คอลัมน์ : สัมภาษณ์
แม่สอด” หนึ่งในอำเภอสำคัญจังหวัดตาก ที่มีมูลค่าการนำเข้า-ส่งออกสินค้าชายแดนไทย-เมียนมารวมปีละกว่าแสนล้านบาท แต่การค้า การลงทุน ของผู้ประกอบการยังมีปัญหาอุปสรรคมากมาย สะท้อนผ่านข้อเรียกร้องของสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ในฐานะองค์กรภาคเอกชนด้านเศรษฐกิจของจังหวัด
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “ชัยวัฒน์ วิทิตธรรมวงศ์” ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก ถึงปัญหาอุปสรรคและข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาเร่งแก้ไข
ทบทวนทางด่วนตาก-แม่สอด
ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดตาก (กรอ.จังหวัดตาก) เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีตัวแทนจากกรมทางหลวงเข้าร่วมด้วย ทางสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตากได้เสนอขอให้กรมทางหลวงมีการทบทวนโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายตาก-แม่สอด ระยะทางประมาณ 58.5 กิโลเมตร วงเงิน 103,000 ล้านบาท โดยเร็ว
หลังจากที่กรมทางหลวงว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ระหว่างปี 2558-2562 และสรุปให้ชะลอโครงการออกไป อีก 8 ปีค่อยมาพิจารณากันใหม่ โดยระบุว่า ใช้วงเงินลงทุนสูง ไม่คุ้มค่าในการลงทุนนั้น
โครงการดังกล่าวมีความสำคัญในเชิงยุทธศาสตร์ การพัฒนาการค้าชายแดนไทย-เมียนมา เพื่อรองรับการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว แก้ไขปัญหาอุบัติเหตุ และปริมาณจราจรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยขอเสนอทางออก 2 แนวทาง คือ 1.รัฐบาลลงทุนเอง และ 2.เปิดให้เอกชนเข้ามารับสัมปทาน
ในช่วงระหว่างปี 2558-2562 ที่กรมทางหลวงว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษาโครงการปริมาณรถที่วิ่งผ่านเข้า-ออกเส้นทางตาก-แม่สอด มีประมาณ 5,000 คันต่อวัน และมูลค่าการค้าชายแดนอยู่ที่ประมาณ 70,000 กว่าล้านบาท
แต่ในปัจจุบันสถานการณ์เปลี่ยน มีรถวิ่งประมาณ 10,000 คัน และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และมูลค่าการค้าชายแดนปี 2564ประมาณ 1 แสนกว่าล้านบาท และปี 2565 (ม.ค.-ก.ย.) มูลค่าการค้าชายแดน 104,000 ล้านบาท หากถึงเดือนธันวาคม 2565 คาดว่ามูลค่าการค้าชายแดนไม่ต่ำกว่า 120,000 ล้านบาทแน่นอน
นอกจากนี้ กรมทางหลวงได้กำหนดค่าผ่านทาง เช่น รถปิกอัพ 80 บาท รถหกล้อ 120 บาท รถสิบล้อ 200 บาท ซึ่งช่วงนั้นราคาน้ำมันถูก แต่หากกรมทางหลวงมาสอบถามภาคเอกชนและสมาคมผู้ประกอบการขนส่งตอนนี้ที่ราคาพลังงานสูงขึ้น ผู้ประกอบการขนส่งยอมจ่ายค่าผ่านทาง 120-150 บาทต่อเที่ยว และพร้อมให้ค่าที่ต้องเจาะอุโมงค์ 3 แห่ง
และทำสะพานยกระดับตรงบริเวณที่เป็นเหว เพราะมอเตอร์เวย์ช่วยประหยัดน้ำมันไปได้มาก เส้นทางปลอดภัย ลดการสึกหรอของเครื่องยนต์ ดังนั้น หากสามารถจัดเก็บค่าผ่านได้เพิ่มขึ้นจะทำให้ระยะเวลาคืนทุนเร็วขึ้น การคุ้มค่าของโครงการเร็วกว่าเดิม เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาการค้าชายแดนไทย-เมียนมา
“ถนนตาก-แม่สอดที่ใช้ปัจจุบันเป็นเส้นทางวิ่งบนภูเขา มีความลาดชัน ระยะทาง 80 กม. และเกิดอุบัติเหตุบ่อยมาก โดยเฉพาะบริเวณดอยรวก และผาละกา มีรถบรรทุกเกิดอุบัติเหตุเกือบทุกวัน เพราะฉะนั้นมีความจำเป็นต้องเร่งดำเนินการก่อสร้าง แต่หากภาครัฐไม่พร้อมลงทุน ควรเปิดให้ภาคเอกชนเข้ามาลงทุน (PPP) ซึ่งผู้ประกอบการจากหลายประเทศสนใจเข้ามาลงทุน
