“กระดาษ” จากเศษ “วุ้นมะพร้าว” นวัตกรรมหนึ่งเดียว YEC สมุทรสงคราม

ณัฐากาญจน์ วชิระบำรุงเกียรติ-ชลภัสสร วชิระบำรุงเกียรติ
คอลัมน์ : สัมภาษณ์

นับเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ต่อยอดธุรกิจครอบครัวอย่างแท้จริง กับ “โครงการพัฒนาของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตวุ้นมะพร้าว”

โดยสองพี่น้อง “ณัฐากาญจน์ วชิระบำรุงเกียรติ” และ “ชลภัสสร วชิระบำรุงเกียรติ” สมาชิก YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce) จังหวัดสมุทรสงคราม ที่ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ในการประกวด YEC Pitching ปี 2565 ภายใต้หัวข้อ “YEC’s Business SPIN-UP” ท้าคิดธุรกิจใหม่ ต่อยอดธุรกิจเดิม เปลี่ยนผ่านทุกวิกฤต ในงานการประชุมหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 40

พลิกเศษวุ้นมะพร้าวทำเงิน

“ชลภัสสร” บอกว่า แนวคิดการพัฒนาของเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตวุ้นมะพร้าว เกิดขึ้นตอนเรียนปริญญาโท คณะมัณฑนศิลป์ โดยต้องทำวิจัยปริญญาโท หรือการทำวิทยานิพนธ์ (thesis) เพื่อจบการศึกษา จึงนำอาชีพของทางบ้านที่ผลิตวุ้นมะพร้าวมาคิดต่อยอดทำผลิตภัณฑ์อื่น และเห็นเศษวุ้นมะพร้าวเหลือทิ้งหลังการผลิตจำนวนมาก

โดยเศษซากของวุ้นมะพร้าวเหล่านี้มีองค์ประกอบเป็นเซลลูโลส เมื่อแห้งแล้วลักษณะองค์ประกอบ (texture) จะคล้ายกระดาษสา จึงลองแปรรูปด้วยการปั่น และใส่ตะแกรงร่อน จะได้กระดาษคล้ายคลึงกับกระดาษสา สามารถนำไปทำภาชนะแทนพลาสติกได้ ที่สำคัญย่อยสลายได้ เพราะเกิดจากธรรมชาติ

กระดาษวุ้นมะพร้าว

“หลังจากทำวิทยานิพนธ์จบ อาจารย์ให้คำแนะนำหลากหลายไอเดีย เช่น ทำเป็นกระถางปลูกต้นไม้แทนพลาสติก หรือนำมาทำของตกแต่ง กระทั่งได้ไอเดียทำเป็น “กระดาษวุ้นมะพร้าว” ลองนำไปให้คนในชุมชนที่รวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน

นำไปอัดเป็นรูปจานสามารถใช้แทนจานกาบหมาก แทนจานใบไม้ได้ แต่ยังไม่ได้ทดลองใช้จริง จึงไม่รู้ว่าคงทนมากน้อยเพียงใด ตัวอย่างอายุการใช้งานที่ทดลองทำเป็นกระถางต้นไม้ใส่ดิน อยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือนก็ย่อยสลายหมด แต่ยังไม่เคยเข้าแล็บและทดสอบอายุการใช้งานจริง”

เบื้องต้น กระดาษวุ้นมะพร้าวมีคุณสมบัติไม่ขาด ไม่ยุ่ย หรือมีน้ำซึมผ่านเหมือนกระดาษทั่วไป ยิ่งโดนน้ำยิ่งเหนียวคล้ายหนัง เมื่อแห้งจะกลับสู่สภาพปกติ ทนความร้อนสูงในตู้อบกว่า 200-300 องศา ประมาณ 30 นาที อายุการใช้งานน่าจะเกิน 3 ปี ขณะที่ปัจจัยการย่อยสลาย คาดว่ามีน้ำ ดิน และจุลินทรีย์ อยู่ได้ไม่เกิน 3 เดือน

สำหรับสีที่นำมาผสมในกระดาษวุ้นมะพร้าวเป็นสีธรรมชาติทั้งหมด ได้แก่ สีดั้งเดิมปกติ-ครีมขาว สีจากเปลือกมังคุด-ม่วงอมน้ำตาล สีจากเปลือกส้มโอ-เหลือง สีจากหอมแดง-สีม่วงอ่อน, ม่วงแดง และสีจากมะม่วงหาวมะนาวโห่-ได้หลายสีแล้ว แต่ช่วงที่ทำการผสม หากผสมช่วงที่วุ้นเปียกได้สีน้ำตาลอ่อน ถ้าวุ้นแห้งแล้วนำมามัดย้อมได้สีฟ้าหรือสีม่วง

“ทุกสีที่เราทำการย้อมลงในกระดาษวุ้นมะพร้าว มาจากวัสดุของเหลือจากเกษตรกร และสมาชิกใน YEC โดยนำมาสกัดเองด้วยวิธีต้มคล้ายการย้อมผ้า อนาคตจะเพิ่มสีมากขึ้นอีก เช่น ดอกอัญชัน จะลองทดสอบพัฒนาไปเรื่อย ๆ ส่วนกากวัตถุดิบก็ไม่ทิ้ง แต่นำมาใส่ในขั้นตอนทำกระดาษให้มีลวดลาย”

นวัตกรรมหนึ่งเดียวในไทย

ด้าน “ณัฐากาญจน์” เล่าว่า ที่มาของการพัฒนาโครงการนี้เริ่มหลังจากเรียนจบปริญญาตรีบริหารธุรกิจ ทำงานในบริษัทที่กรุงเทพฯมาตลอดรวมกว่า 7 ปี ก่อนออกจากงานประจำมาดูแลกิจการช่วยที่บ้าน ซึ่งธุรกิจครอบครัวที่คุณพ่อคุณแม่ทำอยู่คือ เลี้ยงวุ้นแผ่นส่งขายโรงงานในรูปแบบรับจ้างผลิต (OEM) เพื่อนำไปแปรรูป เช่น ทำวุ้นมะพร้าว ผลไม้กระป๋อง

