ประยุทธ์ ลงพื้นที่น้ำท่วมอุบลฯ บอกไทยอยู่กลางมรสุม แต่ยังโชคดี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่อุบลราชธานี ชี้เร่งแก้ปัญน้ำท่วมตามแผน ผอ.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 3 ระบุยังต้องเฝ้าระวังระดับน้ำท่วมต่อเนื่อง คาด 8 ตุลาคมนี้ระดับลำน้ำมูลสูงขึ้นอีก

วันที่ 4 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย และคณะลงพื้นที่ติดตามแก้ไขปัญหาสถานการณ์อุทกภัยที่จังหวัดขอนแก่น ได้เดินทางต่อมายังอำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี

เพื่อรับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำ และสถานการณ์อุทกภัย และลงพื้นที่พบปะประชาชน ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีประชาชนได้รับความเดือนร้อน 3,752 ครัวเรือน พื้นที่ทำการเกษตรได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจากริมแม่น้ำมูลกว่า 12,000 ไร่ ครอบคลุ่ม 8 ตำบล 13 ชุมชน อพยพแล้ว 1,730 กว่าครัวเรือน

ทั้งนี้ เขตพื้นที่ระหว่างทางเชื่อมกับอำเภอเมืองอุบลราชธานี กับเทศบาลเมืองวารินชำราบ ขณะนี้ มีระดับน้ำท่วมขัง สูงประมาณ 1 เมตร รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ ต้องใช้รถทหารคอยบริการช่วยเหลือประชาชนสัญจรไปมา สำหรับแม่น้ำมูลในขณะนี้ก็สูงอย่างต่อเนื่อง

พล.อ.ประยุทธ์กล่าว่า ได้มาเยือนจังหวัดอุบลราชธานีนับได้ 6 ครั้งแล้ว ถือว่ามากกว่าทุกจังหวัด ในสถานการณ์น้ำท่วมหลายครั้ง และครั้งนี้น้ำเยอะต่างจากครั้งที่ผ่านมามาก แต่สถานการณ์ดังกล่าวก็ถือว่าท่วมกว่าปกติเหมือนกันทั้งประเทศ ต้องพยายามลดปริมาณน้ำให้ได้มากที่สุด แต่ก็ขึ้นอยู่กับการพร่องน้ำด้วยและปริมาณน้ำฝนด้วยว่าจะเป็นอย่างไร

“วันนี้มาเยี่ยมเอาหัวใจมาฝากพร้อมคณะทำงาน ที่มีความห่วงใยและอยากมาดูสถานการณ์ด้วยตาตัวเอง จะพยายามลดน้ำให้ได้มากที่สุด เรารอดจากโนรูได้แต่ยังมีฝนอยู่และทำให้เกิดน้ำท่วมเยอะมาก เราเป็นประเทศที่อยู่ท่วมกลางมรสุม แต่ก็โชคดีกว่าหลายประเทศในอาเซียน โดยการแก้ปัญหาที่ผ่านมาทำได้เป็นระยะ มีโครงการเข้ามาแต่งบประมาณก็ไม่ได้มากมาย แต่ทำอย่างไรถึงจะมีงบประมาณนี่คือปัญหา ฉะนั้นประเทศเราต้องเข้มแข็งสร้างรายได้”

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ตอนนี้สิ่งสำคัญคือต้องอยู่รอด มีอาหารกิน และพอเพียงให้ได้ก่อน ถัดมาคือทำอย่างไรจะฟื้นตัวได้เร็ว แผนงานที่มีรัฐบาลมีก็พยายามอยู่ โครงการต่าง ๆ ทั้งแก้ปัญหาน้ำท่วมมีเยอะ งบประมาณมีหลายพันล้านบาท แต่จะมีส่วนที่ทำในปี 2565, 2566, 2567 ต้องทำตามแผน และรัฐบาลยืนยันทำทุกจังหวัด

ทั้งนี้ นายเทิดพงศ์ ไทยอุดม ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติภาค 3 ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำวันที่ 4 ตุลาคม 2565 ในลุ่มน้ำชีมีอ่างเก็บน้ำ 3 เขื่อนหลักคือ

เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ โดยสองเขื่อนนี้น้ำเกินเกณฑ์แล้ว และเขื่อนลำปาว ซึ่งน้ำจะไหลไปรวมกันกับลำน้ำมูล ทำให้จังหวัดอุบลราชธานีค่อนข้างมีปริมาณน้ำสูงขึ้น คาดการณ์ว่า 8 ตุลาคม 2565 นี้จะมีน้ำสูงขึ้นอีกและอัตราการไหลเพิ่มขึ้นอีก