โดยเฉพาะนักลงทุนจีน อย่างไรก็ตาม การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการที่ผ่านมา กรมทางหลวงไม่เคยสอบถามผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการใช้เส้นทาง ภาคเอกชน หรือสมาคมขนส่งสินค้าจังหวัดตาก และไปสรุปกันเอาเองว่าไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน”
ชงตั้ง “กงสุลไทย” เมียวดี
นอกจากนี้ ทางสภาอุตฯเสนอขอให้รัฐบาลเจรจาผลักดันให้ประเทศเมียนมา เปิดด่านพรมแดนที่ติดกับประเทศเมียนมาไปมาหาสู่ได้ตามปกติ โดยใช้บัตรผ่านแดน (border pass) ในการเดินทางข้ามแดนไป-กลับของประชาชนทั้งสองประเทศ
เนื่องจากปัจจุบันเมียนมายังไม่อนุญาตให้คนของเมียนมาผ่านเข้า-ออกนานกว่า 2 ปีแล้ว ให้เพียงการขนส่งสินค้า ขณะที่ไทยเปิดสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 1 และแห่งที่ 2 มาตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2565 ทำให้เศรษฐกิจการค้าขายในพื้นที่อำเภอแม่สอด รวมทั้งกิจกรรมทางด้านการค้า การลงทุน การท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบ
รวมถึงได้เสนอให้จัดตั้งสถานกงสุลไทย ประจำจังหวัดเมียวดี ประเทศเมียนมา โดยก่อนหน้านี้ผมได้เคยเสนอกับผู้บริหารกระทรวงการต่างประเทศ และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางมาตรวจราชการที่ชายแดนว่า ควรมีการจัดตั้งสถานกงสุลไทยที่จังหวัดเมียวดี เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักธุรกิจ ประชาชนชาวเมียนมาเข้ามาท่องเที่ยว เข้ามารักษาพยาบาล สามารถขอวีซ่าที่สถานกงสุลไทยประจำจังหวัดเมียวดีได้
เพราะปกติคนเมียนมาที่อยู่ตามแนวชายแดน อยู่ที่มะละแหม่ง หรืออยู่ที่พะอัน ถ้าจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยทางบก ต้องเดินทางไปขอทำวีซ่าที่สถานกงสุลไทยตั้งอยู่ที่เมืองย่างกุ้ง และต้องเดินทางย้อนกลับมาเข้าทางแม่สอด
ขณะเดียวกันทางเมียนมาต้องมาตั้งสถานกงสุลเมียนมาประจำจังหวัดตาก เพื่อให้คนไทยที่ต้องการเข้าไปประกอบธุรกิจ เข้าไปท่องเที่ยวสามารถขอวีซ่าได้โดยไม่ต้องไปที่สถานทูตเมียนมา ที่กรุงเทพฯ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรับทราบแล้ว และล่าสุดทางจังหวัดตากได้เสนอเรื่องไปที่กระทรวงมหาดไทยให้ช่วยกันผลักดัน เพราะการไปจัดตั้งสถานกงสุลไทยเป็นเรื่องระหว่างประเทศ ต้องไปเจรจากับทางเมียนมาด้วย
สกัดลักลอบเข้า-ออกแม่สอด
ทั้งนี้ ก่อนเกิดโควิด-19 ระบาด มีชาวเมียนมาเข้า-ออกผ่านด่านวันละ 2,000 คน ขณะที่มีคนไทยเข้า-ออกด่านวันละ 400-500 คน แต่จะมีคนเข้า-ออกทางช่องทางธรรมชาติ เพื่อเข้าไปเล่นบ่อนกาสิโนวันละกว่า 1,000 คน
อย่างไรก็ตาม ตอนนี้แม่ทัพภาคที่ 3 กองกำลังนเรศวร และผู้ว่าราชการจังหวัดตาก กำลังจัดระเบียบชายแดน โดยมีนโยบายต่อไปจะไม่ให้ผ่านเข้า-ออกช่องทางธรรมชาติ โดยให้ผ่านเข้า-ออกอย่างถูกกฎหมายที่ด่าน 2 แห่งคือ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา
แห่งที่ 1 และสะพานแห่งที่ 2 เท่านั้น ปัจจุบันบริเวณชายแดนแม่สอด มีช่องทางธรรมชาติหลาย 10 แห่ง ที่คนลักลอบเข้า-ออกทั้งไปเล่นบ่อนกาสิโน เป็นช่องทางก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด และแรงงานเถื่อน
นอกจากนี้ เสนอให้คณะอนุกรรมการบริหารแรงงานต่างด้าวจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชาทำหน้าที่บริหารจัดการ กำกับ ควบคุม ดูแลแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานตามมาตรา 64 แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองได้อย่างเบ็ดเสร็จ