ระหว่างนั้นมีเพื่อนที่อยู่ในจังหวัดอื่นบอกว่า แต่ละจังหวัดมี YEC จึงลองไปสมัคร และได้ชวนน้องสาวไปเข้าร่วมเมื่อต้นปี 2565 ทำให้ได้พบปะและสร้างสายสัมพันธ์กับนักธุรกิจรุ่นใหม่เหมือนกัน พร้อมกับนำธุรกิจของตัวเองไปพูดคุยกับหลายคน จึงนำไปสู่การเข้าร่วมประกวด YEC Pitching เป็นครั้งแรก ด้วยการนำของเสียที่เหลือหลังจากตัดแต่งวุ้นมะพร้าวแผ่นส่งโรงงานมาต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์

 

“จุดเด่นของการพัฒนาคือ เราต่อยอดจากธุรกิจครอบครัว นอกจากจะผลิตเองก็รับซื้อจากชาวบ้านเพื่อส่งโรงงานด้วย ฉะนั้นหลังตัดแต่งจึงมีส่วนที่เป็นของเหลือทิ้งจำนวนมาก โดยการเลี้ยงวุ้นจะใช้น้ำมะพร้าว กรดอะซิติก และน้ำตาล นำไปต้มแล้วหมักทิ้งไว้ 14 วัน

หลังจากนั้นจะเกิดวุ้นแผ่นและขยายตัวโตขึ้นเรื่อย ๆ ฉะนั้นเศษที่เหลือจะยังคงเป็นฟู้ดเกรด (food grade) เมื่อนำมาแปรรูปก็เสมือนนวัตกรรมใหม่ที่ใช้ของเหลือจากวุ้นมะพร้าว ซึ่งยังไม่มีใครเคยทำหรือเคยเห็น”

กระดาษวุ้นมะพร้าวที่ได้เมื่อเปียกน้ำจะไม่ขาด แตกต่างจากกระดาษทั่วไป ไม่สามารถวางลวดลายหรือแพตเทิร์น (pattern) ได้ มีลักษณะโปร่งแสง เมื่อต้องแสงไฟก็สวยแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวุ้นว่าจะดูดสีอะไรเข้าไปได้บ้าง เมื่อได้กระดาษแล้วนำไปมัดย้อมจะเกิดลวดลายต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอีก

ส่งห้องแล็บต่อยอดผลิตภัณฑ์

“ณัฐากาญจน์” บอกว่า โปรดักต์ที่ทำอยู่ขณะนี้มีเพียงกระดาษอย่างเดียว เคยส่งไปยังกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและได้รับเลือกให้ไปจัดบูทที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เพราะคนญี่ปุ่นมักนำกระดาษไปประกอบการสร้างประตูหน้าต่าง แต่ยังไม่สามารถผลิตขนาดกระดาษใหญ่ A0 และเพิ่มส่วนผสมได้ตามที่ลูกค้าชาวญี่ปุ่นต้องการ

เนื่องจากอยู่ในกระบวนการที่ต้องพัฒนาเพิ่มอีก ฉะนั้นลูกค้าที่มีอยู่ขณะนี้จึงเป็นคนไทย เช่น โรงแรมที่ต้องการกระดาษไปทำเป็นโคมไฟ

โคมไฟกระดาษจากเศษวุ้นมะพร้าว

ปัจจุบันยังเป็น SMEs ครัวเรือน รวมพื้นที่ผลิตและบ้านประมาณ 1 ไร่ กำลังการผลิต 2 คน ได้กระดาษวุ้นขนาด A2-A3 ใช้เวลา 2-3 นาทีต่อแผ่น หรือประมาณ 800-900 แผ่นต่อวัน ราคาที่ลูกค้าชาวญี่ปุ่นประเมินให้ประมาณ 1 ดอลลาร์ต่อแผ่น โมเดลธุรกิจนี้ถือว่าประสบความสำเร็จกว่า 80% แล้ว

แต่ลูกค้ายังเป็นลักษณะตลาดเฉพาะกลุ่ม (niche market) ส่งให้ลูกค้าผ่านอินสตาแกรม

ส่วนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ยังอยู่ในขั้น 50-60% ในปี 2566 จะส่งเข้าห้องแล็บให้ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยเข้ามาร่วมพัฒนาด้านนวัตกรรม หากเริ่มต่อยอดทำจริงจังและได้รับการสนับสนุน สามารถลดขยะจากเศษวุ้นที่ต้องส่งโรงงานกำจัดขยะอุตสาหกรรมทั้งหมดได้ 80-90% เกือบ 100% อย่างแน่นอน


“อนาคตเราไม่รู้ธุรกิจนี้จะเติบโตมากเพียงใด แต่อยากให้เติบโตมากที่สุด หากจุดหนึ่งทำได้จริงจะช่วยให้ชุมชนที่ทำวุ้นมะพร้าวเหมือนกัน สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ และสร้างรายได้เพิ่มขึ้น สิ่งสำคัญคือการเปลี่ยนแนวคิดจากคนรุ่นเก่า เราที่เป็นคนรุ่นใหม่ต้องเปิดใจและค่อย ๆ เปลี่ยนคนรุ่นเก่าให้พัฒนาต่อยอดไปได้ อนาคตของ SMEs คือไม่หยุดพัฒนา ไม่เช่นนั้นเราจะช้ากว่าคนอื่น”