกิจยังถดถอย เงินจ๊าตของเมียนมาราคาตกต่ำ สงครามรัสเซีย-ยูเครน ภาวะเศรษฐกิจของจีน

ตอนนี้มีสต๊อกไว้ 60 ตัน ต้องรอดูราคาเดือนกันยายน -ตุลาคม ปกติราคาจะสูง เพราะหมากมีน้อย ถ้าราคาหมากดิบถูก กก.ละ 8-10 บาท แขวนไว้ให้สุกทำหมากแห้งกลมขายราคาดีกว่า หมากแห้ง 3-4 กก. ทำหมากกลมได้ 1 กก.


“อนาคตแนวโน้มปริมาณความต้องการหมากจะมีสูงขึ้น เพราะใช้ประโยชน์ได้ทั้งการบริโภคและแปรรูป มีตลาดรับซื้อหลายประเทศและมีจีนตลาดใหญ่รับซื้อเพิ่มขึ้น ตลาดหมากแม้จะมีราคาขึ้น-ลง แต่หมากแห้งเก็บสต๊อกไว้รอราคาได้”